หลังศึกหนักแนวรบการเมืองนอกรัฐบาล ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผ่อนคลายลง จากเมื่อตอนช่วงต.ค.-พ.ย. 2563 อย่างเห็นได้ชัด เมื่อ ม็อบปลดแอก-สามนิ้ว ไปต่อไม่ไหว กระบวนทัพแตกพ่าย
แม้แกนนำกลุ่มคณะราษฏร 2563 บางคนจะขู่เอาไว้ จบโควิดระบาดรอบสองเมื่อไหร่ ได้เจอกันแน่ แต่ด้วยทิศทางที่ไร้พลังการเคลื่อนไหว ผนวกกับแกนนำม็อบหลายคน มีชนักติดหลังเรื่องปัญหาคดีความมากมาย ทำให้แม้ขยับได้ แต่ย่อมไม่คล่องตัวเหมือนเดิม
ผนวกกับ ข้อเรียกร้องตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่า เทน้ำหนักไปที่การเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นหลัก แต่ก็ยังไร้เสียงขานรับในวงกว้าง แถมแรงต้านไม่เอาด้วยกับการยกเลิก 112 ก็พร้อมเปิดหน้าชนทุกเมื่อ
มันเลยทำให้ ศึกหนักภายนอก แกนนำรัฐบาลเริ่มมั่นใจว่า หากสถานการณ์ไม่มีอะไรพลิก ม็อบปลดแอก ก็ไม่น่าจะมากดดัน บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จนหน้าเขียวต้องโร่ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเรียกร้องให้ถอยคนละก้าวแบบตอนช่วงกลางเดือนต.ค. 2563 ที่กระแสม็อบพีคสุดขีด
จึงต้องถือว่าตอนนี้ สถานการณ์ภายนอก ค่อนข้างปลอดโปร่งสำหรับรัฐบาล
แต่ที่หลายคนกำลังสนใจ ก็คือ สภาวะ “ขบเหลี่ยมการเมือง” กันเองของสองพรรคแกนนำรัฐบาล ในช่วงนี้ ระหว่าง “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์”
หลังชัดแล้วว่า สนามเลือกตั้งซ่อมรอบนี้ จะเป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล คือ ประชาธิปัตย์ ซึ่งส่ง พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ อดีตรองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครศรีธรรมราช น้องชายนายเทพไท เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม โดยประชาธิปัตย์ ก็หมายมั่นจะตีกันพื้นที่เดิมของพรรคเอาไว้ เพื่อไม่ให้ถูกพลังประชารัฐรุกคืบเข้ามาได้อีก หลังเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ประชาธิปัตย์ โดนพลังประชารัฐ เข้ามารุกคืบแซะไปได้สามเก้าอี้ที่นครศรีธรรมราช ทำเอาสามอดีตส.ส.นครศรีธรรมราชหลายสมัยคือ วิทยา แก้วภราดัย-นริศา อดิเทพวรพันธุ์-สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ กลายเป็นส.ส.สอบตก ไปแบบคนเมืองนครฯจำนวนมาก ยังคาดไม่ถึง
ขณะที่ “พลังประชารัฐ” ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ก็มีมติอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่ง อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ลงสมัครในนามพรรค เพื่อแก้มือหลังรอบที่แล้วมาอันดับสอง แพ้ให้กับ เทพไท ไป 4 พันกว่าคะแนน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้ลงมติไปในทางเดียวกันหมด เสียงข้างน้อยบางส่วนก็ไม่อยากให้ส่งไปชนกับประชาธิปัตย์ เพราะเกรงจะมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล
จุดนี้ จะพบว่า หลายวันที่ผ่านมา ท่าทีของคนในประชาธิปัตย์ แสดงออกแบบไม่สบอารมณ์ที่พลังประชารัฐ ไม่หลีกทางให้แต่โดยดี ไล่ตั้งแต่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่ภาคใต้-ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์-น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ทีมงานหน้าห้อง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ลูกสาวคหบดีดังเมืองนครศรีธรรมราช
แต่พีคสุด ก็คือ ท่าทีแบบชัด ๆของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ -หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” ที่ระบุแบบไม่เกรงใจพลังประชารัฐ
“ถ้าประชาธิปัตย์เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ประชาธิปัตย์จะไม่ส่งผู้สมัคร แต่จะให้เจ้าของที่นั่งเดิมที่เป็นพรรคร่วมเป็นผู้ส่ง ซึ่งประชาธิปัตย์เคยเป็นแกนตั้งรัฐบาลมาหลายครั้ง และได้ปฏิบัติมาเช่นนี้โดยตลอด“(2 ก.พ.)
