แนวโน้มรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป พัฒนาไปไกลมาก โดยเฉพาะจีนถือว่าเป็นโอกาสทองที่จะไล่กวดอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นได้ เนื่องจากการเริ่มต้นอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าทุกค่าย ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งเท่าๆ กัน เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีคนละระบบและทันสมัยกว่ารถยนต์แบบสันดาปภายใน (ใช้น้ำมัน) เป็นระบบเดิมเรียกว่าเกือบจะโละระบบเก่าทิ้งทั้งหมด
จะว่าไปแล้ว “จีน” อาจจะได้เปรียบตรงที่ “ตลาดในประเทศ” ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีเทคโนโลยีขั้นสูงรองรับ ตรงนี้จะทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่ได้ไม่ยาก เพราะหากจะไปเริ่มนับหนึ่งด้วยการผลิตรถยนต์แบบสันดาปภายในที่ถูกค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นนำหน้าไปหลายช่วงตัว ย่อมไม่ทันแน่ๆ
นี่คือ เกมที่สู้กันในอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลก
สำหรับ ประเทศไทย ก็หวังว่าจะปลุกผี “ดีทรอยต์เอเชีย” ที่อดีตเคยเฟื่องฟู แต่ตอนนี้ซบเซา ให้กลับมาคึกคักด้วยการเปลี่ยนเกมให้เป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากร และยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป นำเข้าทั้งคัน
โดยลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสูงถึง 40% มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565 แต่มีเงื่อนไขบริษัทรถยนต์จะต้องมีการลงนามเซ็น MOU เพื่อประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามสัดส่วนที่รัฐกำหนด สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยก็ไม่ยอมตกขบวน พยายามอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเกิดให้ได้
การที่รัฐบาลเร่งผลักดันมีหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งรถยนต์ที่ผลิตในบ้านเราและในโลกทุกวันนี้ เป็นระบบสันดาปภายใน ทำให้เกิดผลพิษในอากาศกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกปัจจัยหนึ่งคงหนีไม่พ้นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งไม่รู้จะจบเมื่อไหร่
อีกทั้งประชาชนเองก็มีความตื่นตัวค่อนข้างมาก เห็นได้จากงานแสดงรถยนต์ “มอเตอร์โชว์” ที่เพิ่งผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้ามียอดจองสูงราวๆ 3,000 คันหรือ 10% ของยอดจองรถทั้งหมดในงาน นับว่าตัวเลขสูงทีเดียว ทั้งที่เพิ่งจะจุดกระแสไม่นาน
แต่ที่รัฐบาลฝันหวานว่า ประเทศไทยจะเป็น “ฮับรถยนต์ไฟฟ้า” หรือจะ “ปลุกผีดีทรอยต์เอซีย” นั้น ไม่ง่าย แม้ในที่ประชุมค.ร.ม. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ จะมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเสนอ และมีนโยบายลดภาษีนำเข้าอัตราค่อนข้างสูงอาจจะยังไม่เพียงพอ
ปัญหาใหญ่ก็เนื่องมาจาก “ฐานผลิตรถในประเทศไทย” ที่มีค่ายรถจากญี่ปุ่นยึดหัวหาด ซึ่งยังผลิตรถยนต์ประเภทสันดาปภายใน ซึ่งมีชิ้นส่วนประกอบ มากกว่า 25,000 ชิ้น มีซับพลายเชนจำนวนมาก ทำให้ค่ายรถจากญี่ปุ่นปรับตัวค่อนข้างช้า เพราะลงทุนไปในระบบเดิมไว้มาก ประกอบกับนโยบายรัฐบาลไทยเอง ที่ผ่านมาก็ค่อนข้างสับสนไม่ชัดเจน
ดังนั้นแม้ว่าไทยจะมีฐานผลิตเดิมอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งและอาจจะเสียเปรียบด้วยซ้ำ จะเห็นได้จากบทวิเคราะห์ของ KKP Research ในหัวข้อ “เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนเป็น EV ทำไมไทยเสียเปรียบคู่แข่ง?” สรุปคร่าวๆ ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งนโยบายลดภาษีอย่างเดียวจะไม่ได้ผลอีกต่อไป แต่ต้องพัฒนานวัตกรรมของไทยเอง
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังพึ่งพาแต่นวัตกรรมจากญี่ปุ่นเป็นหลัก ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ไทยไม่สามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอีกต่อไป เนื่องจากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยังปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างช้ากว่าค่ายยุโรปและอเมริกามาก ทำให้ไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์ญี่ปุ่น เสียเปรียบคู่แข่ง
นอกจากนี้ จีนและอินโดนีเซีย จะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกรถยนต์ ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ในตลาดโลกของไทยมีสัดส่วนลดลงจาก 1.7% เหลือ 1.3% ในขณะที่จีนเพิ่มขึ้นจาก 0.7% เป็น 1.5% โดย ไทยโดนจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศออสเตรเลีย และโดนอินโดนีเซียแย่งส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและฟิลิปปินส์
ที่สำคัญไทยกำลังเผชิญปัญหา Economies of Scale เนื่องจาก ตลาดส่งออกหลักของไทย ส่วนใหญ่เป็นประเทศพวงมาลัยขวา ซึ่งตลาดมีสัดส่วนแค่ 1 ใน 6 ของโลก
ยิ่งเมื่อเจอกับปัญหาตลาดในประเทศหดตัวลง จากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ลดลง และการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้คนน้อยลง ทำให้ปริมาณการผลิต มีความสำคัญมากขึ้นมาก จะทำให้ไทยเสียเปรียบด้านต้นทุน ในขณะที่การเปลี่ยนมาผลิตพวงมาลัยซ้ายทำได้ยาก
อีกทั้งการที่ ไทยมี FTA กับประเทศจีน ทำให้สามารถนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนโดยไม่มีภาษี จึงมีแนวโน้มต้นทุนการผลิตต่อคันถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทย และไม่มีความจำเป็นที่ไทยต้องนำเข้าชิ้นส่วน เช่น แบตเตอรี่มาประกอบเอง เพราะไทยไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนจีน
นอกจากจีนแล้ว อินโดนีเซียเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะเป็นแหล่ง Nickel ที่สำคัญของโลกมากถึง 30% ค่าแรงถูกกว่า และตลาดในประเทศที่ใหญ่กว่า จากประชากรกว่า 200 ล้านคน
เหนือสิ่งอื่นใด เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบต่อทั้งห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งบริษัทประกอบรถยนต์ แต่รวมถึงบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ KKP Research ประเมินว่า ชิ้นส่วนที่จะหายไปในการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า คือ เครื่องยนต์ ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบเกียร์ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มกว่า 32.5% ของมูลค่าการผลิตรถยนต์สันดาปภายในเดิม
ดังนั้นโอกาสที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราจะเกิด คงไม่ง่าย มิหนำซ้ำอาจจะกลายเป็นตลาดใหญ่รองรับรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนแทน เนื่องจากได้เปรียบต้นทุนราคาถูก งานนี้เริ่มเห็นเค้าลางแล้วว่าเข้าทางจีนค่อนข้างชัด
……………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving