“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” บอกไว้หลังลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ มองว่ามีคนในพรรคที่เห็นว่าเหมาะสมอยู่ 4-5 คน ขึ้นอยู่กับว่าต้องการสายบุ๋นหรือสายบู๊
เมื่อ “พรรคก้าวไกล-พิธา” เล็งเห็นว่า จำเป็นที่พรรคต้องส่งคนไปรับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราาฎร” ที่เป็นตำแหน่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ
ทำให้ “พิธา” เลือกที่จะไม่รอผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีหุ้นสื่อไอทีวี ที่คาดกันว่า กว่าจะเสร็จ เร็วสุดก็อาจปลายปี หรืออาจยาวไปถึงต้นปีหน้า ทำให้ “พิธา” ตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลก่อน เพื่อให้พรรคได้โควต้า “ผู้นำฝ่ายค้านฯ” เพราะ “พิธา” ตอนนี้ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สส. ดังนั้น คนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล จึงต้องเป็นสส.ในสภาฯ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการมองกันว่า สส.-แกนนำพรรคก้าวไกล ที่อาจขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ ก็น่าจะมีชื่ออยู่ประมาณ 3-4 คน ไม่ว่าจะเป็น “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ-“ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไลก-“ณัฐวุฒิ บัวประทุม” รองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมาย-“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตัวตึงของพรรค ที่ถูกมองว่ามีโอกาสจะได้รับการผลักดันให้เป็น “หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่”
โดยพรรคก้าวไกลจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เพื่อพิจารณาเรื่องหัวหน้าพรรคคนใหม่ วันที่ 23 ก.ย.และในวันรุ่งขึ้น วันอาทิตย์ พรรคก้าวไกล จัดงาน “ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน” ที่อาคารกีฬาเวสน์ ดินแดง กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ก็คงต้องรู้เส้นทางตัวเองว่า อาจจะเป็นแค่หัวหน้าขัดตาทัพ เพื่อรอให้คดีหุ้นสื่อไอทีวีของ “พิธา” จบออกมาก่อน
ซึ่งหาก “พิธา” รอดคดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ “พิธา” ได้กลับมาเป็นสส. และถึงตอนนั้น ก็คาดว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็คงยอมลาออก เพื่อเปิดทางให้ “พิธา” กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกครั้ง และจะทำให้ “พิธา” ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯด้วย
เพราะยังไง “พิธา” ก็ยังเป็นจุดขายสำคัญของพรรคในการหาเสียง หลังเคยทำได้มาแล้ว 14 ล้านเสียงตอนเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่หาก “พิธา” ไม่รอดคดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ก็แค่หลุดจากสส. ไม่ได้โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง เลือกตั้งรอบหน้า “พิธา” ก็กลับมาลงเลือกตั้งได้อีก และกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้อีกครั้ง เว้นแต่ว่า หาก “พิธา” ไม่รอดคดีหุ้นสื่อ แล้ว “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) เอาผิด “พิธา” กรณี รู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 151 ที่เป็นโทษทางอาญา ซึ่งระบุว่า…
“ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี”
