ผลทางคดีหุ้นสื่อไอทีวีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กำลังลุ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย กำลังใกล้ถึงจุดพีก
หลังมีข่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะให้มีการรับรอง “พิธา” เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไปก่อน ที่คาดว่าจะออกมาภายในเดือนมิ.ย.นี้ จากนั้น จะมีการพิจารณาสำนวนที่กกต.มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าว ว่ามีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพียงพอหรือไม่ว่า “พิธา” รู้ตัวเองมาตลอด ว่าถือหุ้นสื่อไอทีวี ก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งปี 2562 และ 2566 อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้สมัครส.ส.ถือหุ้นสื่อ ก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง
โดยถ้า กกต.เห็นว่า “พิธา” รับรู้เรื่องดังกล่าวและมีเจตนา ที่จะถือหุ้นดังกล่าวไว้ จนลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้ง ทาง กกต. ก็อาจจะมีการเอาผิดทางคดีอาญา ตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ มาตรา 151
รวมถึงยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยตามมาตรา 82 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
โดยกรณีของ “พิธา” หากยื่นตามช่องทางดังกล่าว จะไปตรงกับ มาตรา 101 ที่เป็นมาตราว่าด้วยเรื่องของ “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง”
ซึ่งในมาตราดังกล่าว มีทั้งสิ้น 13 วงเล็บ แต่กรณีของ “พิธา” จะไปเข้า มาตรา 101(6) ที่เป็นเรื่องของ การสมาชิกสภาการเป็นส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ที่ก็คือ ถือหุ้นสื่อนั่นเอง
นั่นหมายถึง “คดีพิธา” ในชั้น “กกต.” หากเห็นว่า “ไอทีวี” เป็นหุ้นสื่อ และ “พิธา” มีเจตนาถือหุ้นสื่อมาโดยตลอด อันเป็นฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 98
การดำเนินของกกต.ก็จะไป 2 ช่องทางข้างต้น เพียงแต่ 2 ช่องทางดังกล่าว มีจุดสำคัญที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องของกรอบเวลา-กระบวนการพิจารณาคดี
คือ เมื่อคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ คดีจะเดินไปเร็ว เต็มที่ไม่น่าจะเกิน 6 เดือน เพราะอย่างกรณี “หุ้นสื่อวีลัคมีเดีย” ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ตอนปี 2562 กกต.ส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญช่วงพ.ค.2562 และศาลวินิจฉัยตัดสินเสร็จเดือนพ.ย.2562 ที่ทำให้ “ธนาธร” หลุดจากส.ส.
หากไปช่องทางนี้ ขั้นตอนจะจบเร็ว และหากกกต.ส่งคำร้องไปเร็ว ก่อนวันที่รัฐสภาจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็อาจเป็นไปได้ที่ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมีคำสั่งให้ “พิธา” หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่การเป็นส.ส.ไว้ก่อน
ถ้าผลออกมาแบบนี้ ก็จะเป็นเหตุผลให้สมาชิกวุฒิสภา หยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการจะไม่โหวตให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรีได้มากขึ้น
ส่วน การเอาผิด “พิธา” ตามมาตรา 151 พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ กระบวนการดังกล่าว ก็คือ กกต.ต้องมีมติดำเนินคดีอาญากับ “พิธา” ว่ามีเจตนาลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ตัวเองไม่มีสิทธิลงสมัครเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
โดยขั้นตอนก็คือ กกต.ต้องมีมติดำเนินคดีอาญา จากนั้นส่งเจ้าหน้าที่ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ของสำนักงานกกต. และหากตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ส่งอัยการ โดยหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ส่งฟ้องต่อศาลอาญาฯปกติ แต่หากอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องส่งเรื่องกลับไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ “ผบ.ตร.” มีความเห็น ซึ่งหาก “ผบ.ตร.” มีความเห็นแย้ง ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด โดยหากอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา แต่หากอัยการสูงสุด ยืนยันสั่งไม่ฟ้อง คดีก็สิ้นสุดลงทันที
ซึ่งหากคดีมีการยื่นฟ้องเอาผิด “พิธา” ต่อศาลอาญา กระบวนการทางคดีจะต้องไปถึง 3 ศาล คือ ศาลอาญา-ศาลอุทธรณ์-ศาลฎีกา ใช้เวลารวมแล้วน่าจะร่วมเกือบ 10 ปี หากแต่ละฝ่ายมีการยื่นอุทธรณ์และฎีกา
ทว่าก็ไม่แน่เช่นกัน เพราะท้ายสุด “อัยการ” อาจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องก็ได้ เพราะคดีถือหุ้นสื่อของ “ธนาธร” ทาง กกต. ก็มีการแจ้งความดำเนินคดีกับ “ธนาธร” หลังศาลรธน.วินิจฉัยว่าถือหุ้นสื่อ จนหลุดจากส.ส. แต่สุดท้ายอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง และแม้ต่อมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นแย้ง ให้สั่งฟ้อง แต่อัยการสูงสุดก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเพราะมองว่า “ธนาธร” ไม่มีเจตนา
ดังนั้น เรื่องคดีอาญา ดูแล้วมันยังอีกยาวไกล และคดีมีสิทธิ์พลิกได้
โดยมาตรา 151 ของพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี
ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมา เนื่องจากการดํารงตําแหน่งดังกล่าวให้แก่สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย”
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้สูงที่ กกต.จะยังไม่มีมติดำเนินคดีอาญากับ “พิธา” จนกว่าจะรู้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรธน.มีคำวินิจฉัยว่า “พิธา” ถือหุ้นสื่อ ก็คาดว่า กกต.ก็คงจะเอาผิด “พิธา” คดีอาญาตามมา เพราะยิ่งทำให้การเอาผิดกับ “พิธา” มีน้ำหนักมากขึ้น
แต่หากศาลยกคำร้อง ก็เป็นไปได้ ที่กกต.อาจไม่เอาผิดคดีอาญากับ “พิธา” ก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร
กระนั้น ทั้งหมดต้องรอให้การพิจารณาสำนวนของ “พิธา” ในชั้นคณะกรรมการไต่สวนและในชั้นที่ประชุมใหญ่ กกต. พิจารณาผลเรื่องนี้ออกมาเป็นทางการเสียก่อน จึงจะเห็นทิศทางชัดเจนมากขึ้น
ประเมินแล้ว ถึงตอนนี้เป็นไปได้สูงที่ กกต.คงส่งคำร้องไปให้ศาลรธน.วินิจฉัยแน่นอน เพียงแต่จะส่งก่อนหรือหลังการประชุมร่วมรัฐสภาโหวตนายกฯเท่านั้นเอง ซึ่งไทม์ไลน์ตรงนี้ จะมีผลอย่างมาก ต่อเกมในห้องประชุมรัฐสภา ตอนโหวตนายกฯ ซึ่งหาก “พิธา” มีชนักติดหลังเรื่องนี้ แล้วสว.หลายคนติดใจ ก็จะทำให้สุดท้าย จะได้เสียงโหวตไม่ถึง 376 จน อดเป็นนายกฯ
จึงต้องดูกันแล้วว่า “กกต.” จะพิจารณาเรื่องนี้ช้าหรือเร็ว มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ “พิธา” ใจคอไม่ดีแน่ๆ เพราะดูตามรูปการณ์ โอกาสจะได้เป็นนายกฯยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ !!
…………………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”