วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“บิ๊กตู่”รอ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ 30 พ.ย. ตัดสิน‘ก.ม.เลือกตั้งฯ’ก่อนมา‘รทสช.’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บิ๊กตู่”รอ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ 30 พ.ย. ตัดสิน‘ก.ม.เลือกตั้งฯ’ก่อนมา‘รทสช.’

การเมืองในสัปดาห์หน้านี้ โดยภาพรวมคงนิ่งสักระยะ เพราะสภาผู้แทนราษฎร งดการประชุมตลอดทั้งสัปดาห์ เนื่องจากเป็นช่วงหยุดยาวตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค 18-19 พ.ย.ที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายคาดหมายกันว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค หากสุดท้ายการจัดประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่นดี ความสำเร็จดังกล่าว ยังไงก็ต้องถือว่าเป็นเครดิตของรัฐบาล โดยการนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมเอเปค และนั่นย่อมทำให้ “ภาพลักษณ์-เรตติ้ง” กระแสนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ดีขึ้นแน่นอน ไม่มาก…ก็น้อย

จากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมเอเปคสัปดาห์หน้าแล้ว ก็คาดว่า การเมืองจะกลับมาเคลื่อนไหวคึกคักอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณว่าจะแสดงท่าทีการเมือง ว่าจะเอาอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจแล้วว่า จะเดินการเมืองต่อ เพราะเรื่องเทอมการเป็นนายกฯ ที่เหลืออีกไม่เกินสองปี ไม่ใช่อุปสรรค เพราะถึงต่อให้เป็นนายกฯสองปีหลังเลือกตั้งจนครบเทอมแล้ว แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังเล่นการเมืองได้ต่อ โดยอาจจะเป็นตำแหน่งอื่น เช่น รองนายกฯควบรมว.กลาโหม หรือ รองนายกฯควบรมว.มหาดไทย อะไรต่างๆ ได้อีกหลายเส้นทาง รวมถึงการเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง

ผนวกกับ…ก็ไม่แน่ จากการที่สภาฯมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี ดำเนินการเห็นชอบ ให้มี “การทำประชามติ” สอบถามประชาชนทั้งประเทศ ว่าเห็นด้วยกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งหากสุดท้าย รัฐบาลเอาด้วย แล้วมีการทำประชามติตอนเลือกตั้งไปพร้อมกัน

ที่หากผลประชามติออกมาว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เท่ากับว่า พอหลังเลือกตั้งเสร็จ ก็ต้องมีการมาเลือก-สรรหาและตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เท่ากับว่า เรื่อง “เทอมการเป็นนายกฯ” ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นมาแล้วร่วมห้าปีกว่านับถึงตอนนี้ ก็จะหายไปทันที โดยต้องมีการนับหนึ่งใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯและรัฐมนตรี ต้องนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

ถ้าทุกอย่างเดินมาตามนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังมีเวลาในการกลับมาเป็นนายกฯได้อีกหลายปี เพราะต้องนับหนึ่งใหม่เลย  หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คลอดออกมา เว้นเสียแต่ จะมีการเขียนล็อกไว้ใน “บทเฉพาะกาล” เป็นการเฉพาะแบบใดแบบหนึ่ง เพื่อให้มีผลไปถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์ แต่โดยหลักส่วนใหญ่ ก็ไม่ค่อยมีการทำกัน

ดังนั้น “เส้นทาง-อนาคตการเมือง” ของพล.อ.ประยุทธ์ ในวัย 68 ปี จึงสามารถอยู่บนถนนการเมืองได้อย่างน้อยก็เป็นสิบปีขั้นต่ำ

ทำให้วงการเมืองจึงมองว่า เมื่อพล.อ.ประยุทธ์เลือกจะอยู่กับการเมืองต่อ ก็จะต้องมี “ฐานที่มั่นการเมือง” ที่มั่นคง แข็งแรง และที่สำคัญ ตัวเองต้องมีส่วนในการ “บริหาร-ตัดสินใจ” ไม่ใช่เป็นแค่ “ผู้อยู่อาศัย-คนในพรรค” แต่ต้องเป็น “เสาหลักของพรรค” ที่มีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองและกำหนดทิศทางพรรคได้

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายในแวดวงการเมือง จึงมองไปในทางเดียวกันว่า เมื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” และน้องชาย “พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ” อดีตผบ.ตร. คุม “พลังประชารัฐ” ไว้เบ็ดเสร็จหมดแล้ว และมีการวางทายาทสืบต่อเป็นทอดๆ อย่างตอนนี้ก็ข่าวว่าวางตัว “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” ไว้เป็นทายาทระยะยาวของพรรคต่อไป

