รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และ แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โหมหาเสียงอย่างหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งการเดินสายทำบุญไหว้พระช่วงหยุดยาวสงกรานต์ 3 วัดรวด เมื่อ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่วัดพิชัยญาติการามวรวิหาร, วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร และวัดระฆังโฆสิตาราม โดยมีซีนหาเสียงเรียกเรตติ้งคือ ไปเดินตลาดวังหลัง-ถนนข้าวสาร มีการร่วมเล่นฉีดน้ำสงกรานต์กับประชาชนด้วย
จากนั้นวันที่ 16 เม.ย. ก็ไป 3 ตลาดสำคัญในกทม.คือ บองมาร์เช่-อตก.-จตุจักร และตามด้วย 20 เม.ย.ที่ไปสวนลุมพินีและถนนเยาวราช
ทั้ง 3 นัดที่ “บิ๊กตู่” เดินสายลงพื้นที่หาเสียงกับแกนนำ รทสช.และผู้สมัครส.ส.กทม.ของ รทสช. โดยภาพรวม ถือได้ว่าช่วยสร้างเรตติ้ง-กระแสให้กับพรรค รทสช.ได้แน่นอน
ขณะเดียวกัน ก็น่าจะเป็นการช่วยดึงคะแนนให้กับผู้สมัครส.ส.เขตกทม.ของ รทสช.ได้ด้วย เพราะกระแสนิยมของพรรค รทสช.และตัวผู้สมัคร ยังเป็นรอง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและพบว่าหลายเขตเลือกตั้ง ยังเป็นรองพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ทั้ง “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” จะมีก็แค่มีคะแนนนำเหนือกว่า “พลังประชารัฐ” แบบทิ้งห่างหลายช่วงตัว
ในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายของการหาเสียง “บิ๊กตู่-แกนนำ รทสช.” จึงต้องวางหมากกันให้รัดกุมในการสร้างกระแสพรรคให้แซงหน้าคู่แข่งจากฝ่ายเดียวกัน ทั้ง “ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย” ไปให้ได้ ซึ่งก็ไม่ง่าย เพราะตัวผู้สมัครส.ส.เขตของ รทสช. ในกทม.ต้องยอมรับว่า เป็นรองค่อนข้างมาก บางคนก็เรียกว่า “โนเนม” ทั้งในระดับชาติและพื้นที่ จนหลายคนในพรรค ก็ยังสะท้อนตรงกันว่า น่าจะคัดเลือกตัวที่ดีกว่านี้ได้
ล่าสุดมีข่าวออกมา ช่วงสุดสัปดาห์โดยอ้างอิง โพลจากหน่วยงานความมั่นคงของกองทัพ ระบุว่า “รทสช.จะได้ส.ส.เขต กทม.แค่ 5 ที่นั่ง จาก 33 เขต”
โดย “เพื่อไทย” ได้เยอะสุดคือ 15 เก้าอี้ ที่ก็เกือบจะแลนด์สไลด์ เกินกึ่งหนึ่งของ 33 ส่วน “ก้าวไกล” จะได้ 10 ที่นั่ง
นอกนั้นก็แบ่งๆ กันไป ระหว่าง “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” โดยมีพรรคสอดแทรกคือ “ไทยสร้างไทย” ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่โพลความมั่นคงบอกว่า จะได้ 2 เก้าอี้
อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรค รทสช.และ “บิ๊กตู่” คงไม่พอใจแน่ หากพรรคได้ส.ส.เขต แค่ 5 ที่นั่ง เพราะเป้าหมายที่พรรควางไว้คือ ขั้นต่ำ 8-10 เก้าอี้ ทำให้ช่วงเวลาที่เหลือต่อจากนี้ คาดว่า พรรค รทสช.ต้องพยายามเร่งสร้างกระแสพรรคในกทม. โดยเฉพาะกลุ่มที่จะเลือกพรรคฝ่ายรัฐบาล ให้เทเสียงเลือก รทสช.แบบเด็ดขาดไม่เลย ไม่แตกไปให้พรรคอื่นในขั้วเดียวกันอย่าง “ปชป.-ภท.” จึงทำให้จะเห็นได้ว่า ช่วงหลัง “แกนนำพรรค รทสช.” พยายามหาเสียงแบบให้คนเลือก “รวมไทยสร้างชาติ” ทั้งสองใบ เพื่อทำให้ “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯอีกรอบ
จึงน่าสนใจว่า การขยับของ รทสช.ในช่วง 3 สัปดาห์ต่อจากนี้ จะสามารถทำให้กระแสพรรค และกระแส “ลุงตู่” ในช่วงโค้งสุดท้ายดีขึ้น จนทำให้คนกทม.เลือก รทสช.มากกว่า 5 ที่นั่งได้หรือไม่
โดยเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่ “พล.อ.ประยุทธ์” นายกฯและประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีท่าทีต้องการให้มีการใช้มาตราการเอาเงินรัฐมาสนับสนุนเรื่อง “ค่าไฟฟ้า” ให้กับประชาชนทั่วประเทศ จากปัญหาค่าไฟแพง ที่คนบ่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง และพรรคที่ดูจะตกเป็นเป้ามากที่สุด ก็คือ “รทสช.” เพราะนายกฯเป็นประธานคณะกรรมกานโยบายพลังงานแห่งชาติ และ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ทีมเศรษฐกิจพรรค ผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 2 ก็เป็น “รมว.พลังงาน” จึงต้องรับไปเต็มๆ กับกระแสไม่พอใจของประชาชนที่ค่าไฟพุ่งกระฉูด
โดยท่าทีดังกล่าวของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกมองว่า จะใช้เรื่องการช่วยเหลือประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้า มาเป็นหนึ่งในการเรียกคะแนนนิยมทางการเมืองหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตามกฎหมาย ตอนนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลรักษาการ การใช้งบใดๆ ต้องหารือและให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบเสียก่อน
จึงน่าสนใจว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะเสนอเรื่องให้กกต.พิจารณาอนุมัติหรือไม่ และหากจะทำจริง จะใช้เงินจากงบประมาณในส่วนไหน?
หรือสุดท้าย “บิ๊กตู่” จะถอย เพราะประเมินแล้วว่า หากจะดันเรื่องดังกล่าว อาจถูกมองว่าเป็นการหาเสียง อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโจมตีได้ ก็อาจทำให้ชะลอการเดินหน้าเรื่องนี้ เพราะล่าสุด เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ได้เห็นชอบตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้า วงเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท แทนประชาชนจาก 5 งวด หรือ 20 เดือน งวดละ 27,000 ล้านบาท เป็น 6 งวด หรือ 24 เดือน งวดละ 22,000 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ (พ.ค.-ส.ค.66) ลดลง 7 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิม 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย
โดยหลังจากนี้บอร์ดกกพ. จะพิจารณาวันที่ 24 เม.ย. เพื่อมีมติเปิดรับฟังความเห็น 5-7 วัน และเสนอบอร์ดกกพ. พิจารณาเคาะราคาเพื่อประกาศใช้ต่อไป
ซึ่งมีรายงานว่า ตามขั้นตอนการพิจารณาของ กกพ. ทันบิลค่าไฟรอบเดือนพ.ค.แน่นอน เพราะบิลค่าไฟจะเริ่มออกตั้งแต่ 10 พ.ค.เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม หากพล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าให้มีการนำงบประมาณมาช่วยพยุงค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน แน่นอน…ผลทางจิตวิทยาการเมือง ยังไงก็เรียกคะแนนให้กับพล.อ.ประยุทธ์และพรรค รทสช.ได้ระดับหนึ่ง เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อย ก็ต้องมองว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจความเดือดร้อนประชาชน เลยพยายามหาวิธีช่วยเหลือ ทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟให้น้อยลง
