เห็นได้ชัด หาก 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ติดใจ อยากจะเห็นเอกสารทางราชการ ที่เป็น “สำเนาบันทึกการประชุม” และ “รายงานการประชุม” ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ “กรธ.” ครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11ก.ย.2561 ที่เป็นการประชุมต่อเนื่องจากประชุมกรธ.ครั้งที่ 500
ที่มีการบันทึกถ้อยคำการแสดงความเห็นของอดีตกรธ.ต่อมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เรื่อง “การกำหนดวาระนายกฯห้ามเกินแปดปี” ที่มีการแสดงความเห็นของ “มีชัย ฤชุพันธ์” อดีตประธานกรธ.และ “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีตรองประธานกรธ. อันเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านยื่นเอกสาร-ข้อมูลเพิ่มเติมขอให้ศาลรธน.นำไปพิจารณาประกอบการวินิจฉัยคดีคำร้องแปดปีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนสุดท้าย ศาลรธน.ก็รับลูกดังกล่าว จนทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นหน่วยราชการซึ่งจัดเก็บเอกสารสำคัญของกรธ. เพื่อขอให้สภาฯส่งเอกสารดังกล่าวมาให้ศาลรธน.
ตรงนี้ เห็นได้เลยว่า ถ้าผลการประชุมตุลาการศาลรธน.เมื่อ 8 ก.ย. ทางที่ประชุมไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเอกสารการประชุมครั้งที่ 500 และ 501 และต้องการตรวจสอบเอกสารดังกล่าว
ป่านนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ ศาลรัฐธรรมนูญ คงนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องคดีแปดปีพล.อ.ประยุทธ์ ในสัปดาห์หน้านี้แล้ว!
แต่เมื่อศาลรธน.ต้องการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งเอกสารบันทึกการประชุม ครั้งที่ 501 มาให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันอังคารที่ 13 ก.ย.65 และกำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อในวันพุธที่ 14 ก.ย.65 ที่ล่าสุดข่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งเอกสารดังกล่าวให้กับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คงเห็นว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสิ้นกระแสความว่าสุดท้ายแล้วการประชุม กรธ.นัดที่ 500 ที่มีการบันทึกการประชุมที่มีเนื้อหาคำพูดของ “มีชัย” อดีตประธานกรธ.กับ “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีตรองประธานกรธ.กับอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการบอกว่า “การนับย้อนหลังการเป็นนายกฯให้นับย้อนหลังไปถึงช่วงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ 6 เมษายน 2560” ด้วย
ซึ่งหากเป็นแบบนี้ ก็หมายถึงว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องหลุดจากนายกฯ เพราะเป็นนายกฯครบ 8 ปีเมื่อ 24 ส.ค.65 ที่ผ่านมา
แต่ทว่า “มีชัย” ได้ทำเอกสารบันทึกชี้แจงประเด็นนี้ถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตาม “เอกสารรั่ว” โดยมีใจความสำคัญโดยสรุปคือ ย้ำว่าเอกสารรายงานการประชุมของกรธ.ครั้งที่ 500 ดังกล่าวมีความไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถอ้างอิงใดๆ ได้
“รายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้านั้น ขอเรียนว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ในรายงานการประชุมดังกล่าวมีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ
รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปก รายงานการประชุมทุกครั้งว่า “บันทึกการประชุมนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใดๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง” (บางส่วนจากหนังสือบันทึกคำชี้แจงของมีชัย ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ)
จังหวะของเรื่องนี้ เรียกได้ว่า พลิกไปพลิกมาเพราะตอนแรก พอเอกสาร “มีชัยรั่ว” ดังกล่าว แต้มต่อทางคดี มาอยู่ที่ฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์ทันที
