การเมืองไทยปี 2567 เป็นอีกหนึ่งปี ที่ปฏิทินการเมืองแม้อาจไม่มี ไฮไลท์ใหญ่แบบปี 2566 ที่มี การเลือกตั้งใหญ่ ไปเมื่อ 14 พ.ค.2566 แต่ การเมืองปี 2567 ปีมังกรทอง แวดวงการเมือง ก็มองว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่จะมีความเคลื่อนไหวการเมืองหลายเรื่องน่าติดตาม
ไม่ว่าจะเป็น…ความชัดเจนในการเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต-ออกกฎหมายกู้เงินแจกประชาชนคนละหนึ่งหมื่นบาท ที่รัฐบาลเพื่อไทย กำลังรอสัญญาณไฟเขียวจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากส่งเรื่องไปขอความเห็นข้อกฎหมายจากกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2566 โดยหากกฤษฎีกาไฟเขียว แม้อาจจะมีข้อเตือนอยู่บ้าง แต่ถ้าไม่ถึงกับขวางลำเลยเสียทีเดียว ก็คาดว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเดินหน้าลุยต่อเรื่องนี้ในปี 2567 แน่นอน และด่านสุดท้าย ก็คงไปจบที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่คงมีการไปยื่นร้องต่อศาล เพื่อขวางการออกกฎหมายดังกล่าว ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
นอกจากนี้ ก็ยังประเด็น ผลคำวินิจฉัยทางการเมืองที่สำคัญ ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่จะรู้ผลกันหมด ในเดือนมกราคม 2567 ทั้งคำตัดสิน “คดีหุ้นสื่อไอทีวี” ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่จะออกมาในวันพุธที่ 24 มกราคม และ คำตัดสินคดีกล่าวหา “พรรคก้าวไกล” มีพฤติการณ์ “ล้มล้างการปกครองฯ” กรณีเสนอแก้ไขมาตรา 112 และนำเรื่อง 112 ไปหาเสียงเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลตอนเลือกตั้ง ที่ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยวันพุธที่ 31 มกราคม
ส่วนคดีกล่าวหา “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อดีตรมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ถือครองหุ้นสื่อ ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นฯ ทางศาลก็นัดฟังคำวินิจฉัยวันพุธที่ 17 มกราคม ที่หาก “ศักดิ์สยาม” รอด ก็ให้จับตาปรับครม.รอบหน้า “เนวิน ชิดชอบ” อาจดัน “ศักดิ์สยาม” กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งแทน “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้
และในปี 2567 ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่อาจจะมี การทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หลังจาก คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เคาะออกมาแล้วว่าให้เดินหน้าทำประชามติ ภายในไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2567 ที่ก็คือ ไม่เกินเดือนเมษายน โดยจะมีการถามความเห็นประชาชนด้วยข้อความว่า…
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
อย่างไรก็ตาม การทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีแรงต้านอยู่ ทั้งเรื่องคำถามที่จะถามประชาชน ตลอดจนเสียงทักท้วงเรื่องงบประมาณในการทำประชามติ เพราะหากต้องทำประชามติสามครั้ง ใช้งบครั้งละประมาณ 3,200-3,500 ล้านบาท รวมเป็นเงินร่วมหมื่นล้านบาทหรือมากกว่านั้นคือ 10,500 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การจัดเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ก็ใช้เงินร่วม 3,000-4,000 ล้านบาท และเงินเดือน เบี้ยประชุม สสร.และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีก จนมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะดีกว่า แต่ดูแล้วฝ่ายรัฐบาลคงไม่ฟังและเดินหน้าทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน ดังนั้นเรื่อง การทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นอีกหนึ่งปมร้อนการเมืองไทยปีมังกรทอง ที่ต้องรอดูผลกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การคัดเลือก “สมาชิกวุฒิสภา” (สว.)ชุดใหม่ ที่จะมาแทน สว.ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลง 11 พ.ค.2567 โดยจะเป็นการคัดเลือก สว. จำนวน 200 คนจาก 20 กลุ่มอาชีพ ที่คงทำให้การเมืองคึกคักแน่นอน เมื่อมีคนดังจากสาขาอาชีพต่างๆ ไปลงสมัครเป็น สว.กันจำนวนมาก
