ขณะที่หลายพรรคการเมือง กำลังเร่งจัดทัพ คัดเลือกคนลงสมัครส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศ ที่พอจัดลงตัวเสร็จ ถึงค่อยไปจัดทัพโผผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต่อไป แต่โผปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนใหญ่จะทำกันจริงๆ ก็ต้องช่วงก่อนยื่นรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประมาณสองสัปดาห์ก่อนส่งชื่อ บางพรรคถึงขั้นทำกันหนึ่งวันก่อนส่งชื่อด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน การเปิดตัว-แถลงนโยบายพรรคที่จะใช้ในการหาเสียง หลายพรรคก็เริ่มทยอยเปิดตามลำดับ
ทั้งหมด ทำให้เห็นได้ชัด แม้ตอนนี้ ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.พรรคการเมืองและพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ออกมาประกาศใช้ แต่เมื่อสัญญาณหลายอย่างชัดว่า แนวโน้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงยุบสภาฯ ทำให้การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือนเม.ย.66 หลายพรรคจึงต้องเร่งขยับกันแต่เนิ่นๆ
ขณะที่แวดวงการเมือง “บางวง” ก็ไปถึงขั้น ประเมิน-วิเคราะห์ “การจับขั้ว-ตั้งรัฐบาล” หลังเลือกตั้งกันแล้ว ที่ก็แบ่งเป็นสองกลุ่มหลักคือ “ขั้วเพื่อไทย” ที่น่าจะชนะการเลือกตั้งแน่นอน แต่จะถึงขั้นแลนด์สไลด์หรือไม่ ยังไม่มีใครกล้าการันตี และไม่จำเป็นที่เพื่อไทย จะต้องดึงพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันอย่าง “ก้าวไกล” มาจับมือกันตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังเลือกตั้งก็ได้ เว้นแต่บางพรรคที่มีสัมพันธ์กันลึกซึ้งเช่น “ประชาชาติ” ที่มี “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นหัวหน้าพรรค พรรคนี้ “ทักษิณ ชินวัตร” คงดึงมาร่วมตั้งรัฐบาลเป็นพรรคแรก ๆแน่นอน
ส่วนอีกขั้ว ก็คือ “ขั้วพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน” ที่จะประกอบด้วย “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา” รวมถึง “รวมไทยสร้างชาติ” หรือ “พรรคลุงตู่”
โดยหากขั้วพรรคร่วมรัฐบาล หลังเลือกตั้ง ถ้ารวมเสียงกันแล้วได้เกินกึ่งหนึ่ง 250 เสียงและตกลงเรื่อง “นายกรัฐมนตรี” กันได้ ว่าจะให้ใครขึ้นมาเป็น ระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” จากรวมไทยสร้างชาติ – “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” จากพลังประชารัฐ หรือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” จากภูมิใจไทย ถ้าตกลงกันได้ ก็สามารถตั้งรัฐบาลกันได้ราบรื่น
แต่หากตกลงกันไม่ได้ ไม่มีใครยอมใคร ไม่แน่เช่นกัน อาจทำให้บางพรรคในซีกนี้ โดยเฉพาะ “พลังประชารัฐ” อาจดีดตัวเอง ออกไปจับมือกับ “เพื่อไทย” ตั้งรัฐบาลร่วมกันก็ได้ ถ้า “ทักษิณ ชินวัตร” และเพื่อไทย ให้เงื่อนไขที่ดีกว่าที่จะไปอยู่กับ “ภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์”
ความเป็นไปได้ ที่จะเห็นการจับมือกันระหว่าง “บิ๊กป้อม-ทักษิณ” – “เพื่อไทย-พลังประชารัฐ” หลังเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ข่าวโคมลอย…แน่นอน!!!