เมื่อที่ยื่นใน “พลังประชารัฐ” ไม่มี อีกทั้งดีเอ็นเอของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่นักการเมืองโดยสายเลือด

ที่สำคัญ นิสัยของ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ไม่ค่อยคลุกคลีกับนักการเมืองอยู่แล้ว ยิ่งแกนนำ-ส.ส.พลังประชารัฐ หลายคนล้วนแล้วแต่ “เขี้ยวลากดิน” และเป็นรุ่นใหญ่ในแวดวงการเมืองเยอะ เหมือน “ไม้แก่ดัดยาก” ผนวกกับหลายคน ลึกๆ ก็ไม่ได้ลงรอยกับพล.อ.ประยุทธ์เท่าใดนัก ทำให้พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่อยากต้องมาปรับตัวเข้าหากส.ส.-แกนนำพลังประชารัฐ เลยอาจแยกตัวออกไป “สร้างบ้านของตัวเอง”

ส่วนสาเหตุที่พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่อยู่ต่อที่พลังประชารัฐ เชื่อได้ว่า ไม่ใช่เพราะไม่พอใจหากพลังประชารัฐ จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ 3 คนตอนเลือกตั้ง เพราะพล.อ.ประยุทธ์ก็รู้ข้อจำกัดของตัวเองดีว่า เหลือเทอมการเป็นนายกฯแค่สองปี ทำให้พลังประชารัฐก็ต้องปรับกลยุทธ์การเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ด้วยการต้องเสนอแคนดิเดตนายกฯมากกว่าหนึ่งชื่ออยู่แล้ว

และคนมองว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ใจแคบ หากสุดท้าย หลังเลือกตั้ง ฝ่ายขั้วพรรคการเมืองรัฐบาลปัจจุบันรวมเสียงส.ส.ได้มากกว่า “เพื่อไทย” แล้วจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แล้วจะดัน “พล.อ.ประวิตร” เป็นนายกฯ แต่สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ หากต้องออกจากพลังประชารัฐ ก็น่าจะเป็นเหตุผลอื่นมากกว่า เช่น อาจประเมินว่า ถึงลงแคนดิเดตนายกฯของพลังประชารัฐ แต่หลังเลือกตั้ง พลังประชารัฐก็ได้ส.ส.น้อยกว่าเพื่อไทยอยู่แล้ว และอาจเป็นไปได้ที่พล.อ.ประวิตร จะนำพลังประชารัฐไปจับมือกับเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ถ้าฝ่ายพรรครัฐบาลปัจจุบัน รวมเสียงส.ส.แล้วไม่เกินกึ่งหนึ่ง ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากเป็น “นั่งร้าน” คอยดึงคะแนนเข้าพลังประชารัฐ แต่สุดท้าย กลายเป็นว่า พลังประชารัฐไปจับมือตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยเท่ากับ ตัวพล.อ.ประยุทธ์ไม่ต่างอะไรกับการถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองให้กับพลังประชารัฐ

รวมถึงเหตุผลอื่นๆ เช่น พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีว่า พลังประชารัฐยามนี้ กระแสไม่ดีเหมือนตอนปี 2562 รวมถึงกระแสตัวเอง ทำให้พล.อ.ประวิตร จำเป็นต้องมีมือทำงานการเมือง คอยเป็นเสนาธิการการเมือง ช่วยวางแผนคุมเลือกตั้ง ซึ่งหากตัวเองสวิงไปที่ “รวมไทยสร้างชาติ” ก็อาจเปิดทางให้พล.อ.ประวิตรดึง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” กลับมาที่พลังประชารัฐ เพื่อมาช่วยงานพล.อ.ประวิตร ทั้งบนดิน-ใต้ดิน ให้พลังประชารัฐ แล้วจากนั้น หลังเลือกตั้ง ก็ค่อยมาว่ากันจะเอาอย่างไรต่อไป หลังเลือกตั้ง ทั้งพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ก็มาจับมือกันตั้งรัฐบาลเพื่อแข่งกับเพื่อไทยให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ส่วนใครจะเป็นนายกฯ ก็ค่อยไปตกลงกัน ที่ก็อาจเป็นได้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร หรือ อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย เป็นต้น

