วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“สนามเมืองหลวง”ศึกชิง“33 เก้าอี้ส.ส.” เดิมพันครั้งสำคัญของปชป.“ฟื้น-ไม่ฟื้น”
- Advertisment -spot_imgspot_img

“สนามเมืองหลวง”ศึกชิง“33 เก้าอี้ส.ส.” เดิมพันครั้งสำคัญของปชป.“ฟื้น-ไม่ฟื้น”

สนามเลือกตั้ง “กรุงเทพมหานคร” รอบนี้ จุดหนึ่งที่หลายคนสนใจก็คือ “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) จะสามารถฟื้นคืนชีพ กลับมามีส.ส.เขต กทม.ได้หรือไม่ หลังจากเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ปชป.แพ้หมดรูป ล็อกถล่ม ไม่ได้ส.ส.เขตสักคน อยู่ในสภาพ “สูญพันธุ์” ในสนามเลือกตั้งเมืองหลวง

เพราะหากเลือกตั้งรอบนี้ ปชป. ไม่สามารถฟื้นคืนชีพได้ ปชป.อาการหนักแน่ มีโอกาสจะได้ส.ส.ไม่ถึง 52 ที่นั่ง น้อยกว่าเลือกตั้งรอบที่แล้ว และคงทำให้ ไม่ใช่แค่ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค ที่ต้องเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิตตามที่เคยประกาศไว้ แต่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรค ก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคและคงยากจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคปชป.ได้อีกครั้ง!

ทั้งนี้ หากไปดูจากสถิติการเลือกตั้งย้อนหลัง สำหรับสนามกทม. โดยไล่ดูตั้งแต่ปี 2544 ที่เป็นเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรก ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ตั้งพรรคไทยรักไทย และอยู่ยาวมาถึงทุกวันนี้ จาก “ไทยรักไทย” มา “พลังประชาชน” จนมาเป็น “เพื่อไทย” ในปัจจุบัน

พบว่า นับแต่เกิดไทยรักไทยขึ้น สนามกทม. ก็เป็นการแข่งขันระหว่าง “ไทยรักไทย vs ประชาธิปัตย์”“ทักษิณ vs พรรคสีฟ้า” อย่างแท้จริง ก่อนที่จะมีพรรคการเมืองอื่นๆ เกิดขึ้นมาแทรก ในช่วงตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่เปลี่ยนไปใช้ระบบ “บัตรใบเดียว” เช่น พลังประชารัฐ-อนาคตใหม่ แต่สำหรับเลือกตั้งปี 2566 เมื่อกลับมาใช้บัตรสองใบอีกครั้ง จึงน่าสนใจว่า ผลเลือกตั้งสนามกทม.จะออกมาอย่างไร

การเมืองไทยเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

โดยเลือกตั้งปี 2544 สนามกทม.มี 37 ที่นั่ง มีพรรคการเมืองที่ได้ส.ส.กทม.แค่สองพรรค คือ ไทยรักไทยที่เพิ่งลงครั้งแรก กวาดส.ส.เขตกทม.ไปมากสุด แบบหลายคนไม่คาดคิด โดยได้ไป 29 ที่นั่ง  เกิด “นกแลการเมือง” ที่หลายคนตอนนี้ ก็ยังโลดแล่นการเมือง เป็นรัฐมนตรีกันไปก็หลายคน ส่วนประชาธิปัตย์ได้ไป 8 เก้าอี้ หายไปถึง 21 ที่นั่ง เทียบกับการเลือกตั้งเมื่อช่วงปี 2539  

ต่อมา ในการเลือกตั้งปี 2548 กระแสไทยรักไทยแรงสุดๆ ได้ส.ส.รอบนั้นถึง 377 เสียง ส่วน กทม.ได้ไป 37 ที่นั่ง โดยไทยรักไทยกวาดไป 32 เหลือให้ประชาธิปัตย์ 4 ที่นั่งและอีกหนึ่งคือ ชาติไทย” ได้แก่ “แบม-จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์”