เหตุเพราะด้วยความเป็น อดีตประธานกรธ.ของ “มีชัย” ที่ก็คือ หัวหน้าทีมในการยกร่างรธน.ฉบับปี 2560 ทั้งฉบับทุกมาตรา เรียกได้ว่า ยกร่างทำคลอดมากับมือ ดังนั้นการชี้แจง-ความเห็นของ “มีชัย” ในฐานะประธานกรธ.ที่ทำความเห็นถึงศาลรธน.โดยสรุปว่า รัฐธรรมนูญต้องมีผลตั้งแต่ประกาศใช้เมื่อ 6 เม.ย.2560 หากจะให้มีผลย้อนหลังต้องมีการกำหนดหรือเขียนไว้ให้ชัดเจน แต่เมื่อไม่มี ก็ต้องให้มีผลหลัง 6 เม.ย.2560 ส่วนเรื่องบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ที่บัญญัติรับรองให้ ครม.ช่วงก่อนประกาศใช้รธน.ปี 2560 ที่ก็คือ ครม. คสช. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญ “มีชัย” แจงว่า ก็เพราะเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่อาจนับระยะเวลาดังกล่าวที่มีครม.ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มานับรวมเวลากันได้
พูดง่ายๆ ความเห็นชองมีชัย ก็คือ การนับ 8 ปี ตาม 158 เรื่องแปดปีนายกฯ ต้องนับตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 ไม่ใช่นับย้อนหลังไปถึงปี 2557 ที่ก็คือปัจจุบันปี 2565 เท่ากับพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯมาแล้ว 5 ปีกว่า จึงไม่ต้องหลุดจากนายกฯ ตั้งแต่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมานั่นเอง
ยิ่งเมื่อเอกสารดังกล่าวของมีชัย ย้ำว่า การประชุมกรธ.นัดที่ 500 ที่มีการอ้างคำพูดของมีชัยว่า ให้นับย้อนหลังแปดปีไปถึงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ “มีชัย-อดีตประธานกรธ.” ยืนยันว่า เอกสารดังกล่าวไม่ครบถ้วน ไม่สามารถอ้างอิงใดๆ ได้ มันก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักทางคดีให้กับพลเอกประยุทธ์เต็มๆ
เพราะจุดที่เรียกได้ว่าเป็น “จุดอ่อน” ที่สุดในการสู้คดีนี้ของพล.อ.ประยุทธ์ ก็คือบันทึกการประชุมดังกล่าว ดังนั้น เมื่อ “มีชัย” ที่นั่งเป็นประธานในที่ประชุม ออกมาย้ำว่า บันทึกประชุมดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ไม่ควรนำมาอ้างอิง เพราะเป็นรายการประชุมที่ไม่มีการรับรองรายงานจากกรธ.
มันก็ทำให้ ฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์ ได้ประโยชน์ทางคดีเต็มๆ ถึงต่อให้เอกสารรั่วดังกล่าว จะไม่ได้มาจากฝ่ายผู้ถูกร้องก็ตาม?
อย่างไรก็ตาม การพลิกเกมของฝ่ายค้าน ที่ใช้ประโยชน์จาก “เอกสารรั่ว” ของมีชัย ก็ทันสถานการณ์ไม่น้อย เมื่อรีบแถลงข่าวและส่งเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อ เกทับ-ดิสเครดิต “มีชัย” ไปเต็มๆ
ด้วยการใช้ประเด็นแย้งหนังสือของมีชัยว่า การประชุมครั้งที่ 500 ที่มีรายละเอียด 22 หน้า มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และที่สำคัญ พบว่าในการประชุมครั้งถัดมาคือการประชุมกรธ. ครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.51 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายขอกรธ. ที่ประชุมมีการรับรองการประชุมของกรธ. ครั้งที่ 497-500 ว่ามีความถูกต้องโดยไม่มีการแก้ไข ดังนั้น บันทึกการประชุมครั้งที่ 500 จึงมีความสมบูรณ์
พูดง่ายๆ ก็คือ ฝ่ายค้านบอกศาลรธน.ว่า “มีชัย” ไม่บอกเล่าความจริงทั้งหมด อย่าไปเชื่อ
จนสุดท้าย ศาลรธน.ต้องทำหนังสือถึงสภาฯ เพื่อขอบันทึกการประชุมนัดที่ 501 ดังกล่าว อย่างเป็นทางการจากสภาฯ ไม่ใช่เอกสารที่ส่งมาจากฝ่ายค้าน เพื่อจะได้เห็นเอกสารทางราชการและทางสภาฯ รับรองความถูกต้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาคดีนั่นเอง
ดูตามรูปคดี หากเสียงส่วนใหญ่ใน 9 ตุลาการศาลรธน.เห็นว่าตัวคำชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์-เอกสารความเห็นของ “มีชัย” ในฐานะอดีตประธานกรธ.และ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” อดีตเลขานุการกรธ. ที่ส่งถึงศาลรธน. รวมถึงเอกสารบันทึกการประชุมของกรธ.ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการตีความที่ศาลได้รับจากสภาฯ เพียงพอแล้วที่จะนัดลงมติตัดสินคดี ก็เป็นไปได้ที่ การประชุมตุลาการศาลรธน.พุธที่ 14 ก.ย. ก็อาจจะมีการนัดประชุมเพื่อลงมติตัดสินคดีได้เลย แต่หากเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่ายังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีก การนัดวันลงมติ ก็อาจขยับออกไป แต่ถึงขยับอย่างไร ก็คงไม่เกินเดือนกันยายนนี้แน่ที่จะได้รู้กัน
พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้ถูกร้อง หรือฝ่ายค้านในฐานะผู้ร้อง ใครจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะในคดีนี้
…………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย : พระจันทร์เสี้ยว