ขณะที่คนในพรรคพลังประชารัฐเอง “ลุงป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” แม้จะมีข่าวว่า ตอนประชุมกรรมการบริหารพรรคที่ลงมติส่ง อาญาสิทธิ์ ลงสมัคร จะเดินออกจากห้องประชุม ก่อนจะมีการโหวต แต่พลเอกประวิตร ก็แสดงท่าทีแข็งขันมาตลอดในเชิงเห็นด้วยกับการที่พลังประชารัฐจะส่งคนลงเลือกตั้ง โดยอ้างเรื่อง ประชาธิปไตย และต้องการให้ อาญาสิทธิ์ ได้มีโอกาสแก้มือ พร้อมการันตีเองเรื่องนี้ “จะไม่เป็นปัญหาบานปลายกับพรรคประชาธิปัตย์”
สภาพ “ขบเหลี่ยมการเมือง” กันของ พลังประชารัฐ กับ ประชาธิปัตย์ ที่เกิดขึ้น ทำให้น่าจับตามองว่า การหาเสียงเลือกตั้งซ่อม นับแต่ยื่นใบสมัคร ไปจนถึงก่อนวันเลือกตั้ง 7 มี.ค. น่าสนใจว่า จะขยายผลจนกลายเป็นปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ?
โดยเฉพาะหากการหาเสียงเข้าไปถึงช่วงโค้งสุดท้าย แล้วกระแส-คะแนนของ พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ กับ อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ สูสีคู่คี่กันแบบหายใจรดต้นคอ จนทีมหาเสียงของทั้งสองพรรค จำเป็นต้องมีการปล่อยของ เพื่อชิงกระแส จนมีการหาเสียงพาดพิงกัน ทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน มันจะบานปลายกลายเป็นเกาเหลาระหว่างสองพรรคหรือไม่
ยิ่งเป็นที่รู้กัน เวทีหาเสียงของประชาธิปัตย์ในภาคใต้ โดยเฉพาะช่วง 7 วันสุดท้าย เข้มข้นยิ่งนัก ยิ่งหากขุนพลประชาธิปัตย์ ขึ้นเวทีปราศรัย แล้วหลุดเฟรม ปราศรัยแบบเมามันส์ เพื่อตรึงเวที เรียกคะแนน จนพาดพิง คนในพลังประชารัฐ-แกนนำรัฐบาลขึ้นมา รับรองความมันส์จะบังเกิด
เพราะเวลานี้ การโรมรันพันตู ระหว่างปลายแถวของคนในพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ยังไม่ยอมจบง่ายๆ จนดูเหมือนผู้ใหญ่ของทั้งสองพรรค ก็ไฟเขียวให้
เห็นได้จาก ฝ่ายพลังประชารัฐ ตัวของ สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ที่จะมีบทบาทอย่างมากในการหาเสียงที่นครศรีธรรมราชให้กับพลังประชารัฐ ก็ยังให้สัมภาษณ์กระทบกระเทียบประชาธิปัตย์รายวัน ขณะที่ ประชาธิปัตย์ ก็ส่งคนออกมาตอบโต้แบบทันทีทันใดตลอด
อย่างไรก็ตาม ก่อนก่อนจะถึงวันเลือกตั้งซ่อม นครศรีธรรมราช 7 มี.ค. ก็น่าจับตาอาการขบเหลี่ยมของสองพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจมีให้เห็นกันในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ ปลายเดือนนี้
ไม่ว่าจะเป็นการที่ทางที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะมีการพิจารณาญัตติขอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งวาระดังกล่าวถูกบรรจุเป็นเรื่องแรกในการประชุมร่วมรัฐสภาวันอังคารที่ 9 ก.พ.นี้แล้ว
เบื้องต้น แกนนำพลังประชารัฐ บอกไว้ว่า พรรคอาจมีมติให้ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐออกเสียงเห็นด้วยให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง
ที่ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ ตอนที่ส.ส.พลังประชารัฐไปร่วมลงชื่อกับสมาชิกวุฒิสภาเสนอญัตติดังกล่าว ทางประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนไม่เอาด้วยกับเรื่องนี้ เพราะมองว่าเป็นการซื้อเวลาเพื่อยื้อการแก้ไขรธน.
