วันจันทร์, เมษายน 7, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“เงินเฟ้อ-หนี้” โจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินเฟ้อ-หนี้” โจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้

ทุกวันนี้หลายๆ ประเทศกำลังหวั่นวิตกกับ “ภาวะเงินเฟ้อ” กำลังระบาดอย่างหนักและกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อส่อเค้าว่า จะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ล่าสุดพี่เบิ้มอย่างสหรัฐอมริกา เผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ สูงถึง 8.5% นับว่าสูงที่สุดในรอบ 41 ปี ขณะที่ประเทศไทย ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค.65 ก็สูงถึง 7.1% ซึ่งสูงสุดในรอบ 14 ปีเลยทีเดียว

หากจะอธิบายความหมายของเงินเฟ้อแบบที่คนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราเห็นว่าราคาของชิ้นหนึ่ง มีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาของมันในอดีต แปลว่า เรากำลังเจอภาวะเงินเฟ้อ เช่น ข้าวผัด 1 จาน ถ้าราคาวันนี้แพงขึ้น เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว สิ่งที่ทำให้ราคาแพงขึ้น ก็คือ เงินเฟ้อ นั่นเอง

อีกตัวอย่าง เมื่อก่อนเรามีเงิน 100 บาท เคยซื้อของได้ 2 ชิ้น เดี๋ยวนี้เงิน 100 บาทเท่าเดิม อาจซื้อของได้แค่ 1.5 ชิ้น นอกจากนี้ ต้นทุนเงินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจไม่ใช่ราคาเดิม สินค้าบริการต่าง ๆ จะมีราคาแพงขึ้นหรืออีกนัยหนึ่ง “ต้นทุนชีวิต” การดำรงชีวิตมันจะแพงขึ้น

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ หนีไม่พ้นปัจจัยทางด้าน “ราคาพลังงาน” โดยกลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ทำให้ราคาทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได และการเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร ล้วนเป็นปัจจัยให้เงินเฟ้อสูงขึ้น รวมถึง “อาหาร” ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พลังงาน /cr ; สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

แม้ว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเราเริ่มดีขึ้น เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่เงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะต้นทุนที่เกิดจากต้นทุนพลังงานและอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนไทย

เหนือสิ่งใด ปัญหาเงินเฟ้อนั้น ไม่เฉพาะทำให้ข้าวของราคาแพงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อ “ชีวิตความเป็นอยู่-เงินออม-ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้” ของคนจำนวนมากอีกด้วย ยังส่งผลกระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการที่อาจจะต้องลดต้นทุน ลดการลงทุน ลดการจ้างงาน ทั้งหลายทั้งปวงนี้คือผลกระทบจากเงินเฟ้อ ที่กำลังเป็นมรสุมลูกใหม่

ขณะที่อุปสรรคสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอีกปัจจัยหนึ่ง คือ “หนี้” ซึ่งหนี้มี 2 ก้อน ก้อนแรก…เป็นหนี้ของรัฐบาล เรียกว่า “หนี้สาธารณะ” อีกก้อน…เป็นหนี้ระดับบุคคลเรียกว่า “หนี้ครัวเรือน”

แต่ที่อยากจะพูดถึงคือ “หนี้ครัวเรือน” ตอนนี้พุ่งแตะระดับ 90% ต่อ GDP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าอันตรายมาก ๆ ข้อมูลที่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการของบ้านเรา พบว่า เมื่อก่อนสถานการณ์โควิดหรือปลายปี 2562 หนี้ครัวเรือนของเราอยู่ที่ประมาณ 89.3 %ต่อ GDP  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศพบว่า เราสูงสุดเป็นอันดับ 12 จาก 70 ประเทศที่มีตัวเลขในเรื่องนี้ และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้เท่านั้น

ต่อมา ณ สิ้นปี 2564 หลังโควิดระบาด 2 ปีเต็มพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อต่อ GDP ของเราพุ่งกระฉูดขึ้นมาอยู่ในระดับ 90.1% หรือราว 14.58ล้านล้านบาทยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก และเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลไทยประกาศให้ปีนี้ (2565) เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน”

มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องหนี้ที่น่าสนใจว่า คนอายุ 22 ปี 100 คน พบว่ามีหนี้เสีย 24 คน, คนอายุ 31 ปี 100 คนมีหนี้เสีย 25 คน, คนอายุ 40 ปี 100 คน มีหนี้เสีย 22 คน

คนเหล่านี้ล้วนเป็นคนในวัยทำงานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่การมีหนี้เป็นบ่วงรัดคออยู่ ย่อมส่งผลกระทบกับภาวะจิตใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานอย่างมิอาจปฏิเสธได้ 

ที่สำคัญการเป็นหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ต่อ GDP เท่ากับว่า จากสิ่งที่เราทำมาหากินได้ในปีนั้น ๆ เป็นหนี้ไปแล้ว 90% ดังนั้นอารมณ์การจับจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ย่อมจะหดหู่ตามไปด้วย ยิ่งถ้าดูโครงสร้าง GDP ประเทศไทย พบว่าเกินครึ่งมาจากการบริโภคในภาคครัวเรือนก็ยิ่งลำบาก

แม้ภาครัฐจะพยายามผลักดันเศรษฐกิจ หรือกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็เป็นไปได้ยาก หนี้ครัวเรือนที่สูงระดับนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่ต้องอาศัยการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากรายได้ครัวเรือนที่ได้รับในปัจจุบันและในอนาคตจะต้องนำเอาบางส่วนไปชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นั่นเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนด้วยเช่นกัน

แต่ที่น่ากังวลที่สุดตรงที่ ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจำนวนมาก มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันราวฟ้ากับดิน ถ้าเน้นแต่การแก้หนี้ในระบบ แต่ไม่ได้แก้หนี้นอกระบบไปด้วย สุดท้ายหนี้นอกระบบก็จะเพิ่มพูน และครัวเรือนก็จะจมปรักอยู่กับหนี้กองใหญ่ จนโงหัวไม่ขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังเผชิญมรสุมลูกใหญ่ ซึ่งเกิดจากครัวเรือนและเงินเฟ้อที่ถามโถมเข้ามา ส่งผลกระทบต่อคนไทยกันอย่างถ้วนหน้า และเป็นโจทก์ใหญ่ที่ผู้รับผิดชอบต้องหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน

………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย ..“ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

จุดยืน!! “กาสิโน”

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img