กระนั้น ฝ่ายพรรคการเมืองคู่แข่ง ก็ต้องออกมาวิจารณ์ว่า เป็นเรื่องทางการเมืองเพื่อหาคะแนนเสียง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติทางการเมือง ที่แต่ละฝ่ายจะต้องพยายามช่วงชิงคะแนนเสียง โดยใช้ความได้เปรียบในฝั่งตัวเองให้มากที่สุด
สำหรับพื้นที่ กทม. พบว่า เขตเลือกตั้งที่แกนนำพรรค รทสช.ประเมินว่า น่าจะชนะเลือกตั้งได้ในครั้งนี้ ก็มีอาทิเช่น 2 เขตเลือกตั้งเดิม ของ 2 อดีตส.ส.พลังประชารัฐ ที่ย้ายมา รทสช.คือ เขตเลือกตั้งที่ 14 เขตบางกะปิ, เขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์) “น.ส.ฐิติภัตร์ โชติเดชาชัยนันต์” และเขตเลือกตั้งที่ 21 เขตประเวศ (ยกเว้นแขวงหนองบอน), เขตสะพานสูง (เฉพาะแขวงทับช้าง) “ประสิทธิ์ มะหะหมัด”
นอกจากนี้ โซนกทม.ชั้นใน ก็เป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของ รทสช.ที่จะเอาชนะให้ได้ เพราะคีย์แมนพรรค รทสช.ประเมินว่า คนกทม.โซนชั้นใน ที่จำนวนไม่น้อยเป็นพวกชนชั้นกลาง ค่อนข้างชื่นชอบรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์
อีกทั้งที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งหลายครั้ง พื้นที่กทม.โซนชั้นใน ก็เป็นพื้นที่ซึ่ง “เพื่อไทย” เจาะเข้าไปได้ยาก เห็นได้จากหลายครั้งที่ผ่านมา “เพื่อไทย” แทบไม่เคยมีส.ส.กทม.โซนชั้นใน จนต้องใช้วิธีไปดึงอดีตส.ส.กทม.โซนชั้นในจากพรรคอื่นมาอยู่ด้วย อย่างเลือกตั้งรอบนี้ ก็ได้ “กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ” ที่ย้ายมาจากพลังประชารัฐ มาลงในเขต 1 บางรัก, เขตพระนคร, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตสัมพันธ์วงศ์, เขตดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี) แต่ “กานต์กนิษฐ์” ก็เจองานหิน ในการสู้กับ “พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์” จากรวมไทยสร้างชาติ ที่ “บิ๊กตู่” ไปช่วยเดินหาเสียงให้ที่เยาวราช รวมถึงยังมี “เจิมมาศ จึงเลิศศิริ” ประชาธิปัตย์ อดีตส.ส.เขตนี้ 3 สมัย รอทวงแชมป์คืนอีก
ส่วนเขตอื่นๆ ที่ รทสช.คาดหวังก็มีอีกเช่น เขต 2 พื้นที่โซนชั้นใน ปทุมวัน ราชเทวี สาธร ที่ส่ง “ศิรินันท์ ศิริพานิช” ที่ “บิ๊กตู่” ไปช่วยหาเสียงให้ที่สวนลุมพินี, เขตเลือกตั้งที่ 3 เขตบางคอแหลม, เขตยานาวา ที่ส่ง “เนวินธุ์ ช่อชัยทิพย์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเขตที่ รทสช.คาดหวังไว้ว่าจะชนะเช่นกัน, เขตเลือกตั้งที่ 6 เขตพญาไท, เขตดินแดง ซึ่งผู้สมัครของ รทสช.คือ “อรพินทร์ เพชรทัต” ซึ่งครั้งที่แล้วลงสมัครสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และแพ้แบบเฉียดฉิว เป็นต้น
หาก “รทสช.” สามารถได้ส.ส.กทม.ขั้นต่ำ 8-10 ที่นั่ง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และน่าจะทำให้เป็นการสกัดแลนด์สไลด์ของ “เพื่อไทย” ไปในตัวด้วย
คาดว่าช่วงโค้งสุดท้าย “บิ๊กตู่” และ “รทสช.” คงโหมการหาเสียงมาที่สนาม กทม.ค่อนข้างหนัก และนั่นจะทำให้พรรคฝ่ายรัฐบาลด้วยกันที่หวังได้ส.ส.เขตกทม.เช่นกันอย่าง “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ก็จะเจองานหนัก หากกระแส เลือก รทสช.-เลือกลุงตู่ กลับไปเป็นนายกฯอีกครั้ง มาแรงในกทม.ช่วงสัปดาห์สุดท้าย
………………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”