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2550 ที่เป็นการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร คมช. ที่เปลี่ยนมาใช้ระบบเลือกตั้ง แบบพวงใหญ่-หนึ่งเขตมีส.ส.ได้สามคน พบว่า รอบดังกล่าว กทม.มีส.ส.เขตกทม. 36 คน ผลออกมา “ประชาธิปัตย์” ผงาด ได้ 27 ที่นั่ง ชนะ พลังประชาชน” ที่ได้ไปแค่  9 ที่นั่ง

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 สนามกทม.เหลือส.ส.จาก 36 คนเป็น 33 คน ที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ ปชป. ตกลงเล็กน้อย โดยได้ส.ส.เขตกทม. 23 ที่นั่ง ส่วนเพื่อไทยได้ 10 ที่นั่ง

และการเลือกตั้งปี 2562 หลังหมดยุคคสช. ที่เกิด “พลังประชารัฐ” และ “กระแสลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ “อนาคตใหม่” ที่มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นหัวหน้าพรรค ผสมกับเหตุการณ์ “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ” ผลปรากฏว่า “พลังประชารัฐ” ได้ส.ส.เขตมากสุด 12 เก้าอี้ ตามด้วย “เพื่อไทย” และ “อนาคตใหม่” หรือ “ก้าวไกล” ในปัจจุบัน ที่ได้ 9 คน เท่ากัน ส่วน “ปชป.” สูญพันธุ์ จากผลพวงกระแสลุงตู่ และยุทธศาสตร์การหาเสียงของปชป.ที่ผิดพลาด โดยเฉพาะการประกาศของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคปชป.เวลานั้นที่ว่า “ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์” ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ผลเลยทำให้ คนกทม.ส่วนใหญ่ที่ไม่เอา “เพื่อไทย” เลยเทเสียงให้ “พลังประชารัฐ” เกือบหมด ปชป.เลยแพ้ยับ “อภิสิทธิ์” ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค

จากภาพรวมสนามเลือกตั้งกทม.นับย้อนหลังไป 5 ครั้งที่ผ่านมา จึงน่าสนใจว่า เลือกตั้ง 2566  คนกทม.จะให้โอกาส พรรคปชป. ได้กลับมามีส.ส.เขตกทม.อีกครั้งหรือไม่ ?

นี้คือบทพิสูจน์ตัวเองที่สำคัญของปชป. ที่หากทำไม่ได้ ก็อาจทำให้ ปชป.ยากที่จะกลับมาในสนามกทม.ในระยะยาวก็ได้ หลังตอนนี้ มีพรรคคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาอีกในสนามกทม.เช่น รวมไทยสร้างชาติ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา – ไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ – ภูมิใจไทย ของอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นต้น ที่รอจะเบียดชิงเก้าอี้ส.ส.เขต กทม.ทำให้เป็นงานยากไม่น้อยของปชป.ในการทวงคืนเก้าอี้ส.ส.เขตกทม.

องอาจ คร้ามไพบูลย์

ข่าวว่า ทีมหาเสียงปชป.ในสนามกทม.ที่นำทีมโดย “องอาจ คล้ามไพบูลย์“ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค” ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. และ “ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม.ตั้งเป้าไว้ว่า เลือกตั้งรอบนี้ ปชป.ต้องได้ส.ส.เขตกทม. ประมาณ 6-8 เก้าอี้เป็นอย่างต่ำ

เพราะมองว่า ปชป.กระแสพรรคฟื้นแล้ว จากผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อปี 2565 ที่ “ดร.เอ้” ได้คะแนนมาอันดับสอง รองจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อีกทั้งพรรคได้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครมา 9 ที่นั่ง ผนวกกับการที่ “พลังประชารัฐ” ทัพแตก พล.อ.ประยุทธ์ออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะทำให้ ทั้งพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ อ่อนแรงด้วยกันทั้งสองพรรค จนทำให้คนกทม.ที่ไม่เลือก เพื่อไทย-ก้าวไกล” จะมาเลือกปชป.แทนที่จะไปเลือก “รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ”

โดยปชป.ได้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขตกทม.อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง วันดังกล่าว “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคปชป. ประกาศระหว่างการแถลงเปิดตัวดังกล่าวว่า จิตวิญญาณของประชาธิปัตย์ในกทม.กำลังกลับคืนมา เสียงดีขึ้นตามลำดับ พรรคให้ความสำคัญกับกทม. เพราะนอกจากจะเป็นเมืองหลวงแล้ว ยังเป็นลมหายใจของพรรค

