เรื่องการเซ็ตอัพการเมือง ประดิษฐ์คำ สร้างฉากทางการเมือง เพื่อเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนและสาธารณชน
ถือได้ว่า ตอนนี้ “พรรคก้าวไกล” ยังมาอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองทุกพรรคในเวลานี้ สำหรับความโดดเด่น ในการวางแผน สร้างแคมเปญทางการเมือง
วาทะ “ผมกลับมาแล้ว”
I’m back.
ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ประกาศกลางที่ประชุมสภาฯเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างสภาฯกำลังพิจารณาญัตติเรื่อง การแก้ปัญหาขยะในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จากนั้น “พิธา” ที่ว่างเว้นจากการแสดงฝีปากในสภาฯมาร่วมหกเดือน ก็ใช้โอกาสนี้อภิปรายแสดงวิสัยทัศน์ตัวเองถึงปัญหาดังกล่าวกินเวลาหลายนาที พร้อมๆ กับที่วันเดียวกัน ตัว “พิธา” ที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการ แต่นัยยะการเมืองก็คือ หัวหน้าพรรคก้าวไกลตัวจริง ก็เล่นใหญ่ เปิดแถลงข่าว…
“แผนทำงานพรรคก้าวไกล ปี 2567 หรือ MFP’s Strategic Roadmap” ยาวเหยียดหลายเรื่อง
ภายใต้หมุดหมาย Big Bangs หรือ เป้าหมายสำคัญ 6 เป้าหมาย อาทิ การทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เช่น การปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งระบบขนส่ง ค่าใช้จ่าย สวัสดิการ สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข เป็นต้น
เรียกได้ว่า “พิธา-ก้าวไกล” คงหมายมั่นปั้นมือเต็มที่ ภาพและข่าวของเขา ต้องตกเป็นที่พูดถึงตลอดทั้งวันที่ 26 ม.ค. และกลายเป็นกระแสไปจนถึงสุดสัปดาห์ เรื่อยไปต้นสัปดาห์หน้า
แต่ทว่า สุดท้ายกลับแป้ก เพราะดันเจอข่าวตำรวจร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานป.ป.ช. แถลงผล ปฏิบัติการ “หยุดเถอะครับ” จับกุม “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน หลังร่วมกับ “ยศวริศ ชูกล่อม” หรือ “เจ๋ง ดอกจิก” สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และ “พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์” อดีตผู้สมัคร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ข่มขู่เรียกรับเงินจาก “ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์” อธิบดีกรมการข้าว 3 ล้านบาท ก่อนเจรจาต่อรองเหลือ 1.5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการยุติเรื่องร้องเรียน โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการปลูกข้าว และโครงการปรับปรุงการผลิตสำหรับผู้ปลูกข้าว โดยอ้างว่า พบข้อพิรุธที่ส่อไปในทางทุจริต
ที่เรียกกันง่ายๆ ขบวนการตบทรัพย์ จนเป็นข่าวใหญ่พูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง
เลยทำให้ข่าว “พิธา-ก้าวไกล” เงียบสนิท หายเข้ากลีบเมฆ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 26 ม.ค.ทันที
อย่างไรก็ตาม กลางสัปดาห์หน้านี้ “พิธา” และ “พรรคก้าวไกล” จะกลับมาเป็นที่สนใจทางการเมืองอีกครั้ง หลังพุธที่แล้ว 24 ม.ค. “พิธา-ก้าวไกล-ด้อมส้ม” ร้องเฮกันดังลั่น เมื่อ “พิธา” ชนะคดีหุ้นสื่อไอทีวี จนได้กลับมาเป็นสส.อีกครั้ง
โดยรอบนี้ คือพุธที่ 31 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกลางคดี “ล้มล้างการปกครองฯ”
ที่ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 ว่าการกระทำของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่?
โดยมูลเหตุที่นำมาสู่การยื่นคำร้องดังกล่าว มีการเขียนพฤติการณ์ของ “พิธาและพรรคก้าวไกล” ไว้ในคำร้อง โดยการยกสองกรณีสำคัญมาเป็นประเด็นในการยื่นคำร้องคือ
1.สภาฯสมัยที่แล้ว ที่มี “ชวน หลีกภัย” เป็นประธานสภาฯ กลุ่มสส.พรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันลงชื่อ เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสภาฯ แต่ไม่มีการบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุม เพราะฝ่ายกฎหมายของสภาฯ มีความเห็นว่า เป็นร่างที่ขัดรัฐธรรมนูญ
2.กรณีพรรคก้าวไกล นำเรื่องการจะแก้ไขมาตรา 112 ไปเป็นนโยบายหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา และมีการนำเรื่องแก้ไข 112 ไปปราศรัย กล่าวบนเวทีปราศรัยหาเสียงของพรรคก้าวไกล
ดังนั้น “ธีรยุทธ” ผู้ร้องคดี จึงร้องไปว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ดังกล่าวของ “พิธาและพรรคก้าวไกล” เข้าข่าย “ล้มล้างการปกครอง” หรือไม่?
ย้ำชัดๆ อีกรอบ คำร้องคดีดังกล่าว ไม่ใช่การร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล
เป็นเพียงแค่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งขอให้ “พิธาและพรรคก้าวไกล” หยุดการเคลื่อนไหว การให้สัมภาษณ์ หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 โดยเด็ดขาดเท่านั้น ไม่ได้มีเรื่องของการยุบพรรคแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หากสุดท้าย ถ้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏข้อความใดๆ ว่า พฤติการณ์ของ “พิธาและพรรคก้าวไกล” ในเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 เข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อน หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ ก็อาจทำให้มีบางฝ่าย ขยายผลด้วยการไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ที่บัญญัติว่า “หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคและและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค”
หรือไม่ก็ อาจมี “บางฝ่าย” นำถ้อยคำในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เอาผิด “พิธาและสส.พรรคก้าวไกล” ว่ากระทำขัด มาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะมีการเขียนไว้ใน ข้อ 5 ที่ระบุว่า “ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และข้อ 6 “ต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ”
เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ โดนศาลฎีกาฯตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิตมาแล้วกรณี โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันฯ
กระนั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง “พิธา-ก้าวไกล” ชนะคดี เรื่องก็จบทันที ไม่บานปลาย
31 ม.ค.นี้ จึงเป็นอีกหนึ่งวันที่ “พิธา-ก้าวไกล” ต้องมาลุ้นกันว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ…จะออกมาอย่างไร ???
………………………………………
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”