ในที่สุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตัดสินใจ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบๆ 4 ปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.75% นับว่าเป็นการปรับขึ้นแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ที่ขณะนี้ค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ ตามสถาบันต่างๆ ได้มีการคาดการณ์ว่า น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง 0.25% ที่เหลือการประชุมอีกสองครั้งในปีนี้ค่อนข้างแน่นอน และยังอาจต้องขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า หากเงินเฟ้อยังไม่หายพยศ
แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าจับตาหลังจากนี้ นั่นคือ ใครจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ซึ่งก็คงไม่พ้น กลุ่มคนยากคนจนทั้งหลาย อย่างที่รู้ๆ กันว่า ประเทศไทยต้องอยู่ในวังวนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกือบๆ 3 ปี ทำให้มีแรงงานจำนวนมากต้องออกจากงาน ไม่มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว แม้บางส่วนแจะมีงานทำ แต่รายได้ก็ลดลง จึงไม่มีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่พอใช้จ่าย ในที่สุดต้องหันไปกู้หนี้ยืมสินไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอย จนกลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนตามมา
มีรายงานจาก สภาพัฒน์ฯ ว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 หนี้ภาคครัวเรือนไทยมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.1% ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้รับแรงกระแทกจากราคาพลังงานและสินค้ามีราคาแพง
ดังนั้นในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้ คนที่เป็น “ลูกหนี้” ต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายมากขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ทราบเรื่องนี้ดี จึงค่อยๆ ขยับทีละขั้น ไม่ขึ้นพรวดพราด เพราะกลัวกระทบคนระดับล่าง ซึ่งมีปัญหา “หนี้ครัวเรือน” หากดอกเบี้ยขยับขึ้น ก็ยิ่งไปเพิ่มภาระให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น
นี่คือ ความเปราะบางของ “ลูกหนี้” ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นกลับมา แต่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟ ราคาอาหารและอื่น ๆ ที่พากันปรับขึ้นราคา จึงเป็นความเสี่ยงจากกรณี “เงินเฟ้อ” ที่เพิ่มขึ้น ล่าสุด เมื่อเดือนกรฏาคม เงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 7.61% เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะสูงในรอบหลายๆ ปี
แต่น่าห่วงตรงที่ เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น หลักๆ มาจากเรื่อง “ราคาพลังงาน” มิหนำซ้ำยังต้องเจอเรื่อง “ราคาสินค้าสูงขึ้น” โถมทับเข้ามา ทั้งประเภทอาหาร และสินค้าเกษตรกรรม จากปัญหาเชื้อเพลิง และราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ทั้ง 2 กรณี ดังกล่าวข้างต้นเป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการคว่ำบาตรของนานาประเทศ ส่งผลให้เงินเฟ้อสูง รวมทั้งมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก
อันที่จริงถ้า “เงินเฟ้อ” เกิดจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ย่อมทำให้ “ดีมานด์” หรืออุปสงค์ อีกนัยหนึ่งคือความต้องซื้อสินค้าเพิ่ม แบบนี้การขยับดอกเบี้ยของแบงก์ชาติจะช่วยลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ แต่ถ้าเงินเฟ้อมาจาก “ต้นทุน” สินค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาพลังงาน ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศยังอ่อนแออยู่ การขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์หนักขึ้นไปอีก เพราะเป็นการไปเพิ่มต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า
แต่ถ้าปล่อยให้ “เงินเฟ้อ” เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะมีผลในเชิงจิตวิทยา หมายความว่า อาจจะทำให้สินค้าทุกอย่างขึ้นราคาแบบตามใจชอบ ไม่ได้ขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อไปแล้วว่า สินค้าทุกอย่างต้นทุนเพิ่มขึ้น การขึ้นราคาจึงเป็นเรื่องธรรมดานั่นเอง ตัวอย่างใกล้ตัวก็มีให้เห็นมาโดยตลอด เช่น ราคาอาหารที่ขายทั่วๆไปเวลาปรับจะปรับขึ้นที 20-30% “ตรงนี้แหละคือความน่ากลัวของ”เงินเฟ้อ” ที่เกิดจากการฉวยโอกาสขึ้นราคามากกว่าต้นทุนแท้จริง
เหนือสิ่งใดเวลาเกิด “เงินเฟ้อขึ้นสูง” คนที่น่าห่วงที่สุด เพราะได้รับผลกระทบหนักกว่าคนอื่นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “คนจน” อีกเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ ต้องจ่ายค่าอาหารคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนรวยเมื่อเทียบกับรายได้ เช่น คนจน มีรายได้ 300 บาทต่อวัน กินข้าวราดแกงจานละ 60 บาท คิดเป็น 20% ของรายได้ ในขณะที่คนรวยมีรายได้วันละ 3,000 บาท ต่อให้กินบุฟเฟต์ 300 บาท ก็ยังคิดเป็นเพียง 10% ของรายได้เท่านั้น
ดังนั้น ไม่ว่าแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของเงินเฟ้อ สำหรับ “คนจน” แล้ว “ดอกเบี้ยขึ้น” จะกระทบภาคครัวเรือนทันที เพราะบ้านเราหนี้ครัวเรือนสูงค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันหากปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่าครองชีพก็เพิ่มจะกระทบคนจนอีกเช่นกัน เรียกว่า “คนจนโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง”
……………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
#ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี #GCเคมีที่เข้าถึงทุกความสุข #GCChemistryforBetterLiving