วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“แก้รธน.”มาถึงทางแยก ได้ไปต่อหรือล้มกระดาน รู้ผล 11 มี.ค.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“แก้รธน.”มาถึงทางแยก ได้ไปต่อหรือล้มกระดาน รู้ผล 11 มี.ค.

โรดแมปการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาถึงทางแยกสำคัญ ในการตัดสินว่าเส้นทางนี้ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่รัฐสภามีคิวจะนัดประชุมเพื่อโหวตเห็นชอบในวาระสามกลางเดือนมี.ค.นี้

จะได้ไปต่อหรือต้องหยุดเพราะโดนล้มกระดาน ที่สุดท้าย จะรู้ผลกัน พฤหัสบดีที่ 11 มี.ค.นี้

หลังผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้นัดลงมติคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวันที่ 11 มี.ค. 09.30 น. และคาดว่า หากคำวินิจฉัยกลาง ไม่ยาวมากนัก ศาลรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะออกเอกสารข่าว สรุปประเด็นผลการลงมติชี้ขาดคำร้องคดีดังกล่าวและเผยแพร่อย่างเป็นทางการได้ในช่วงสายวันที่ 11 มี.ค

ไพบูลย์ นิติตะวัน

รีวิวกันอีกรอบสำหรับที่มาที่ไปของคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ เกิดจากมีส.ส.และสว.ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ที่ส.ส.ก็คือส.ส.พลังประชารัฐเพียงพรรคเดียว เข้าชื่อเสนอกันเสนอญัตติที่มีสองแกนนำคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ สว. ร่วมกันเสนอญัตติเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภา มีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรธน.มายกร่างรธน.ฉบับใหม่ ที่รัฐสภาเพิ่งพิจารณาวาระสองเสร็จสิ้นไปเมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา รัฐสภามีอำนาจในการดำเนินการหรือไม่

และต่อมาหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติส่งคำร้องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลก็รับคำร้องไว้และมีคำสั่งให้พยาน 4 คน ส่งหนังสือบันทึกความเห็นในเรื่องอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้ ศาลรธน. เพื่อประกอบการวินิจฉัยคดี โดยทั้ง 4 คนดังกล่าว ประกอบด้วย มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันหรือกรธ.-อุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ.อีกคนหนึ่ง-ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540-ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์และอดีตเลขานุการกรรมการยกร่างรธน.ปี 2550

ซึ่งต่อมาทั้งสี่คน ก็ส่งความเห็นกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงไม่เกิน 3 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังศาลรธน.ถามความเห็นไปว่า คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สามารถนำไปสู่การมีส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่ หรือว่าทำได้เพียงแค่แก้ไขรายมาตราเท่านั้น

จากนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นท่าไม่ดี โดยมองไปว่าอาจมีการล้มกระดานการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านศาลรธน. ที่อาจจะใช้ความเห็นจากทั้ง 4 คนโดยเฉพาะ “มีชัย-อุดม” ที่เป็นคนยกร่างรธน.ฉบับ 2560 มากับมือทั้งฉบับ ที่ย่อมไม่อยากให้ใครมายกเลิกรธน.ของตัวเอง จึงอาจทำความเห็นมาถึงศาลรธน.ว่า มาตรา 256 ไม่สามารถนำไปสู่การมีส.ส.ร.มายกร่างรธน.ฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบันได้ ทำให้ฝ่ายค้าน นำโดยประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรคเพื่อไทยและคณะ วิ่งโร่ไปยื่นคำร้องขอส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นต่อศาลรธน.เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในเชิงยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีส.ส.ร.มายกร่างรธน.ฉบับใหม่ได้

จนสุดท้าย หลังที่ประชุมตุลาการศาลรธน.พิจารณาความเห็นจากทั้ง “มีชัย-อุดม-บวรศักดิ์-สมคิด” และความเห็นประกอบจากพรรคฝ่ายค้านฯ ตลอดจนพยานหลักฐานอื่นๆ ที่ศาลรธน.แสวงหามาเอง ที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับที่มาที่ไปของการยกร่างมาตรา 256 ในรธน.ฉบับปัจจุบัน วงประชุมตุลาการศาลรธน.เมื่อ 4 มี.ค. จึงเห็นว่าพยานหลักฐาน-ความเห็นทางข้อกฎหมายต่างๆ ที่ศาลรธน.ต้องการสมบูรณ์เพียงพอแล้ว จึงนำมาสู่การนัดลงมติคำร้องคดีนี้ในวันที่ 11 มี.ค.นี้