สำหรับรายชื่อผู้สมัครส.ส.เขตกทม.รอบนี้ มีทั้งอดีตส.ส.เขตกทม.ที่สอบตกในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว รวมถึงผู้สมัครหน้าใหม่ หลายคนที่พรรคดันขึ้นมา โดยบางคนก็เคยเป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่น เช่น ส.ก.-ส.ข.มาก่อน บางคนก็เป็นผู้สมัครหน้าใหม่เลยจริงๆ ไม่เคยลงมาก่อน

ซึ่งเขตเลือกตั้ง ที่พรรคปชป. คาดหวังว่าจะได้รับชัยชนะ พอมีลุ้นก็มีหลายคน อาทิเช่น เขตเลือกตั้งที่ 1 เขตพระนคร ป้อมปราบฯ สัมพันธวงศ์ ดุสิต ที่ส่ง “เจิมมาศ จึงเลิศศิริ” อดีตส.ส.เขตนี้ 3 สมัย ลงทวงเก้าอี้คืน ซึ่งรอบนี้ “เจิมมาศ” ได้ลูกสาว “นิพาพรรณ” ที่เพิ่งเข้าไปเป็นส.ก.มาช่วยสนับสนุนการหาเสียงด้วย ทำให้อาจมั่นใจว่าจะมีลุ้นได้กลับมาเป็นส.ส.อีกรอบ

และยังมีเขตเลือกตั้งที่ 3 เขตบางคอแหลม ยานนาวา ซึ่งเป็นเขตที่ ปชป.ครองที่นั่งมาตลอดหลายครั้ง แต่รอบที่แล้ว พลาดให้กับ “อนาคตใหม่” มารอบนี้ อดีตส.ส.อดีตผู้สมัครครั้งที่แล้ว ที่เคยเป็นส.ส.เขตนี้มาก่อน “ม.ล.อภิมงคล โสณกุล” ไม่ลง ทำให้พรรคส่ง “อภิมุข ฉันทวานิช” ที่ลงสมัครเขตเดิมของบิดาตัวเอง คือ “สมเกียรติ ฉันทวานิช” อดีตส.ส.กทม. เขตยานนาวา โดย “อภิมุข” ถือเป็นผู้สมัครที่ประชาธิปัตย์คาดหวังไม่น้อยเพราะเป็นอดีต ส.ก. 3 สมัย

พรรคประชาธิปัตย์เปิดตัว 33 ว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม.

หรือเขตเลือกตั้งที่ 4 เขตคลองเตย วัฒนา หลังอดีตส.ส.อดีตผู้สมัครคนเดิม “อนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกรัฐบาลปัจจุบัน ย้ายออกจากพรรคนานแล้วเพื่อไปพลังประชารัฐ แต่ล่าสุดย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ พรรคเลยส่ง  “ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง” อดีตโฆษกกทม. ลูกชายของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม. ที่ไม่ได้ไปเข้ารวมไทยสร้างชาติตามพ่อ ด้วยเหตุผลเชิงพื้นที่ เพราะมาอยู่ประชาธิปัตย์จะได้แรงหนุนจาก ส.ก.คลองเตย “สุรชัย พงษ์เพียรชอบ” หรือ “ต่าย คลองเตย” อดีตทีมงานพล.ต.อ.อัศวิน สมัยเป็นผู้ว่าฯกทม. มาช่วยหาเสียงให้ เป็นต้น

สำหรับสนามเลือกตั้ง กทม.รู้กันดี ส่วนใหญ่วัดกันสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง โดยเป็นสนามที่ “กระแส” มีส่วนสำคัญในการชี้ชะตาว่า “ใครจะชนะหรือแพ้”

ที่ว่ากันตามสภาพ กระแสพรรคปชป.เวลานี้ในกทม. ยังเป็นรองพรรคอื่นอยู่เยอะ จึงเป็นงานยากไม่น้อย ของพรรคปชป. ที่หวังจะฟื้นกลับมาได้ในสนามกทม.!

………………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img