สถานการณ์ช่วง 7 วันสุดท้าย ก่อนวันเลือกตั้งของ “พลังประชารัฐ” (พปชร.) หรือ “พรรคลุงป้อม” พบว่า หากพิจารณาจากผลโพลหลายสำนัก ทั้งโพลสถาบันการศึกษาต่างๆ และโพลสื่อหลายสำนัก พบว่า มีแนวโน้มที่ “พปชร.” ซึ่งก่อนหน้านี้ ถูกมองว่า จะเป็นพรรคที่ได้ส.ส.มาเป็นอันดับ 3 รองจาก “เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย”
แต่ตอนนี้เมื่อ “กระแสก้าวไกล” แรง ที่ยังไม่รู้ได้ว่า “แรงจริง” หรือ “แรงเพราะการปั่นกระแส” แต่หากแรงจริง แล้วมาเป็นพรรคอันดับ 2 รองจาก “เพื่อไทย” หรือแม้แต่อันดับ 3 รองจาก “ภูมิใจไทย” ก็ทำให้ พปชร.” ก็อาจจะได้ส.ส.หลังเลือกตั้งมาอันดับ 4
แต่ก็มีบางส่วนจะมองว่า “พปชร.” ไม่แน่ อาจจะได้ส.ส.น้อยกว่า “พรรคลุงตู่-รวมไทยสร้างชาติ” จนอาจมาเป็นอันดับ 5 เลยด้วยซ้ำ
เพราะมีแนวโน้มที่ “พปชร.” จะสูญเสียที่นั่งส.ส.เขตจากเดิมตอนปี 2562 ที่จะได้ 2 ฐานที่มั่นสำคัญ คือ “กรุงเทพมหานคร-ภาคใต้” ให้กับ “พรรคลุงตู่” เพราะคนกทม.และคนภาคใต้ ที่เคยเลือก “พปชร.” ตอนเลือกตั้งปี 2562 เพราะ “กระแสลุงตู่” ก็น่าจะหันไปเลือก “พรรคลุงตู่” แทน “พปชร.” แล้ว
อย่าง “กทม.” ที่ตอนเลือกตั้งปี 2562 เคยได้ส.ส.เขตกทม.ถึง 12 ที่นั่งจากกระแสลุงตู่ มารอบนี้เมื่อ พปชร.” ไม่มีลุงตู่แล้ว จึงน่าจะทำให้ “พปชร.” น่าจะเหลือส.ส.เขตกทม.น้อยลงมาก จนบางคนบอกว่าอาจได้ไม่เกิน 1-2 ที่นั่ง แต่บางส่วนก็บอกว่า มีแนวโน้มถึงขั้นไม่แน่ อาจ “สูญพันธุ์” ในกทม.ซ้ำรอย “ประชาธิปัตย์” เมื่อตอนเลือกตั้งปี 2562 ก็ยังได้!
