วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSตรวจแถว“พรรคตั้งใหม่” ขั้ว“พท.-พปชร.” เร่งตอกเสาเข็ม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตรวจแถว“พรรคตั้งใหม่” ขั้ว“พท.-พปชร.” เร่งตอกเสาเข็ม

ที่ผ่านมาแวดวงการเมือง-นักวิเคราะห์การเมือง ดูจะเชื่อว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่น่าจะอยู่ครบเทอม โดยส่วนใหญ่มองว่า สามปีหรือสามปีเศษๆ ก็น่าจะถือว่ามาได้ไกลมาก

เพราะมองว่า กระแสบิ๊กตู่ น่าจะเริ่มตกแล้ว คนเลยมองว่า หากแกนนำพลังประชารัฐต้องการกลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบ ก็อาจต้องยุบสภาฯ ก่อนที่กระแสนิยมรัฐบาลจะตกมากจนเกินแก้ เพื่อชิงความได้เปรียบในฐานะกุมอำนาจรัฐ จะได้ทำให้พลังประชารัฐ กลับมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้อีกดีกว่าจะลากยาวไปเรื่อยๆ

ทว่า คนในพรรคพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่กลับไม่คิดเช่นนั้น หลายคนยังเชื่อว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม ไม่จำเป็นต้องยุบสภา แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือหากมีการยุบสภาฯ จนมีการเลือกตั้งก่อนครบสี่ปี ที่ก็เหลืออีกไม่ถึงสองปีแล้ว

ต่อมา ความเชื่อเรื่อง จะมีการยุบสภาฯ ก่อนครบสี่ปี มามีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อ พรรคพลังประชารัฐ ชิงเปิดตัวยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ไปเมื่อ 7 เม.ย. โดยประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐเน้นมากสุดคือ การให้แก้ไขระบบการเลือกตั้ง จากระบบจัดสรรปันส่วนผสม-บัตรเลือกตั้งสองใบ กลับไปเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อรองรับการที่พลังประชารัฐ จะใช้ความเป็นพรรคใหญ่ กุมอำนาจรัฐ ทุนพร้อม เพื่อจะได้ชนะเลือกตั้งได้ส.ส.เข้าสภาฯ ระดับเฉียดๆ สองร้อยที่นั่ง

เลยยิ่งทำให้ นักการเมือง-นักเลือกตั้งทั้งหลาย ที่จดจ้องจะตั้งพรรค-ทำพรรคใหม่ รอช้าไม่ได้ หลังเห็นสัญญาณดังกล่าวจากพรรคพลังประชารัฐว่าเหมือนกับการเตรียมพร้อมหากมีการยุบสภาฯเกิดขึ้น

ทำให้นับจากนี้ การเคลื่อนไหวเรื่องการตั้งพรรค-ทำพรรคใหม่ ของนักการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ จะเริ่มมีมากขึ้น โดยหากแบ่งความเคลื่อนไหวเรื่องการทำพรรคการเมืองออกเป็นสองปีก คือฝ่ายสายขั้ว “เพื่อไทยเดิม-กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตร” กับสายขั้วอำนาจรัฐบาลปัจจุบัน คือ “เครือข่ายพลังประชารัฐ-กลุ่มหรือพรรคที่มีแบนด์ว่าอยู่ตรงข้ามกับเพื่อไทย-ทักษิณ” ก็จะพบความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของหลายคนที่ออกมาตั้งพรรคและมีข่าวจะทำพรรคการเมือง

เริ่มที่ “สายขั้วเพื่อไทยเดิม-กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งกลุ่มที่ถูกจับตามองมากสุดคงไม่พ้น “กลุ่มไทยสร้างไทย” ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่นำทีมอดีตแกนนำเพื่อไทยจำนวหนึ่งออกจากเพื่อไทยมาอยู่ด้วยกันที่พรรคไทยสร้างไทย เช่น โภคิน พลกุล, พงศกร อรรณนพพร, วัฒนา เมืองสุข, น.ต.ศิธา ทิวารี, ต่อพงษ์ ไชยสาส์น เป็นต้น

ซึ่งหลังนายทะเบียนพรรคการเมือง รับรองการตั้งพรรคไทยสร้างไทยไปแล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเดิมที ปลายเดือนเม.ย.นี้ คุณหญิงสุดารัตน์จะนำทีมแถลงข่าวเปิดตัวเข้าพรรคไทยสร้างไทย แต่เมื่อเจอโควิดฯ เลยทำให้อาจเลื่อนไปเป็นช่วงเดือนพ.ค.