ปัจจัยข้างต้นทั้งหมด ทำให้ผู้คนจึงเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเลือกที่จะมาปักหลักสร้างฐานที่มั่น กับบ้านหลังใหม่ ที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่เพิ่งตอกเสาเข็มได้ไม่นาน และดีเอ็นเอของคนในพรรค ก็น่าจะสื่อสารและรับกันได้กับพล.อ.ประยุทธ์  

เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังดูไทม์มิ่งการเมืองอยู่ว่า จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายตอนไหน ว่าจะอยู่พลังประชารัฐต่อไป หรือจะไปรวมไทยสร้างชาติ และหากไปรวมไทยสร้างชาติ จะไปตอนไหนเท่านั้นเอง

“แหล่งข่าวระดับกรรมการบริหารพรรครวมไทยสร้างชาติ” ให้ข้อมูลกับ thekey.news ว่า สัญญาณการเมืองที่คนในพรรครวมไทยสร้างชาติได้รับจาก “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (ที่ทำงานเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีให้พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาล) ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์จะมาที่รวมไทยสร้างชาติแน่นอน เรียกได้ว่าเกือบ 80 เปอร์เซนต์แล้ว ส่วนอีก 20 เปอร์เซนต์ ที่อาจจะไม่มา ก็คือ “3 ป.” มีการเคลียร์ใจกันรอบสุดท้าย จนสุดท้าย สิ่งที่อยู่ในใจ 3 ป.ได้รับการพูดคุยกันแบบเปิดอก ไม่มีอะไรค้างคาใจ จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อมั่น-เชื่อมือ-เชื่อใจ “พี่ป้อม” จนอยู่พลังประชารัฐต่อ เพื่อทำให้พลังประชารัฐ ไม่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ เพราะหากพล.อ.ประยุทธ์ ออกจากพลังประชารัฐ ก็เป็นไปได้สูงที่หลายคนในพลังประชารัฐ คงแยกวงตามไปด้วย จากนั้น 3 ป. ก็เดินหน้าจับมือกันสู้ศึกเลือกตั้ง เพื่อทำให้พลังประชารัฐ สามารถกลับมาเป็นพรรคหลักของฝ่ายขั้วรัฐบาลปัจจุบัน หลังการเลือกตั้งให้ได้ ส่วนรวมไทยสร้างชาติ ก็จะเป็นพรรคพันธมิตรฯกับพลังประชารัฐต่อไป

“สัญญาณการเมืองที่คนในพรรครวมไทยสร้างชาติได้รับมาก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ และแกนนำพลังประชารัฐบางคน รวมถึงส.ส.พลังประชารัฐอีกบางส่วนที่จะย้ายตามพล.อ.ประยุทธ์ ออกมาจากพลังประชารัฐ เพื่อมาที่รวมไทยสร้างชาติ จะรอฟังผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องคดีให้ตีความร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ เรื่องสูตรหาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัย 30 พ.ย.นี้ จากนั้นจะมีความชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์จะเอาอย่างไรต่อไป จะอยู่พลังประชารัฐหรือจะมารวมไทยสร้างชาติ และหากจะมา จะมาช่วงวันไหน

ตอนนี้คนในพรรคได้รับสัญญาณจากแกนนำพลังประชารัฐ ที่มีการคุยกันแล้วว่าจะมาที่รวมไทยสร้างชาติพร้อมกับพล.อ.ประยุทธ์ว่า ตัวนายกฯและคนในพลังประชารัฐ ขอรอผลคำตัดสินวันที่ 30 พ.ย.นี้ก่อน ไม่ใช่หลังเอเปค แต่ช่วงเวลาก็ใกล้เคียงกัน เพราะหลังเอเปคก็คือ 20 พ.ย. ก็รอหลังจากนั้นอีกสักไม่กี่วัน ถ้าผลคำตัดสินของศาลออกมา ท่าทีของนายกฯกับคนในพลังประชารัฐที่ตกลงและคุยกับเราแล้วว่า จะมารวมไทยสร้างชาติ เช่น กลุ่มของสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กลุ่มส.ส.กทม.พลังประชารัฐ ประมาณ 6-7 คน จะมีความชัดเจนแน่นอน”แหล่งข่าวระดับกรรมการบริหารพรรครวมไทยสร้างชาติ คนหนึ่งให้ข้อมูลกับเราไว้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

สิ่งนี้คือความเคลื่อนไหวล่าสุดของพล.อ.ประยุทธ์ และรวมไทยสร้างชาติ ที่ถึงตอนนี้ ยังต้องดูต้องลุ้นว่าจะคลิกกันลงตัวเมื่อไหร่ เพราะสถานการณ์ยังอาจมีพลิกมีแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

……………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img