อย่างไรก็ตาม “พปชร.” ก็ยังมีลุ้นส.ส.ได้อีกหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก เช่น สมุทรปราการ ที่มีกลุ่มบ้านใหญ่ “อัศวเหม” ปักหลักอยู่ หรือ สระแก้วของบ้านใหญ่ตระกูล “เทียนทอง” และยังมีอีกบางจังหวัดในภาคเหนือตอนบน เช่น พะเยา ที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ก็ต้องทำให้พรรคได้ส.ส.พะเยายกจังหวัด รวมถึงอีสานบางจังหวัด เช่น นครราชสีมา ซึ่งบ้านใหญ่ตระกูล “รัตนเศรษฐ์” ของ “วิรัช” ก็หวังลุ้นชนะได้หลายเก้าอี้ ซึ่งหากได้ส.ส.หลังเลือกตั้งสักระดับ 50-60 เสียงเป็นอย่างต่ำ จะทำให้ “พปชร.” กลายเป็น “พรรคตัวแปร” ที่สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งขั้วอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม หรือขั้วฝ่ายค้านเดิม ที่นำโดย “เพื่อไทย”
เช่น หากพรรคขั้วอนุรักษ์นิยมหรือพรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน คือ “รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” รวมเสียงกันแล้วเกิน 250 เสียง แบบนี้ก็จบเลย ก็ตั้งรัฐบาลได้เร็ว เพียงแต่ก็ต้องให้ ทั้ง “ลุงตู่-ลุงป้อม” และ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” จาก “ภูมิใจไทย” มาตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ
แต่หากขั้วรัฐบาลปัจจุบัน รวมเสียงกันไม่เกิน 250 เสียง ที่หมายถึง ฝ่าย “เพื่อไทย-ก้าวไกล” รวมเสียงกันแล้วเกิน 250 เสียง คราวนี้ก็ต้องมาดูวว่า ฝ่ายทักษิณ-เพื่อไทย ที่น่าจะได้ส.ส.มากที่สุด จะตั้งรัฐบาลแบบไหน เพราะเมื่อตอนนี้คนในเพื่อไทยและก้าวไกล ตั้งเงื่อนไขการตั้งรัฐบาลไปล่วงหน้าแล้ว เช่น “เศรษฐา ทวีสิน” บอกว่า “เพื่อไทยไม่จับมือกับพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล” หรือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” บอกว่า “มีเรา ไม่มีลุง-มีลุง ไม่มีเรา”
แบบนี้ “ตัวทักษิณ” ก็ต้องไปคิดว่าจะเอาแบบไหน จะจับมือกับ “ก้าวไกล” และ “พรรคอื่นๆ” เช่น อดีตฝ่ายค้านเดิมและเติมด้วยพรรคต่างๆ เช่น “ไทยสร้างไทย” ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-“ชาติไทยพัฒนา” จนได้ระดับ 200 กว่าเสียง หรือเกิน 300 เสียง แล้วก็ไปรอลุ้นผลโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าคงจะเลือกนายกฯที่เสนอไป เพราะเชื่อว่า ยังไงสว.คงไม่ขวาง หรือล้มการเลือกนายกฯ เพื่อหวังให้เกิด “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” จาก “ขั้วอนุรักษ์นิยม”
เพราะหากทำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะบริหารประเทศไม่ได้ รวมถึง “ทักษิณ” ก็ยอมเสี่ยงที่จะเอา “ก้าวไกล” มาเป็นรัฐบาล แล้วขอให้ “ก้าวไกล” ลดโทนการเมืองตัวเองลง ไม่ให้ร้อนแรงมาก แบบนี้ก็ไม่แน่ “พปชร.” ก็อาจต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน ไปพร้อมกับ “รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์”
แต่หาก “ทักษิณ” ประเมินแล้ว ถ้าตั้งรัฐบาลกับก้าวไกล ก็เหมือนกับพกระเบิดเวลาไว้กับรัฐบาลเพื่อไทยตลอดเวลา
เพราะคิดว่า“ก้าวไกล” คงไม่ยอมลดโทนตัวเองลง เช่น ยืนยันพรรคจะเดินหน้าแก้ม. 112 ให้ได้หลังเปิดสภาฯ หรือ “ก้าวไกล” ยืนยันให้เอานโยบายปฏิรูปกองทัพ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ที่อาจทำให้รัฐบาล มีปัญหากับกองทัพตั้งแต่เริ่มเข้าไปทำงาน