ข่าวหลายกระแสบอกว่า ตอนนี้ทีมของคุณหญิงสุดารัตน์ทั้งที่เปิดตัวและไม่เปิดตัว กำลังเร่งฟอร์มทีมกันยกใหญ่ เช่น พยายามสร้างพื้นที่ข่าวผ่านสื่อให้มากที่สุด โดยการให้คนของกลุ่ม-พรรค ออกมาแสดงความเห็นเรื่องต่างๆ ผ่านสื่อโดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เช่นเรื่องโควิดฯ ขณะเดียวกัน เรื่องที่ทำการพรรค ก็มีข่าวว่า หลังไปดูมาหลายแห่ง สุดท้าย ตกลงจะสร้างตึกที่ทำการพรรคของตัวเองแถวดอนเมือง

แต่ที่หลายคนสงสัยและอยากรู้มากสุด คงไม่พ้นว่า ตกลงแล้ว พรรคไทยสร้างไทย ใครเป็นเจ้าของพรรค-ใครเป็นนายทุนพรรค-ใครออกเงินตั้งพรรค ?

ด้วยมองว่า แม้เจ๊หน่อยและครอบครัว จะเป็นคนมีฐานะ มีที่ดินมีทรัพย์สมบัติระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่คนที่จะควักเงินมาตั้งพรรคการเมืองเอง ยังไง ก็น่าจะต้องมี “สปอนเซอร์-หัวจ่าย” ที่คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง จนมีความพยายามแกะรอยกันไปหลายสูตร

อย่างก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวลือที่ออกมาหลายระลอกโดยโยงไปว่า “เจ๊หน่อย” รู้จักมักคุ้นกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ บิ๊กกี่-พล.อ.นพดล อินทปัญญา แกนนำสว. เลยทำให้ มีข่าวแพร่สะพัดในแวดวงการเมืองว่า บิ๊กป้อม มีการผูกสัมพันธ์กับพรรคการเมืองของเจ๊หน่อยไว้ แบบ “แตะๆ” เพื่อว่าสถานการณ์ข้างหน้า พลังประชารัฐอาจจำเป็นต้องมีพรรคพันธมิตรฯ มาร่วมตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง หากว่าไม่สามารถไปร่วมกันได้กับพรรคประชาธิปัตย์หรือแม้แต่ภูมิใจไทยได้อีก รวมถึงหากบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถอดใจ ไม่ลงเลือกตั้งรอบหน้า แล้วพลังประชารัฐ หาคนดันขึ้นเป็นนายกฯไม่ได้ ก็อาจต้องจับมือกับพรรคการเมืองอื่นหลังเลือกตั้ง โดยหากบิ๊กตู่วางมือแล้ว ก็ย่อมปลดล็อกให้บางพรรคสามารถจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายขึ้น โดยสูตรนี้เลยโยงไปที่ พรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ด้วย

กระแสข่าวทำนองนี้ เคยทำให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เคยออกมาตอบโต้ชี้แจงไปแล้ว โดยระบุตอนนั้นว่า

“ขอเรียนยืนยันว่า จากพฤษภาทมิฬ 35 ผ่านมาถึงวันนี้ 29 ปี ตลอดชีวิตทางการเมือง ดิฉันยืนตรงข้ามเผด็จการมาโดยตลอด ดิฉันยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ที่ผ่านมา แวดวงการเมืองให้มุมวิเคราะห์ว่า เรื่อง พรรคไทยสร้างไทย จะเป็นพรรคพันธมิตรกับ พรรคพลังประชารัฐ นั้น อาจเป็นการสับขาหลอก ของทักษิณ ชินวัตรและเพื่อไทย เพราะยังไง แม้ก่อนหน้านี้ สุดารัตน์ จะแตกหักกับแกนนำเพื่อไทย รวมถึง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” จนต้องลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และต่อมาก็ลาออกจากเพื่อไทย เพื่อมาตั้งพรรคไทยสร้างไทย แต่ของแบบนี้ ยังไงคนก็มองว่า เจ๊หน่อยก็ต้องดีลการเมืองกับสายเพื่อไทย-ทักษิณ อยู่แล้ว คงยากจะมาดีลกับสายพลังประชารัฐ-บ้านป่ารอยต่อฯได้ เว้นเสียแต่การเมืองรอบหน้า เงื่อนไขการเมืองหลายอย่างถูกปลดล็อกลง กระแสเรื่องเผด็จการ-พรรคทหาร จบหมดแล้ว มันก็ไม่แน่ ที่พลังประชารัฐกับไทยสร้างไทยจะจับมือร่วมกันก็ได้