ซึ่งหากเป็นแบบนี้ ก็ต้องลุ้นอีกหลายยก หากสุดท้ายคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ถ้าทั้ง “กกต.-ตำรวจ-อัยการ” มีความเห็นตรงกันว่า “พิธา” มี “เจตนา” ในการทำผิดตามมาตราดังกล่าว แต่หากตำรวจหรืออัยการ เห็นว่า “พิธา” ไม่ได้มีเจตนา ก็อาจสั่งไม่ฟ้องก็ได้ ที่เคยมีให้เห็นมาแล้วกับกรณีหุ้นสื่อของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในคดีถือหุ้นสื่อวีลัคมีเดีย ก่อนหน้านี้ ถ้าเป็นแบบนี้ คดีอาญา “พิธา” ก็จบเลย
เมื่อ “ก้าวไกล” วางหมากไว้แบบนี้ คือจะเอาเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านฯไว้กับพรรคก้าวไกล ทำให้ในแง่กฎหมาย ก็จะทำให้ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ก็ไม่สามารถเป็นรองประธานสภาฯ จากพรรคก้าวไกลได้แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 106 บัญญัติไว้ว่า…
“ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้วพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”
ดังนั้นเมื่อ “พิธา-ก้าวไกล” ตัดสินใจแล้วว่า จะเอาเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านฯ ก็หมายถึง ในแง่ข้อกฎหมาย “ปดิพัทธ์” ก็ไม่สามารถเป็นรองประธานสภาฯ จากพรรคก้าวไกลได้ ต้องลาออกจากรองประธานสภาฯ เพื่อไปทำหน้าที่เป็นสส.อย่างเดียว
เว้นแต่ หาก “พิธา-ปดิพัทธ์-ก้าวไกล” ต้องการได้ทั้ง “ผู้นำฝ่ายค้านฯ” และ “รองประธานสภาฯ” ก็อาจต้องหาเทคนิคข้อกฎหมายเลี่ยงไม่ให้ “ปดิพัทธ์” ต้องลาออกจากรองประธานสภาฯ ด้วยการทำให้ “ปดิพัทธ์” พ้นจากการเป็นสส.-สมาชิกพรรคก้าวไกล แล้วไปหาพรรคการเมืองใหม่อยู่ ที่ก็สามารถทำได้ โดยตัว “ปดิพัทธ์” ก็เป็นรองประธานสภาฯต่อไป
จึงทำให้เป็นที่มาของกระแสข่าว “ปดิพัทธ์” อาจจะใช้วิธีแกล้งทำเป็น “ดื้อแพ่ง” ไม่ยอมลาออกจากรองประธานสภาฯ จนพรรคก้าวไกลมีมติขับออกจากพรรค แล้วตัว “ปดิพัทธ์” ก็ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น ภายใน 30 วัน โดยก็ไม่ยอมลาออกจากรองประธานสภาฯ ซึ่งมีข่าวว่าพรรคที่ “ปดิพัทธ์” ไปอยู่อาจจะเป็น “พรรคเป็นธรรม” ที่มีส.ส.ในสภาฯหนึ่งคน คือ “กัณวีร์ สืบแสง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม และทั้งสองพรรคมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จากนั้นหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น “ปดิพัทธ์” ก็ค่อยมากลับพรรคก้าวไกลอีกครั้ง ซึ่งลักษณะก็เหมือนกับการ “ฝากเลี้ยง” นั่นเอง
แต่ทว่า หาก “ก้าวไกล” ใช้วิธีการดังกล่าวจริง ก็ต้องพร้อมยอมรับความเสี่ยงที่จะถูกวิจารณ์ว่า เล่นการเมืองแบบเก่า-หาช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากนักการเมือง-พรรคการเมืองอื่นๆ อันเป็นการ “ทำลายจุดขาย” ของ พรรคก้าวไกล ที่บอกตลอดว่า เล่นการเมืองแบบใหม่
ซึ่งไม่แน่ แฟนคลับก้าวไกลบางส่วนอาจรู้สึกว่า ก้าวไกลก็ไม่ได้แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ เล่นการเมืองปาหี่ จนทำให้อาจเลิกนิยมชมชอบพรรคก้าวไกลไปเลยก็ได้ ตรงจุดนี้ ก้าวไกลก็ต้องระวังเช่นกัน ถ้าประเมินกระแส-ความคิดของแฟนคลับตัวเองผิด จนกระแสตีกลับ สุดท้ายจะได้ไม่คุ้มเสีย
เว้นเสียแต่ “ก้าวไกล” เริ่มหน้ามืดแล้ว เพราะเห็นแก่ “ตำแหน่งทางการเมือง” มากกว่า “การสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ทางการเมือง” แบบที่พรรคอวดอ้างมาตลอด!
………………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”