รวมถึงกรณีของ “ทักษิณ ชินวัตร” นักโทษวีไอพี ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่แม้จะไม่ได้ไปฉลองปีใหม่ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพราะรัฐบาลไม่เสี่ยง ที่จะให้ “ทักษิณ” ได้รับอภิสิทธิ์ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ฯ ในเรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ แต่ยังไง…เมื่อถึงเดือนก.พ.2567 “ทักษิณ” ก็จะได้รับสิทธิ์พักโทษ ไม่ต้องอยู่ที่รพ.ตำรวจอีกต่อไปแล้ว เพราะถือว่ามีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การได้รับการพักโทษ เพราะเป็นนักโทษเด็ดขาด-เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3
และพอไปถึงเดือนส.ค.2567 ก็เท่ากับครบกำหนดหนึ่งปี ที่เดินทางมารับโทษ ก็จะทำให้ “ทักษิณ” ได้รับอิสรภาพเต็มตัว หลังจากนั้น ก็คาดว่า “ทักษิณ” อาจกลับมามีบทบาทการเมืองหน้าฉากมากขึ้น แม้จะไม่สามารถเล่นการเมืองได้ เพราะโดนตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต แต่ก็อาจจะทำให้ “ทักษิณ” มองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องดัน “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ ได้แล้ว
อีกทั้งเชื่อว่า ในปี 2567 จะมีการปรับครม.เกิดขึ้นแน่นอน โดยเร็วสุด ก็น่าจะเป็นช่วงพ.ค. ที่คาดว่าในส่วนของ “พรรคเพื่อไทย” จะมีการปรับบางตำแหน่ง เพื่อนำคนในพรรคบางคนที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เข้ามาเป็นรัฐมนตรีและปรับบางคนออก แต่คงไม่น่าจะมีการดึง “พรรคประชาธิปัตย์” มาร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะเสียงรัฐบาลในเวลานี้ 320 เสียง แน่นพอที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ไปได้แบบสบายๆ โดยไม่ต้องพึ่งบริการพรรคอะไหล่อย่าง “ประชาธิปัตย์”
อย่างไรก็ตาม การเมืองปี 2567 เปิดศักราชมา ก็มีเรื่องร้อนแรง รออยู่ตั้งแต่สัปดาห์แรก นั่นก็คือ การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณา “ร่างพ.ร.บ.งบประมาณงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567” วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ที่จะประชุมพิจารณากัน สามวันคือ 3-5 ม.ค.2567
ที่แกนนำพรรคฝ่ายค้าน “พรรคก้าวไกล” วางตัว สส.ขึ้นชำแหละงบฯถึง 33 คน
งานนี้หลายคนจับตามองกันมากว่า ฝ่ายค้านยุคที่มี “ก้าวไกล” เป็นหัวหอกหลัก จะทำหน้าที่ตรวจสอบ “รัฐบาลเพื่อไทย” แบบเข้มข้นจริงหรือไม่ หรือว่าทำแค่พอเป็นพิธี เพื่อรักษาน้ำใจกันไว้ เผื่อต่อไปวันข้างหน้า มีการปรับครม.อาจจะมีการเขย่าใหญ่ ปรับพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ออกเกือบหมด แล้วจับมือกับ “ก้าวไกล” ตั้งรัฐบาล แต่ “ฝ่ายก้าวไกล” ยืนกรานว่า ศึกอภิปรายงบฯ 67 รอบนี้ จัดมาแบบชุดใหญ่ ไม่มีออมมือ
ขณะที่อีกหนึ่งพรรคฝ่ายค้าน คือ “พรรคประชาธิปัตย์” ก็ถูกจับตามองเช่นกันว่า ในยุค “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค จะทำหน้าที่แบบเต็มกำลังหรือไม่ หรือจะแค่แตะๆ เพื่อหวังรอร่วมรัฐบาลในอนาคตเช่นกัน
ศึกอภิปรายงบฯ 67 จึงเป็นฉากแรกของการเมืองร้อนปีมังกรทองที่หากเปิดศักราชมา ก็ร้อนแรง ดุเดือด แบบนี้ เชื่อได้ว่า การเมืองตลอดทั้งปี 2567 อาจไม่ใช่แค่มังกรทองธรรมดา แต่จะเป็น…มังกรทองพ่นไฟ!
……………………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”