ถ้าแบบนี้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ก็อาจตั้งรัฐบาลกับ “พปชร.” ที่จะทำให้ได้เสียงสว.มาหนุนตอนโหวตนายกฯด้วย เพราะ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” สามารถเชื่อมกับสว.ได้อย่างต่ำก็ร่วมๆ 70-80 เสียง และหากอยากให้เป็นรัฐบาลเข้มแข็งมากขึ้นไปอีก ก็อาจดึง “ภูมิใจไทย” มาร่วมด้วยอีกพรรคก็ยังได้
โดย “บิ๊กป้อม” เอง ก็ไม่ได้เงื่อนไขเรื่องการเป็นนายกฯอะไรอยู่แล้ว ขอเพียงให้ “พชปร.” ได้เป็นรัฐบาลก็พอใจ เพราะ “บิ๊กป้อม” ก็รู้ดีว่า ด้วยวัยขนาดนี้ เหลืออายุการเมืองอีกไม่กี่ปี ถ้าได้กลับมาเป็นรองนายกฯอีกรอบ ก็น่าจะพอใจแล้ว
ที่สำคัญ ด้วยโครงสร้างพรรค “พปชร.” ที่เป็นการรวมกันของแกนนำพรรค-นักเลือกตั้ง แบบหลวมๆ ไม่ได้มีความผูกพันอะไรทางการเมือง หลายคนในพปชร.โดยเฉพาะพวกแกนนำพรรคสายนักเลือกตั้งโดยสายเลือด ต่างพร้อมชิ่งออกจาก “พปชร.”ได้ทุกเมื่อ หากมีทางเลือกที่ดีกว่า
ของแบบนี้ มีหรือที่ “พล.อ.ประวิตร” จะไม่รู้ว่า หาก “พปชร.” ไม่ได้เป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ต้องกลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน ก็ทำให้หากมีการเลือกตั้งรอบต่อไป แกนนำพรรคหลายคนก็คงแยกย้ายหาพรรคใหม่อยู่กันต่อไป
เช่น “สันติ พร้อมพัฒน์” เลขาธิการพรรค ก็อาจขอย้ายกลับ “เพื่อไทย” ตามรอย “สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สนธยา คุณปลื้ม” ก็ยังได้ เพราะ “สันติ” ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับ “ทักษิณ” และไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งกับแกนนำเพื่อไทยแบบรุนแรง อาจมีแค่ขัดกับบางคน อย่าง “เสี่ยเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล” เท่านั้น แต่ปัจจุบัน “เสี่ยเพ้ง” ก็ห่างจาก “เพื่อไทย” นานแล้ว หรือบ้านใหญ่ “เทียนทอง” ของ “ขวัญเรือน เทียนทอง-ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ” ที่สระแก้ว ก็อาจย้ายไป “ภูมิใจไทย” เป็นต้น
ดังนั้น “บิ๊กป้อม” หากต้องการให้ “พปชร.” ยังอยู่ได้ต่อไปในถนนการเมือง และตัวเองยังมีอำนาจหลังเลือกตั้ง ก็ต้องดิ้นรนทำให้ “พปชร.” เป็นพรรครัฐบาลเท่านั้น เพราะถ้า “พปชร.” ไม่มีอำนาจการเมืองหลังเลือกตั้ง ต้องกลายเป็น “ฝ่ายค้าน” ที่เป็นบทบาทซึ่งคนในพปชร.ไม่มักคุ้น มันก็ทำให้แนวโน้มที่ “พปชร.” จะกลายเป็นพรรคที่ได้ส.ส.ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
และนั่นหมายถึง กลุ่มทุนที่จะมาหนุนหลังพรรคพปชร. ก็จะค่อยๆ หายไป จนทำให้ “พปชร.” บทบาทการเมืองก็จะค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป จนคนในพรรค-แกนนำพรรค แต่ละคนแต่ละกลุ่ม ก็จะแยกย้ายออกจากพปชร.ไปเองโดยธรรมชาติการเมือง ที่ต้องหาบ้านหลังใหม่สังกัด
จึงเห็นได้ชัด หากหลังเลือกตั้ง “พปชร.”ไม่ได้เป็นพรรครัฐบาล ก็มีแนวโน้มสูง ว่าเลือกตั้งรอบต่อไป “พปชร.” มีความเสี่ยงสูงที่จะ “พรรคแตก”
ยิ่งหาก “บิ๊กป้อม” วางมือ จากเงื่อนไขเรื่องอายุที่มากขึ้น และคนใกล้ชิดสายป่ารอยต่อฯ อย่าง น้องชาย “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” อดีตผบ.ตร. ไม่เล่นการเมืองตามรอยพี่ชาย แบบนี้ “พปชร.” ก็ขาดเสาหลัก ทุกอย่างก็จะเข้าเงื่อนไข “พชปร.” รอวันแตก !
………………………………………
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”