ดังนั้น หน้ากระดานการเมือง หลังจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้ง “พรรคหลัก” ที่จะกำหนดทิศทางการเมืองไทย ก็คือ “เพื่อไทย” ตามด้วย “ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์”
ขณะที่ “ก้าวไกล” ที่ถูกคาดหมายว่า จะได้เสียงส.ส.ระดับหนึ่ง แต่ไม่มากกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 แน่นอน แต่การที่ที่ชูนโยบาย “ปฏิรูปสถาบันฯ-แก้ไข 112” จะทำให้ “เพื่อไทย” หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็คงไม่อยากจับมือตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพราะอาจตกเป็นเป้าให้เป็น “รัฐบาลที่ถูกล้มได้ง่าย” จาก “คนบางกลุ่ม” ทำให้ “เพื่อไทย” สู้ยอมจับมือกับ “พลังประชารัฐ” หรือแม้แต่กับ “ภูมิใจไทย” ยังดีกว่า
อย่างไรก็ตาม การเมือง-การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง นอกจาก “พรรคหลัก” แล้ว ก็ยังมี “พรรคตัวแปร” ที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะหากพรรคหลัก ไม่ได้ชนะแบบได้ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งดูแล้วก็มีลุ้นแค่พรรคเดียวคือ “เพื่อไทย” ซึ่งก็ลุ้นสำเร็จยาก เมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้ “พรรคตัวแปร” จะมีบทบาทสำคัญมาก ในการที่จะถูกดึงไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไประดับเกิน 270 เสียง
โดยหากดูจากพรรคการเมืองต่างๆ เวลานี้ พรรตัวแปรอันดับหนึ่งที่่ตลาดการเมือง มองตรงกันก็คือ “พรรคชาติไทยพัฒนา” ยุครีแบนด์ โดย “วราวุธ ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรค และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพราะด้วยความที่เป็นพรรคขนาดกลางถึงเล็ก และเป็นพรรคที่เล่นการเมืองแบบไม่เป็นศัตรูกับพรรคไหน หรือกับใครเป็นพิเศษ เรียกง่ายๆ เล่นการเมืองแบบเซฟๆ ทำให้เป็นพรรคแบบประนีประนอม จนเข้าได้กับทุกขั้วการเมือง แม้แต่กับ “เพื่อไทย” ที่ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกันมาก่อน ตั้งแต่ยุค “ทักษิณ” กับ “บรรหาร ศิลปอาชา” อดีตนายกฯ อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ต่อเนื่องมาถึงยุคสองพี่น้อง-ลูกบรรหาร “กัญจนา ศิลปอาชา-วราวุธ ศิลปอาชา” ตลอดจนแกนนำชาติไทยพัฒนาหลายคน เช่น “ประภัตร โพธสุธน” รมช.เกษตรฯ หรือ “เผดิมชัย สะสมทรัพย์” ก็คุ้นเคยกับ “ทักษิณ” ดีอยู่แล้ว เพราะ “เผดิมชัย” ก็คืออดีตแกนนำเพื่อไทยสายภาคกลาง ก่อนจะออกมาอยู่กับชาติไทยพัฒนา เพราะตอนเลือกตั้งปี 2562 ถูกกดดันจากฝ่ายทหารให้ย้ายพรรค
ทำให้ หากหลังเลือกตั้ง ถ้า “เพื่อไทย” ได้ส.ส.มาสักประมาณ 180-200 เสียง และหาก “ชาติไทยพัฒนา” ได้ส.ส.มาสัก 12-15 เสียงขั้นต่ำ แล้ว “ทักษิณ” จับมือกับ “พลังประชารัฐ” ที่หากได้ส.ส.สัก 60-70 เสียง แล้วมาบวกกับ “ชาติไทยพัฒนา” และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ในเวลานี้เช่น “พรรคประชาชาติ” จนได้เสียงส.ส.สัก 270-280 เสียง ก็น่าจะการันตีการตั้งรัฐบาลได้แล้ว เพราะ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร” ก็ต้องไปล็อบบี้สมาชิกวุฒิสภาในสายตัวเอง ให้มาช่วยโหวตเลือกนายกฯ ในฝั่งนี้ให้ได้เสียง 375 เสียงให้ได้ ที่ก็ขาดอีกไม่ถึงร้อยเสียง ที่เชื่อว่า “ส.ว.สายบิ๊กป้อม” น่าจะหามาเติมให้ได้
ขณะเดียวกัน หากพรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ทั้ง “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา-รวมไทยสร้างชาติ” รวมถึงพรรคอื่นๆ ที่อาจจะมาร่วมด้วยเช่น “ชาติพัฒนากล้า” ของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ/กรณ์ จาติกวณิช”-“ไทยสร้างไทย” ของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ถ้าหลังเลือกตั้ง รวมเสียงกันแล้ว ได้เกิน 250 เสียง แบบนี้ก็ยิ่งตั้งรัฐบาลง่าย
เพราะทั้ง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” ล้วนมีเสียงส.ว.คอยสนับสนุนระดับเกิน 200 เสียงอยู่แล้ว ทำให้การโหวตนายกฯยิ่งง่ายเลย