ส่วนเรื่องหัวจ่าย-นายทุนพรรคไทยสร้างไทย แวดวงการเมือง หลายส่วนบอกว่า ไม่ต้องห่วง เพราะด้วยความที่คุณหญิงสุดารัตน์อยู่ในวงการการเมืองมานาน รู้จักมักคุ้นกับคนหลายวงการ สามารถเชื่อมต่อคอนเน็คชั่นเพื่อขอรับการสนับสนุนในการทำงานการเมืองครั้งนี้ได้แน่นอน ยิ่งเมื่อ ไทยสร้างไทยจะวางตำแหน่งทางการเมือง ที่ไม่สุดขั้วแบบเพื่อไทย สามารถทำงานได้กับทุกกลุ่ม ก็น่าจะทำให้มีคนพร้อมให้การสนับสนุนจำนวนไม่น้อย  อีกทั้งคนที่มาอยู่กับไทยสร้างไทย ทั้งแบบเปิดตัวแล้วและยังไม่เปิดตัว ก็ไม่ใช่ธรรมดา หลายคนก็มีธุรกิจใหญ่ของตัวเอง สามารถลงขันทำพรรคไทยสร้างไทย ในระดับพรรคกลางๆ ได้แบบสบายๆ

แต่ระหว่างนี้ที่ไทยสร้างไทยกำลังเซ็ตทีมงานกันอยู่ ก็พบว่า คุณหญิงสุดารัตน์ก็เร่งทำพรรคอย่างหนักโดยมีการนัดประชุมแกนนำพรรค-ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละสองวันคือจันทร์-อังคาร โดยใช้บ้านพักของคุณหญิงสุดารัตน์ย่านลาดปลาเค้า เป็นสถานที่นัดประชุมวางแผนงาน ซึ่งเบื้องต้นระหว่างนี้ กลุ่มไทยสร้างไทย พยายามผลักดัน “คนรุ่นใหม่-นักธุรกิจรุ่นใหม่” ให้มีบทบาทในพื้นที่สื่อเช่นการแสดงความเห็นอัดรัฐบาลเรื่องการแก้ปัญหาโควิดรอบสาม  โดยพบว่าหลายคนที่ออกมาในไทยสร้างไทย  ก็คือพวกทีมรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทยหรือเพื่อไทยพลัสเดิม แต่ตอนนี้ตบเท้าออกจากเพื่อไทยมาอยู่กับคุณหญิงสุดารัตน์ในพรรคไทยสร้างไทยเป็นส่วนใหญ่แล้ว

นอกจาก ไทยสร้างไทยแล้ว กลุ่มอดีตเครือข่ายเพื่อไทย ที่มีข่าวกำลังทำพรรคการเมือง ก็ยังมีอีกหลายกลุ่มเช่น “พรรคพลัง” ที่เปิดตัวมาได้สักพัก โดยมีสุรศักดิ์ ศิริบุญ เป็นหัวหน้าพรรคพลัง ที่พบว่าเป็นพรรคที่มีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2563 แต่ยังไม่เป็นที่สนใจมาก 

จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ มีการปรากฏชื่อ “อดีตคนการเมือง” บางคนไปร่วมสังฆกรรมด้วย เช่น มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อดีตแกนนำนปช.ยุคแรก-อดีตส.ส.เพื่อไทย ที่จะมาเป็น ประธานที่ปรึกษาพรรค-ชินวัฒน์ หาบุญพาด อดีตแนวร่วมนปช. ยุคแรก สมัยเป็นนปก.-สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง ยุครัฐบาลเพื่อไทย เลยทำให้ “พรรคพลัง” เริ่มเป็นที่จับตามองว่าจะเป็นอีกหนึ่ง “สาขาพรรคการเมืองของเพื่อไทย-ทักษิณ” ที่อาจเดินตามรอยพรรคอื่นๆ ก่อนหน้านี้เช่น พรรคเพื่อชาติของยงยุทธ ติยะไพรัช โดยพรรคพลัง จะมีการจัดประชุมใหญ่วันที่ 9 พ.ค.2564 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ

และอีกหนึ่งอดีตคนเพื่อไทยที่มีข่าวจะไปทำพรรคการเมืองเอง ไม่ย้ายกลับเพื่อไทย หลังอกหักจากพรรคไทยรักษาชาติที่โดนยุบพรรค นั่นก็คือ “เดอะอ๋อย-จาตุรนต์ ฉายแสง” ที่ข่าวบอกว่ากำลังจะตั้ง “พรรคเส้นทางใหม่” แต่ยังไม่มีอะไรชัดเจนมากนัก

ก่อนหน้านี้ ข่าวหลายกระแสบอกว่า จาตุรนต์พยายามชวนอดีตคนในพรรคไทยรักษาชาติที่ไม่ติดโทษแบนการเมืองมาร่วมตั้งพรรคเช่น สุธรรม แสงประทุม, พิชัย นริพทะพันธุ์, วิม รุ่งวัฒนจินดา, ประภัสร์ จงสงวน, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แต่ก็พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย โดยคงมองว่า จาตุรนต์ไม่มีศักยภาพพอจะทำพรรคการเมืองของตัวเองได้ ถึงทำได้ก็คงเป็นพรรคเล็กๆ หลายคนไม่เอาด้วย จึงกลับเข้าพรรคเพื่อไทยเช่น สุธรรม-พิชัย ขณะที่ ณัฐวุฒิ ก็ติดโทษแบนทางการเมืองจาก คดีชุมนุมก่อความไม่สงบปิดล้อมบ้านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำให้โดนตัดสิทธิ์การเมืองสิบปี แต่ดูแล้ว แกนนำเสื้อแดงคนอื่นๆ ที่อยู่สายณัฐวุฒิ เช่น ก่อแก้ว พิกุลทอง-นพ.เหวง โตจิราการ ก็คงกลับเพื่อไทย มากกว่าจะไปอยู่กับจาตุรนต์

ปิดท้ายที่อีกหนึ่งคนในเครือข่ายเพื่อไทยที่แยกตัวออกมาตั้งพรรค นั่นก็คือ “นคร มาฉิม” อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตส.ส.พิษณุโลก ประชาธิปัตย์ ที่ลาออกจากเพื่อไทยเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยแม้ นครจะเข้าไปอยู่กับเพื่อไทยได้สักระยะ แต่ก็ไม่เคยได้เป็นส.ส.เพื่อไทย เพราะสอบตกตอนเลือกตั้ง 2562 มารอบนี้ ออกมาตั้งพรรคเอง โดยบอกว่าจะเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบ แต่แวดวงการเมือง ดูจะไม่ค่อยสนใจมากนักเพราะมองว่า ไม่ได้เป็นคนที่มีบทบาท มีน้ำหนักอะไรในทางการเมือง พรรคที่ตั้งขึ้น หากไปรอด ก็คงเป็นแค่พรรคเล็กๆ

ถัดมาที่ความเคลื่อนไหวการตั้งพรรคการเมืองในขั้ว “เครือข่ายพลังประชารัฐ-กลุ่มที่มีแบนด์ว่าอยู่ตรงข้ามกับเพื่อไทย-ทักษิณ

โดยที่หลายคนจับตามองมากสุดคงไม่พ้น “พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ล่าสุด กกต.รับรองการตั้งพรรคเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยแม้จะมี นส.พนัชกร ตุลานนท์ เป็นคนไปยื่นกกต.ขอจองตั้งพรรค แต่ข่าวว่า พรรคนี้ เป็นพรรคเครือข่ายของพลังประชารัฐ ในลักษณะพรรคพี่พรรคน้อง เพื่อรองรับการเลือกตั้งรอบหน้า โดยจะมี “ปลัดฉิ่ง-ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มาเป็นหัวหน้าพรรค หลังเกษียณอายุราชการเดือนกันยายนนี้ แต่ข่าวอีกบางกระแสก็บอกว่า ปลัดฉิ่งตั้งพรรคจริง แต่ไม่น่าจะใช่พรรคนี้ แต่เช็คข่าวหลายกระแส เทน้ำหนักไปว่า คงเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติค่อนข้างแน่

