การประชุมของ คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานที่จะมีการประชุมกันสัปดาห์นี้ วันพฤหัสบดีที่ 15 ก.พ.นี้
ตกอยู่ในความสนใจของคนทั้งประเทศ ทั้งคนที่รอคอยเงินหนึ่งหมื่นบาทเข้ากระเป๋าตัวเอง และคนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพื่อรอดูว่า สุดท้าย “เศรษฐา-เพื่อไทย” จะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร???
หลังพบว่า อุปสรรคขวางกั้นต่างๆ มีให้เห็นตลอด จนต้องยอมเสียหลักการ ลดสเปกการแจกลง
จากเดิมที ซึ่งนายกฯเคยประกาศ 1 พ.ค.นี้ กดปุ่ม “ดิจิทัลวอลเล็ต” ได้กันทั่วหน้า จากเดิมอายุเกิน 16 ปีได้หมดทุกคน ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น โดยหากใช้เกณฑ์นี้ จะมีคนได้ร่วม 50-60 ล้านคน แต่ต่อมา…พอรัฐบาลหางบประมาณมาทำไม่ได้ ก็แก้สเปก เป็นจะแจกให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท ซึ่งเกณฑ์นี้ จะเหลือคนได้ประมาณ 50 ล้านคน
แต่ทว่า แม้จะลดสเปกลง แต่ก็มาเจอด่านกั้นสำคัญที่อาจทำให้ ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ทั้งการเข้ามาขวางขององค์กรอิสระ คือ “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) รวมถึงด่านสำคัญสุดท้าย คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” หากรัฐบาลออกพ.ร..บ.กู้เงินห้าแสนล้านบาท มาแจกดิจิทัลวอลเล็ต
โดยด่านแรกที่สำคัญ และเป็นด่านอันตราย ที่อาจทำให้ “รัฐบาลเพื่อไทย” สะดุดล้มลงได้จากดิจิทัลวอลเล็ต ก็คือ “สำนักงานป.ป.ช.” ที่เคยทำให้ “รัฐบาลเพื่อไทย-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พังพาบจน “ยิ่งลักษณ์” ต้องหนีคดีไปต่างประเทศทุกวันนี้จากคดีจำนำข้าวที่ป.ป.ช.เป็นหัวหอก
หลังสำนักงานป.ป.ช.เปิดเผยรายงานเอกสารของ “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ที่มี “สุภา ปิยะจิตติ” อดีตกรรมการป.ป.ช. เป็นประธานที่ได้มีการศึกษารายละเอียดผลกระทบและความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว
ที่ระบุว่า มีความเสี่ยงหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย-ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการ-ความเสี่ยงด้านกฎหมาย เช่น ต้องทำตาม พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561, พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491, คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ประเมินแล้วยังไง “แกนนำรัฐบาลเพื่อไทย” คงต้องเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตไปจนถึงที่สุด จนถึงขั้นไปต่อไม่ได้จริงๆ ถึงจะ “ยอมยกธงขาว” คงไม่ยอมแพ้ง่ายๆ
เรียกได้ว่า คงเข็นไปให้มีการออกกฎหมายให้ได้ แล้วถ้าจะสะดุดจริงๆ ก็ให้สะดุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนกับตอนที่ “ยิ่งลักษณ์” เข็นพ.ร.บ.กู้เงินสองล้านล้านบาทฯไม่ได้ เพราะโดนศาลรัฐธรรมสั่งขวาง ต้องให้ถึงแบบนั้น “เศรษฐา-เพื่อไทย” ถึงจะยอม
ดูได้จากท่าทีล่าสุดของ “เศรษฐา” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศุกร์ที่ 9 ก.พ. นายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต บอกว่า…
“จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 15 ก.พ. จะมีการตอบคำถามได้หมด”
ดังนั้นก็รอดูกัน ประชุมบอร์ดใหญ่ดิจิทัลวอลเล็ต กลางสัปดาห์นี้ 15 ก.พ. ที่ประชุมจะเอาอย่างไร ?
กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่า ในบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตฯ 28 คน ที่ตั้งตามมติครม.เมื่อ 3 ต.ค.66 ก็ใช่ว่าจะมีแต่รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เพราะก็มีรัฐมนตรีจากพรรคอื่นด้วย เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย-กฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง อดีตปลัดคลังฯ และไหนยังจะมี “3 บิ๊กข้าราชการ” ที่มีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต คือ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย-ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจกรรมการ-ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
และยังมีข้าราชการประจำอีกหลายคนที่ถูกรัฐบาลดึงมานั่งเป็นกรรมการ แบบบางคนไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ ก็อาจทำให้ ไม่ค่อยเต็มใจ ที่อยากจะร่วมสังฆกรรมด้วย เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ-ปลัดกระทรวงพาณิชย์-ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมถึง ตัวแทนจากภาคเอกชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำตามที่รัฐบาลต้องการ หากเห็นว่า จะมีอันตราย-มีคดีความตามมา เช่น ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือ อัยการสูงสุด ที่มีความเป็นเอกเทศจากฝ่ายการเมือง คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเอาด้วยกับ “เศรษฐา” ก็ได้ โดยอาจไม่เข้าประชุม หรือไม่ร่วมโหวตใดๆ หรือร่วมโหวต แต่ขอสงวนความเห็น หรืองดออกเสียง เพื่อเซฟตัวเองก็ได้
และถึงต่อให้ “เศรษฐา-แกนนำรัฐบาลเพื่อไทย” ล็อบบี้จนผ่านบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตฯมาได้ แต่ถ้าไปถึงขั้นตอนเอาเข้าครม. ก็ยังต้องไปเคลียร์กับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอีก ให้ร่วมสนับสนุนในการออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาท
ที่ก็อาจมี “รัฐมนตรีบางคน” อึดอัดใจที่จะร่วมด้วย ถ้ารัฐบาลยังเคลียร์ข้อท้วงติงของป.ป.ช.ไม่ได้ แล้วจะเร่งเดินหน้าแบบลุยไฟ ที่สุ่มเสี่ยงจะมีปัญหาภายหลังได้
เว้นแต่จะมีการส่งสัญญาณ หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย ก็อาจถูกปรับออกจากรัฐบาล ต้องกระเด็นไปเป็นฝ่ายค้าน
ถ้าแบบนี้ มันก็คือการ “มัดมือชก” ให้ “รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล” ต้องจำยอม “ลงเรือลำเดียวกัน”
เข้าทำนอง หากเรือล่ม-รัฐบาลพัง-โดนเช็คบิลย้อนหลังจากป.ป.ช. รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องกอดคอพังด้วยกันหมด
ถ้าโดนบีบแบบนี้ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ที่ยังไม่พร้อมจะโดนเขี่ยออกจากรัฐบาล ก็อาจต้อง “จำใจยอมลุยไฟ” ไปด้วยกัน แบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน…ก็ได้
………………………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”