แต่ปัญหาของขั้วนี้ก็คือ แล้วจะให้ใครเป็นนายกฯ เพราะหาก “ภูมิใจไทย” ได้ส.ส.มาอันดับหนึ่งของขั้วนี้ แล้ว “อนุทิน” จะยอมหลีกทางให้ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” หรือไม่? ในเมื่อ “ภูมิใจไทย” มีส.ส.มากกว่า
เว้นแต่จะมี “ข้อตกลงพิเศษบางอย่าง” ที่ “อนุทิน” ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ก็อาจยอมหลีกทางให้ อีกทั้งอาจต้องมี “สัญญาณพิเศษ” ส่งมาด้วย “อนุทิน-เนวิน ชิดชอบ” ถึงจะยอม
โดยการรวมเสียงตั้งรัฐบาลของขั้วนี้ ก็ยังจำเป็นต้องพึ่ง “พรรคตัวแปร” มาคอยเติมเสียงให้ได้เกิน 250 เสียงเช่นกัน และพรรคที่จะเป็นตัวหลักของพรรคตัวแปร คงไม่พ้น “ชาติไทยพัฒนา” อีกเช่นกัน ซึ่งด้วยการที่ “วราวุธ-ชาติไทยพัฒนา” อยู่กับ “พล.อ.ประยุทธ์” มาร่วมสี่ปี ทำให้การคุยกันเพื่อตั้งรัฐบาล ก็ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก
สำคัญก็แต่ “วราวุธ-ชาติไทยพัฒนา” ก็ต้องทำให้พรรคตัวเอง เป็นพรรคที่มีราคาค่างวดทางการเมือง คือต้องมีส.ส.เข้าสภาฯหลังเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยก็ต้อง 15-20 เสียง หรือต่ำสุดจริงๆ ก็ต้องไม่ต่ำกว่า 12 เสียง เพื่อทำให้ง่ายต่อการถูกดึงไปร่วมตั้งรัฐบาล และทำให้มีอำนาจในการต่อรอง เจรจาเรื่องโควต้ารัฐมนตรีของพรรค
โดยหากการตั้งรัฐบาลของทั้งสองฝั่ง เสียงก้ำกึ่งกันมาก ประเภทเฉียดๆ กันอยู่ที่ 260-270 เสียง แล้วหากได้ “ชาติไทยพัฒนา” ไปเติม จะทำให้ได้ประมาณ 280 เสียงขึ้นไป ถ้าแบบนี้ “ชาติไทยพัฒนา” จะมีราคาค่างวดทางการเมืองสูงแน่
เหมือนกับตอนหลังเลือกตั้งปี 2562 ที่การจัดตั้งรัฐบาลของ “พลังประชารัฐ” ที่กว่าจะตั้งได้ ก็เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จนทำให้ “ชาติไทยพัฒนา” ที่เข้าไปร่วมตั้งรัฐบาลแต่แรกๆ ที่ตอนนั้นชาติไทยพัฒนามีส.ส.แค่ประมาณ 9 เสียง แต่ได้ทั้ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติของ “วราวุธ” และรมช.เกษตรฯ ของ “ประภัตร โพธสุธน” เรียกว่า คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
เลือกตั้งรอบหน้า “ชาติไทยพัฒนา” ก็คงหวังไว้แบบเดิมเช่นกัน คือ ขอเป็นพรรคตัวแปร ที่เติมเสียงให้ตั้งรัฐบาลได้ โดยพรรคสามารถเจรจาต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรี ที่ตัวเองต้องการได้ระดับหนึ่ง
ส่วนพรรคตัวแปรอื่นๆ นอกจากชาติไทยพัฒนาแล้ว ก็ยังน่าจะมี “พรรคประชาชาติ” ที่มีจุดแข็งคือฐานเสียง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และฐานเสียงกลุ่มคนไทยมุสลิม ซึ่งเป้าหมายของพรรคก็คือหากทำได้สัก 10 เก้าอี้ จากส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ ก็ถือว่าเข้าเป้าแล้ว และรอลุ้นให้ “เพื่อไทย” ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พรรคประชาชาติก็ได้เข้าร่วมตั้งรัฐบาลแน่นอน
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเวลานี้อื่นๆ อย่าง “เสรีรวมไทย” ของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” กับ “เพื่อชาติ” ของ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ดูอนาคตแล้ว คงเป็นพรรคต่ำสิบแน่นอน เผลอๆ อาจได้ส.ส.แค่ 1-3 คนเท่านั้น ทำให้ ลุ้นยากในการเป็น “พรรคตัวแปร” ที่จะถูกดึงไปร่วมตั้งรัฐบาล คืออาจจะถูกดึงไปร่วมตั้งรัฐบาล แต่คงยากจะไปต่อรองโควต้ารัฐมนตรีได้ แต่จะมีอย่างอื่นให้แทน เช่น ใหัโควต้า ประธานกรรมาธิการของสภาฯ เป็นต้น
ที่สำคัญ “พรรตัวแปร” ต้องผ่านศึกเลือกตั้งไปให้ได้ ที่ก็เป็น “งานหิน” เหมือนกัน กับการเป็นพรรคขนาดเล็ก แต่ต้องแบกน้ำหนักสู้กับพรรคใหญ่ ทำให้การเข้าสู่สนามเลือกตั้ง จึงต้องใช้วิธี “เน้นเฉพาะเขต” ที่เชื่อว่า “สู้ได้” และ “มีโอกาสชนะ” จะไปสู้แบบหว่านแห คงไม่ไหว เพราะหากทำ “รากเลือด” และ “กระเป๋าฉีก” ชัวร์
……………………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”