ข่าวบางกระแสอ้างว่า คนที่ทำดีลตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ดีลกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐบางส่วน มีการวางเป้ากวาดส.ส.ให้ได้ขั้นต่ำ 30-40 เสียง เพื่อจับมือกับพลังประชารัฐ หลังเลือกตั้ง โดยหากพลังประชารัฐ ทำยอดส.ส.ได้สัก 170-190 เสียง แล้วพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำได้ตามเป้าเช่นกัน ก็สามารถจับมือกันตั้งรัฐบาล แล้วไปดึงมาอีกสัก 3-4 พรรคตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลผสม ประมาณ 5-6 พรรค

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกสองพรรค ที่ไม่ได้อยู่สายพลังประชารัฐโดยตรง แต่ก็ถูกมองว่าไม่น่าจะทำงานการเมืองกับขั้วพรรคฝ่ายค้านเวลานี้ได้ โดยสองพรรคดังกล่าวเปิดตัวนานเป็นปีแล้ว โดยคนตั้งพรรค ก็เป็นอดีตคนพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันทั้งคู่

นั่นก็คือ “กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง-อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยอมทิ้งเก้าอี้ส.ส. มาตั้ง “พรรคกล้า ที่ตอนนี้ตั้งมาได้หนึ่งปีเต็มแล้ว โดยพบว่า พรรคกล้าพยายามขายความเป็นพรรคที่เน้นเรื่อง เศรษฐกิจใหม่-สตาร์ทอัพ-เศรษฐกิจฐานราก จนถูกมองว่า จะเน้นกลุ่มฐานเสียงพวก ชนชั้นกลาง-คนในเมืองและอำเภอเมืองในจังหวัดต่างๆ -กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ ซึ่งฐานเสียงกลุ่มนี้ พบว่าหลาายพรรคการเมืองก็พยายามแย่งทำตลาดกันอยู่ ทั้งพรรคก้าวไกล-ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย-ไทยสร้างไทย ซึ่งหาก “กรณ์-พรรคกล้า สามารถสร้างจุดขายได้ และขยายฐานเสียงไปกลุ่มอื่นๆ ได้อีก ก็อาจเป็นอีกหนึ่งพรรค ที่แม้อาจไม่ใหญ่ แต่ก็น่าจะเป็นพรรคทางเลือกอันดับต้นๆ ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง เลยทีเดียว

ส่วนอดีตคนประชาธิปัตย์คนที่สอง ที่ตั้งพรรคก็ไม่ใช่ใครที่ไหน “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” อดีตส.ส.พิษณุโลก ที่หลังออกจากประชาธิปัตย์ ก็ไปอยู่กับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่กี่เดือน ก็ลาออกมาตั้ง “พรรคไทยภักดี” ภายใต้จุดขายก็คือ เป็นพรรคที่เน้นเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ -สนับสนุนการมีอยู่ของมาตรา 112 และประกาศตัวชัดเจนอยู่ตรงข้าม ม็อบสามนิ้ว-พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เรียกได้ว่า ซัดกันแบบหมัดต่อหมัด สะใจกองเชียร์ทั้งสองฝั่งยิ่งนัก จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ที่ก็อาจมาแบ่งคะแนนจากพรรคพลังประชารัฐ ไปได้ระดับหนึ่ง

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวในการตั้งพรรคของคนการเมืองสองขั้ว ทั้งขั้ว เพื่อไทยเดิม-กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตร และขั้วอำนาจ เครือข่ายพลังประชารัฐ-กลุ่มหรือพรรค ที่มีแบรนด์ว่าอยู่ตรงข้ามกับเพื่อไทย-ทักษิณ

ที่บอกได้เลยว่า ยังไม่หมดแค่นี้ ยังจะมีตามมาอีกหลายขั้ว หลายกลุ่ม ที่จะเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมือง แต่สุดท้าย พอใกล้ถึงเวลาลงสนามเลือกตั้งจริง จะเหลือสักกี่พรรค อันนี้ยังไม่กล้ารับประกัน

………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img