จึงน่าติดตามว่า หากส.ส.รัฐบาลและสว. ลงมติด้วยเสียงข้างมาก ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แล้วท่าทีของประชาธิปัตย์ ที่ต้องการเร่งให้แก้ไขรธน. จะเป็นอย่างไร หรือหากสุดท้าย โหวตแล้วเสียงไม่ถึงเกณฑ์ ทำให้ญัตติตกไป คำร้องไปไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ ทางพลังประชารัฐ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอดอยู่แล้ว จะมีอาการอย่างไรกับประชาธิปัตย์
และถัดจากนั้นไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ก็จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วง 16-19 ก.พ.และลงมติ 20 ก.พ.
รอบนี้ ศึกซักฟอก ไม่เหมือนครั้งที่แล้วตอนปี 2563 เพราะครั้งนั้น รัฐมนตรีที่โดนอภิปรายมีแต่คนของ ฝ่ายพลังประชารัฐและรมต.สายบิ๊กตู่ทั้งสิ้น แต่รอบนี้ มีชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์กับ นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยด้วย จึงต้องกันว่า ตอนลงคะแนนไว้วางใจ รัฐมนตรีของพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ จะได้คะแนนเท่ากันหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ทว่า หากให้วิเคราะห์สถานการณ์เฉพาะหน้า การลงมติในศึกซักฟอก การที่เรื่องจะไปถึงขั้นจะมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ หรือพลังประชารัฐ เล่นเกมกันตอนช่วงลงมติ จนมีการแหกโผมติวิปรัฐบาล ด้วยการลงมติ “งดออกเสียง” ตอนโหวตรมต.ของสองพรรค จนคะแนนเสียงไว้วางใจออกมาแตกต่างกัน ถึงตอนนี้ มองแล้ว ยากจะเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้น จะเป็นการแตกหักกันเกินไป ที่สำคัญ สถานการณ์ไม่ได้มีอะไรเป็นชนวนร้าวลึก ถึงขั้นต้อง แตกหัก กันขนาดนั้น
ดูแค่ซักฟอกรอบที่แล้วก็พอ ขนาดว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ ไม่พอใจการชี้แจงของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่ส.ส.ประชาธิปัตย์มองว่าหักล้างข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวไม่ได้ จนพรรคต้องเรียกประชุมด่วน และหลังถกเครียด สุดท้าย ก็มีมติ 24 ต่อ 17 ให้ลงมติไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส จน ส.ส.ประชาธิปัตย์ทุกคน ก็ต้องยอมลงมติให้ และมารอบนี้ คนของประชาธิปัตย์ ทั้งจุรินทร-นิพนธ์ ก็โดนซักฟอกด้วย ทำให้ประชาธิปัตย์จะมาเล่นเกมการเมืองกับพลังประชารัฐ ในศึกซักฟอก จากแค่ไม่พอใจเรื่อง การเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช
ชั่งน้ำหนักการเมืองแล้ว ประชาธิปัตย์ “ยุคจุรินทร์” ไม่มาเอาเรื่องเล็ก มาให้เสียการใหญ่ จนอยู่ร่วมรัฐบาลกับบิ๊กตู่และพลังประชารัฐ ไม่ได้ เพราะมันผิดวิสัย และไทม์มิ่งไม่พร้อมให้ต้องทุบหม้อข้าวตัวเอง
…………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”