วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSศึกชิงเก้าอี้ปธ.สภาฯ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” จบแบบมีรอยร้าว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศึกชิงเก้าอี้ปธ.สภาฯ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” จบแบบมีรอยร้าว

การจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาลของ “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” จะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ถึงตอนนี้ก็อยู่ที่การเจรจากันของแกนนำสองพรรค เพื่อหาข้อยุติเรื่องเก้าอี้ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ที่ยืดเยื้อมานาน และกระแสข่าวพลิกไปมาตลอด

อย่างเดิมที่มีข่าวว่า แกนนำสองพรรคนัดหารือเพื่อหาข้อยุติเรื่องดังกล่าว วันที่ 2 ก.ค.ในช่วงเช้า จากนั้นทั้งสองพรรคจะนำผลหารือไปคุยกับที่ประชุมแกนนำ 8 พรรคตั้งรัฐบาล ในวันเดียวกัน 2 ก.ค.ซึ่งนัดกันไว้ที่พรรคก้าวไกล 

แต่ข่าวก็ออกมาในช่วงสุดสัปดาห์ทำนองว่า แกนนำเพื่อไทย กับ แกนนำก้าวไกล ยกเลิกการคุยเรื่องประธานสภาฯออกไปแล้ว แต่ข่าวบางกระแสบอกว่า ยังคุยกันอยู่ แต่คุยแบบปิดลับ ไม่แจ้งเวลาและสถานที่ เพื่อหวังหลบสื่อ และลดแรงกดดันทางการเมือง

หลังมีกระแสข่าวที่ทำให้ทีมเจรจาสองพรรคทำงานยากลำบากมากขึ้น เช่นกระแสข่าว “เพื่อไทย” ยอมถอย ยกเก้าอี้ประธานสภาฯให้ “ก้าวไกล” แล้ว โดยขอแค่รองประธานสภาฯสองเก้าอี้ และเงื่อนไขพิเศษคือ หาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับเสียงโหวตให้เป็นนายกฯถึง 376 เสียงในการโหวตนายกฯรอบแรก “เพื่อไทย” จะขอให้ “ก้าวไกล” เปิดทางให้ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนทันที ไม่ใช่จะดันทุรัง จะเสนอชื่อ “พิธา” กลับเข้าไปอีกเป็นรอบที่สอง-รอบที่สาม เพื่อกดดัน “สมาชิกวุฒิสภา” ให้ต้องมาโหวตให้เป็นนายกฯต่อไปเรื่อยๆ แต่สุดท้าย แกนนำเพื่อไทยและก้าวไกล ทั้ง “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ต่างดาหน้าออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว  

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของ “เพื่อไทย” ดูเหมือนจะ “ถือไพ่” เหนือกว่า “ก้าวไกล” พอสมควร ในการเจรจาต่อรองกัน โดยอ้างมติคณะกรรมการบริหารพรรค และความเห็นของส.ส.ทั้งพรรคเพื่อไทย ที่สะท้อนผ่านงานสัมมนาส.ส.พรรค ที่ยืนยันให้ “เก้าอี้ประธานสภาฯ” ต้องเป็นของ “เพื่อไทย” และให้ ยึดสูตรจัดตั้งรัฐบาลคือ “เพื่อไทย 14+1” คือ รัฐมนตรี 14 คน และประธานสภาฯอีกหนึ่งคน

จึงทำให้การเจรจาของ “เพื่อไทย” ที่อิงเรื่องความเห็นของส.ส.และมติกรรมการบริหารพรรค เวลาเอาไปคุยกับ “ก้าวไกล” ก็ทำให้ “ก้าวไกล” ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นรอง เพราะ “เพื่อไทย” สามารถพลิกขั้วการเมือง ไปจับมือกับ พรรคซีกรัฐบาลปัจจุบันได้ หากการจับมือกับ “ก้าวไกล” แล้วเกิดปัญหา ขณะที่ “ก้าวไกล” ทำได้ยากกว่า

ล่าสุด “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หนึ่งในทีมเจรจาตั้งรัฐบาล ก็ออกมาบอกอีกว่า พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ วันที่ 3 ก.ค. และจะนำผลการประชุมของคณะกรรมการบริหารไปหารือกับที่ประชุมส.ส.พรรค เวลา 10.00 น. คาดว่าจะได้มติที่ชัดเจน แล้วจะแถลงข่าวต่อสาธารณชน ส่วนการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรควันที่ 2 ก.ค. เป็นการหารือเกี่ยวกับการทำงานและดำเนินการร่วมกันของคณะเปลี่ยนผ่านทั้ง 8 พรรค คงไม่มีเรื่องประธานสภาฯ ที่เป็นเรื่องระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย ประเด็นประธานสภาฯ ในส่วนของพรรค พท. รอมติของกรรมการบริหารและที่ประชุม ส.ส. และจะชัดเจนวันที่ 3 ก.ค.

