วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSสแกนจุดตาย“นโยบายพท.ไม่ตรงปก” ออก“ก.ม.กู้เงิน”แจก“ดิจิทัล วอลเล็ต”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สแกนจุดตาย“นโยบายพท.ไม่ตรงปก” ออก“ก.ม.กู้เงิน”แจก“ดิจิทัล วอลเล็ต”

การประกาศเดินหน้านโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต-หนึ่งหมื่นบาท” ของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี-รมว.คลัง ตามคำแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดยคนที่จะได้ดิจิทัล วอลเล็ตไปจับจ่ายใช้สอย มีหลักเกณฑ์คือ ต้องอายุ 16 ปีขึ้นไปเหมือนเดิม-รายได้มีไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท และขยายจากให้ใช้ภายในไม่เกินรัศมี 4 กิโลเมตรตามภูมิลำเนาในบัตรประชาชน เป็นภายในอำเภอ

รัฐบาลกางตัวเลขออกมาว่า จะมีคนไทยได้สิทธิ์ดังกล่าวประมาณ 50 ล้านคน ดังนั้นเมื่อแจกคนละหมื่น ก็เท่ากับใช้เงิน 500,000 ล้านบาท

แต่เมื่อการเอา “งบประมาณ” มาทำนโยบาย ติดล็อกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า จากเดิมปกติที่ป่านนี้ต้องใช้แล้ว ก็ลากยาวไปถึงเกือบกลางปีหน้า 2567 และจะมีผลกระทบต่องบรายจ่ายปี 2568 ที่ล่าช้าตามไปด้วย ทำให้การนำเงินงบประมาณมาทำดิจิทัล วอลเล็ต เลยสะดุดไปด้วย

อีกทั้งที่เคยมีแนวคิดจะกู้ยืมเงินจากธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ก็ทำได้ยากแล้ว ถึงกู้ได้ก็มีลิมิต ติดเพดานพอสมควร ไม่สามารถกู้ได้แบบเต็มเพดาน หลายแสนล้านบาท อีกทั้งยังติดขัดข้อกฎหมายอื่นๆ อีกโดยเฉพาะ “พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ.2561”

ทำให้สุดท้าย “เศรษฐา-เพื่อไทย” จำต้องกลืนน้ำลายตัวเอง จากที่ยืนกรานมาตลอดว่า “ดิจิทัล วอลเล็ต” จะไม่มีการกู้เงินมาทำโครงการ ใช้แค่งบรายจ่ายปกติกับการจัดเก็บภาษีก็พอแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมา ก็ “ด้อยค่ารัฐบาลอื่นๆ” โดยเฉพาะ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็น “รัฐบาลดีแต่กู้” แต่ในที่สุด “เศรษฐา-เพื่อไทย” ก็ต้องจำยอม “ผ่าทางตัน” ด้วยการจะออกเป็น “ร่างพ.ร.บ.เงินกู้เพื่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต..พ.ศ.” เสนอเข้ารัฐสภาฯ

“เรื่องของแหล่งเงินทุนในโครงการทั้งหมดนี้ เราได้พิจารณาแหล่งเงินทุนที่เป็นไปได้อย่างรอบคอบ ซึ่งเราไม่ได้มองแค่การใช้ตัวเลือกใดตัวเลือกนึง เราดูถึง Hybrid option ที่ผสมผสานหลายๆ แนวทางด้วย ในวันนี้ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออกพระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท”นายกฯระบุตอนหนึ่งระหว่างแถลงข่าวเมื่อ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา

จุดสำคัญฉากต่อไปของเรื่องนี้ก็คือ “รัฐบาล-กระทรวงการคลัง” จะต้อง เสนอร่างพ.ร.บ.กู้ยืมเงินฯ ดังกล่าว ที่ข่าวว่าตอนนี้มีการร่างไว้เรียบร้อยแล้ว ส่งไปให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้กฤษฎีกาคณะใดคณะหนึ่งหรือคณะพิเศษ ประชุมหารือกัน และพิจารณาว่าสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว สามารถเสนอออกมาเป็นกฎหมายได้หรือไม่-สุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ.2561 หรือไม่

หากกฤษฎีกาไฟเขียว กระทรวงการคลังก็เสนอร่างให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบ เพื่อเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตามลำดับ ซึ่งหากผ่านฉลุยหมด ก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

แต่หากร่างไม่ผ่านในชั้นสภาผู้แทนราษฎร โดยที่เป็นร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ก็อาจมีผลทางการเมืองให้ต้องมีการยุบสภาเกิดขึ้นได้ แต่ดูแล้ว สส.รัฐบาลที่มีร่วม 312 เสียงคงไม่อยากมีใครไปเลือกตั้งกันตอนนี้ ก็คงพร้อมใจสนับสนุนให้ผ่าน