บนนัยยะสำคัญก็คือ นัดหมาย 11 มี.ค.ดังกล่าว เท่ากับ ศาลรธน.จะมีคำตอบออกมาว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรธน.ดังกล่าว ก่อนที่รัฐสภาจะมีการโหวตเห็นชอบการแก้ไขรธน.วาระสามที่ตามปฏิทินที่วิปรัฐบาลวางไว้คือ ต้องการให้ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อลงมติร่างแก้ไขรธน.วาระสาม ในช่วงวันที่ 17 มี.ค.

ผลการลงมติของที่ประชุมตุลาการศาลรธน.พฤหัสฯ 11 มี.ค. นี้ ในทางข้อกฎหมาย ก็ออกมาได้ไม่กี่ทางเท่านั้น แต่หลักๆ ก็คือ

1.ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กระบวนการของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ สมาชิกรัฐสภา มีอำนาจในการดำเนินการได้ ไม่ได้เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แต่อย่างใด

2.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่สมาชิกรัฐสภาดำเนินการอยู่ตอนนี้  รัฐสภาไม่มีอำนาจในการดำเนินการได้ เพราะมาตรา 256 ไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแต่อย่างใดเพราะทำได้เพียงแค่การแก้ไขรายมาตราเท่านั้น

ซึ่งหากผลคำวินิจฉัยออกมาแนวนี้ ต้องดูด้วยว่า ศาลอาจมีความเห็นประกอบเพิ่มเติมเข้ามาด้วยว่า เมื่อประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านการทำประชามติ ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ศาลรธน.อาจมองว่า แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ดังนั้นหากจะยกเลิกแล้วร่างรธน.ฉบับใหม่ ศาลรธน.ก็อาจมีข้อเสนอพ่วงเข้ามาในคำวินิจฉัยว่า จึงควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

โดยหากศาลรธน.มีความเห็นตามแนววิเคราะห์คดีในข้อสอง มันก็คือการ ยึดแนวคำวินิจฉัยเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เมื่อปี 2555 ตอนที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จับมือกับสว.เวลานั้น แก้ไขรธน.มาตรา291 ในรธน.ปี 2550 เพื่อให้มีส.ส.ร.มาร่างรธน.ฉบับใหม่ ที่หลักการก็เหมือนกับมาตรา 256 ในรธน.ฉบับปัจจุบัน แต่สุดท้าย โดนศาลรธน.เบรกหัวทิ่มก่อนรัฐสภาเวลานั้นจะลงมติโหวตวาระสองและสาม

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นแย้งมาว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยจากรธน.ปี 2550 แต่ปัจจุบันรธน.ฉบับดังกล่าวถูกคสช.ฉีกทิ้งไปแล้ว และตอนนี้ใช้รธน.ฉบับปี 2560 ดังนั้น จะเอาคำวินิจฉัยเดิมมาเป็นแนวในการตัดสินคำร้องคดีนี้ไม่ได้ และบางฝ่ายก็มองว่า ปัจจุบันตุลาการศาลรธน.ที่เคยตัดสินล้มกระดานการแก้ไขรธน.เมื่อปี 2555 ได้พ้นจากตำแหน่งไปหมดแล้ว ตอนนี้เป็นชุดใหม่หมด ทำให้ ตุลาการศาลรธน.ชุดปัจจุบัน อาจมีความเห็นที่แตกต่างจากตุลาการศาลรธน.ช่วงปี 2555 ก็ได้ คือตัดสินว่า รัฐสภาสามารถแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีส.ส.ร.มายกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับ

ประวัติศาสตร์การแก้ไขรธน.ปี 2564 จะต้องถูกล้มกระดานอีกรอบ ซ้ำรอบปี 2555 หรือไม่ ต้องลุ้นกันสุดตัว 11 มี.ค.นี้

……………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img