ภูมิธรรม เวชยชัย

เมื่อเป็นแบบนี้เท่ากับว่า อาจไม่มีการคุยกันระหว่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ในวันที่ 2 ก.ค. หรือต่อให้มีการคุยกัน ก็ยังไม่ใช่ข้อยุติ เพราะ “เพื่อไทย” จะนำเรื่องประธานสภาฯ ไปคุยกันในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุมส.ส.พรรควันจันทร์ที่ 3 ก.ค. อีกครั้ง

ซึ่งถ้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและส.ส.ของพรรค ยังยืนว่า “เพื่อไทย” ต้องได้โควตาประธานสภาฯ แบบนี้ก็อาจทำให้ “ทีมเจรจาของเพื่อไทย” ก็ต้องเอามติดังกล่าว ไปยันกับ “ก้าวไกล” อีกรอบ ที่อาจจะนัดประชุมกันในช่วงหัวค่ำวันที่ 3 ก.ค. หลังเสร็จรัฐพิธี เปิดประชุมรัฐสภาฯ หรืออาจเป็นเช้าวันอังคารที่ 4 ก.ค. ก่อนการโหวตเลือกประธานสภาฯ

เรียกได้ว่า หากคุยกันไม่ได้ ไม่มีใครยอมใคร ถึงตอนนั้นอาจมีปัญหาเกิดขึ้นกลางที่ประชุมสภาฯก็ได้ หาก “เพื่อไทย” เสียงส่วนใหญ่บอกให้ฟรีโหวต หรือให้มีการเสนอชื่อคนของ “เพื่อไทย” ลงแข่งชิงประธานสภาฯด้วย แต่ถ้าตกลงกันได้ โดย ก้าวไกล” ยอมถอย ก็อาจไม่เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น

แต่ล่าสุด ก็พบว่าท่าทีของ “ก้าวไกล” ยังคงยืนยันประธานสภาฯต้องเป็นของ “ก้าวไกล” อยู่ เห็นได้จากที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปพิษณุโลก วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพื้นที่เลือกตั้งของ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 ที่ “พิธา” บอกตอนลงพื้นที่ว่า เป็นการเดินทางมาของ 2 แคนดิเดตคือ “แคนดิเดตนายกฯ” กับ “แคนดิเดตประธานสภาฯ”

แสดงให้เห็นว่า “พิธาและก้าวไกล” ยังไงก็คงดัน “ปดิพัทธ์” ไปให้ถึงเก้าอี้ประธานสภาฯให้ได้ เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องการเสนอร่างกฎหมายที่หาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง ร่วม 45 ฉบับ แยกเป็น

-กฎหมายการเมือง 11 ฉบับ ได้แก่ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.รับราชการทหาร (ยกเลิกยังคับเกณฑ์ทหาร) พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.ความมั่นคง (ยุบ กอ.รมน.) พ.ร.บ.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ร.บ.การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง เป็นต้น

โดยมีไฮไลท์สำคัญคือ การเสนอแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลชูไว้มาตลอด รวมถึงการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง ที่เมื่อเสนอเข้าไปแล้ว ย่อมทำให้การเมืองทั้งในและนอกสภาฯจะร้อนแรงแน่นอน

แม้จะมีเสียงทักท้วงว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.ฯต่างๆ เข้าสภาฯ หากมีส.ส.ลงชื่อครบตามจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คนและเสนอตามขั้นตอน โดยปกติก็จะมีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมอยู่แล้ว การที่คนของ “ก้าวไกล” จะเป็นประธานสภาฯหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

ดังนั้นที่ “ก้าวไกล” พยายามอ้างว่า ต้องได้ตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อจะได้ผลักดันร่างกฎหมายที่หาเสียงไว้ จึงไม่เกี่ยวข้องกัน

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินกันว่า การเสนอแก้ไข 112 จากที่ก่อนหน้านี้ สำนักกฎหมายของสภาฯ มีความเห็นไว้ในสภาฯสมัยที่แล้ว ตอน “ก้าวไกล” เสนอแก้ 112 เข้าสภาฯ ว่าทำไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ร่างฯดังกล่าวไม่ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แต่ก็มีการมองกันว่า หากประธานสภาฯมาจากพรรคก้าวไกล อาจทำให้ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ที่ส่วนใหญ่เป็น “ข้าราชการประจำ” อาจเกรงใจผู้มีอำนาจในสภาฯ จนเปลี่ยนท่าที มาเป็นให้เสนอได้และถูกบรรจุเข้าสู่สภาฯ

กระนั้นในความเป็นจริง ถึงต่อให้ “ก้าวไกล” เสนอเข้ามาได้ แต่โอกาสก็ยากจะผ่านสภาฯได้ เพราะฝ่าย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หลายพรรคก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แม้แต่ “เพื่อไทย” ที่ยังแสดงท่าทีกั๊กๆ ผนวกกับก็เชื่อว่า พอ “ส.ส.ก้าวไกล” เสนอเข้าไปในสภาฯ ฝ่ายตรงข้ามก็คงเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย เพื่อล้มการแก้ไข 112 อยู่ดี

ทำให้เห็นได้ว่า ที่ “ก้าวไกล” อ้างว่า พรรคควรได้โควต้าประธานสภาฯ เพื่อผลักดันร่างกฎหมายของพรรคเข้าสภาฯนั้น ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเท่าใดนัก แต่ที่ต้องการ ก็เพื่อ “ต้องการตำแหน่ง” และ “วางคนของตัวเอง” ไว้คุมเกมในสภาฯมากกว่า ซึ่งก็เป็นหลักคิดเดียวกับ “คนในเพื่อไทย” เช่นกัน

ทว่า ปัญหาการชิงโควตาประธานสภาฯที่ยืดเยื้อมานาน ยังไงก็ต้องจบลงในวันที่ 4 ก.ค.นี้

ที่ไม่ว่าสุดท้ายผลออกมาอย่างไร แต่ก็เชื่อได้ว่า จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของ “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” น่าจะมีเรื่องค้างคาใจกันตลอดไป เพราะแค่ “เก้าอี้แรก” ก็ป่วน-แย่งชิงกันขนาดนี้แล้ว มันก็เห็นเค้าลาง การกระทบกระทั่งแบบ “ลิ้นกันฟัน” ของ “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา…นับจากนี้ 

……………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img