ส่วนจะผ่านวุฒิสภาหรือไม่ อันนี้ยากจะคาดการ อาจโดนคว่ำก็ได้ เพราะสว.หลายคน ก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต แต่หากวุฒิสภาคว่ำ แล้วสภาฯมีมติเสียงข้างมากยืนยันร่างอีกครั้ง ก็ให้ถือว่าร่างฯพ.ร.บ.ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ต้องรอให้พ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับจากวันที่วุฒิสภาลงมติคว่ำ ที่ก็จะทำให้การออกฎหมาย ล่าช้าออกไปอีกร่วม 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ด่านสำคัญเฉพาะหน้า ที่อาจทำให้การเสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงินเพื่อทำดิจิทัล วอลเล็ต สะดุดลง ไล่ตามลำดับ ก็คือ ต้องให้กฤษฎีกาไฟเขียวเสียก่อน หากกฤษฎีกาทักท้วงว่าทำไม่ได้ เสี่ยงขัดกฎหมาย ก็อาจเป็นเหตุให้ เศรษฐาและครม.รวมถึงพรรคเพื่อไทย ก็อาจชะงัก ไม่กล้าเสี่ยง และอาจนำเหตุนี้มาอ้างในการไม่ทำดิจิทัล วอลเล็ตต่อ

แต่หากกฤษฎีกาไฟเขียว พอครม.เสนอร่างเข้าสภาฯ ก็คาดว่าอาจต้องเจอกับการอภิปรายคัดค้านของสส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ “ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์” และระหว่างทาง ก็คาดว่าจะมีคนไปยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระต่างๆ พิจารณาว่าการออกกฎหมายกู้ยืมเงินดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

โดยเฉพาะ หากมีการเสนอร่างเข้าสภาฯ ก็น่าจะมีความเคลื่อนไหวของ “บางฝ่าย” ในการส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความได้ เพื่อสกัดร่างพ.ร.บ.กู้ยืมเงินดังกล่าวฯ

เพราะตอนนี้ เริ่มมีการกางข้อกฎหมาย จากทั้ง สมาชิกวุฒิสภา-ฝ่ายค้าน-นักวิชาการ-นักกฎหมาย ที่ชี้ “จุดเสี่ยง” หาก “รัฐบาลเศรษฐา” จะออกพ.ร.บ.กู้ยืมเงินห้าแสนล้านบาทมาทำดิจิทัล วอลเล็ต โดยเฉพาะที่หลายคนมองตรงกันว่า เป็นจุดเสี่ยงหากจะมีการออกพ.ร.บ.กู้ยืมเงินห้าแสนล้านบาทฯดังกล่าว ก็คือ อาจเป็นการทำผิดมาตรา 53 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่บัญญัติว่า…

“การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะให้กระทรวงการคลังกระทําได้ ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน…..”

ที่ก็คือการมองว่า ความพยายามในการจะออกพ.ร.บ.กู้ยืมเงินดังกล่าว ไม่เข้าข่าย “ความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ”

เพราะก็เห็นกันอยู่ ประเทศไม่ได้มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงแบบสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกพ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งออกมาในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่มีการปิดประเทศ ธุรกิจเกือบทุกอย่างโดนล็อกดาวน์ ประชาชนเดือดร้อนกันทั้งประเทศ กรณีแบบนั้น เข้าข่ายความจำเป็นเร่งด่วนชัดเจน แต่กับกรณีดิจิทัล วอลเล็ต จากสถานการณ์เวลานี้ ประเทศไม่ได้มีเหตุวิกฤตถึงขนาดนั้น จึงไม่น่าจะมีเหตุผลเพียงพอในการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินห้าแสนล้านบาทได้

รวมถึงกฎหมายข้ออื่นๆ เช่น อาจสุ่มเสี่ยงขัดต่อพ.ร.บ.วินัยการเงินฯ มาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” เพราะมองกันว่า “เศรษฐา-เพื่อไทย” ต้องการทำดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อหวังผลสร้างความนิยมทางการเมือง ที่สุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมายมาตราดังกล่าว เป็นต้น

อีกทั้งจะพบว่า ในเอกสารที่พรรคเพื่อไทย ยื่นต่อสำนักงาน กกต.-นายทะเบียนพรรคการเมือง ตอนหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงแหล่งที่มาของงบประมาณในการทำนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ เอกสารดังกล่าวระบุว่า ดิจิทัล วอลเล็ตคือ “นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล” โดยจะใช้งบทั้งสิ้น 560,000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งที่มาจะมาจาก “การบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษี” โดยไม่มีการเขียนไว้เลยว่า จะออกเป็นกฎหมายกู้ยืมเงินฯ มาทำนโยบาย

ที่ก็คือ “เพื่อไทย” งานนี้  “ไม่ตรงปก” กับที่แจ้งกับ “กกต.” นั่นเอง

และยังมีอีกหลายปมที่มีการวิเคราะห์กันว่า อาจทำให้การจะออกพ.ร.บ.กู้เงินห้าแสนล้านบาทดังกล่าว สุดท้ายอาจวืด…แท้งตั้งแต่ยังไม่คลอด ซ้ำรอยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะออกพ.ร.ก.กู้ยืมเงิน 2 ล้านล้านบาทมาทำรถไฟความเร็วสูง แต่สุดท้าย…โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งคว่ำนั่นเอง

……………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img