มีความเคลื่อนไหวของ “”พรรคก้าวไกล-แกนนำพรรคก้าวไกล” 2 ฉาก ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 3 เมษายน มีมติรับคำร้อง คดีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มีการ “ยุบพรรคก้าวไกล” และตัดสิทธิ์การเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเป็นเวลาสิบปี
ฉากแรก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในช่วงเกิดเหตุตามคำร้องคดียุบพรรค อภิปรายกลางดึกคืนวันพฤหัสบดีที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมาระหว่างการประชุมสภาฯ เพื่ออภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติ โดยระบุว่า “อาจจะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมือง” และย้ำกลางที่ประชุมสภาฯ “ยิ่งยุบยิ่งทำให้เราไปถึงเส้นชัยได้เร็วมากขึ้น”
ที่ก็คือการพยายามจะสื่อสารไปว่า หากมีการยุบพรรคก้าวไกล อย่าคิดว่าจะทำให้พรรคก้าวไกลเติบโตต่อไปได้ยาก หรือกลายเป็นพรรคเล็ก-พรรคจะแตก แต่ “พิธา” ต้องการบอกว่า หากมีการยุบพรรคก้าวไกล มันจะ “”ยิ่งยุบ ยิ่งโต” อย่างที่หลายคนเคยวิเคราะห์นั่นเอง ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันไป
ส่วนฉากที่สองก็คือ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่พรรคก้าวไกลจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคก้าวไกล ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านบางนา
ที่ได้เห็นท่าทีอันชัดเจนของแกนนำพรรคก้าวไกลว่า จะใช้แท็กติกยื่นขอขยายเวลาในการส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังใกล้ครบเวลา 15 วันตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยแจ้งไว้ตอนรับคำร้อง ที่ก็คือ การทำให้พรรคก้าวไกลมีเวลาหายใจหายคอมากขึ้นในการสู้คดี และจะได้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้นเพื่อ…
“วางแผนรองรับหากมีการยุบพรรค”
ทั้งเรื่องการเตรียมพรรคสำรอง-การจัดทัพแกนนำพรรคใหม่ที่จะตั้งขึ้น ว่าจะให้ใครขึ้นเป็นผู้นำพรรค หากมีการยุบพรรคเกิดขึ้น เป็นต้น
เห็นได้จากที่ การประชุมใหญ่พรรค 6 เม.ย. พบว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการปรับเปลี่ยน “กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล” อย่างที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ ที่ว่า “พิธา” อาจจะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อไปเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ
เพราะก็อย่างที่รู้กัน ดูแล้วคดียุบพรรคก้าวไกล คงใช้เวลาตัดสินนับจากนี้ ช้าสุดก็คงไม่เกินสองเดือนหรือสามเดือน เพราะยังไง พรรคก้าวไกลก็คงใช้วิธีขยายเวลาในขั้นตอนต่างๆ เต็มที่ และคงร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดห้องไต่สวนคำร้อง ซึ่งหากเป็นแบบนี้ กระบวนการพิจารณาคดีก็จะใช้เวลาพอสมควร ก็ทำให้จากที่คนเคยคิดว่าจะตัดสินเร็ว แต่ก็ไม่น่าจะเกิน 3 เดือน กว่าจะได้ข้อยุติ
ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่ พรรคก้าวไกลต้องปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคในตอนนี้แต่อย่างใด เพราะปรับเปลี่ยนไป ก็อาจไร้ประโยชน์ หากก้าวไกลโดนยุบพรรค!
ซึ่งเรื่องการจะขอใช้เวลาให้นานที่สุดของพรรคก้าวไกลในการสู้คดี ดูได้จากท่าทีของ “พิธา” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ให้สัมภาษณ์ระหว่างการไปร่วมประชุมพรรคว่า…
“เราต้องใช้สิทธิ์ในการขอขยายเวลา และขอสิทธิ์ในการไต่สวน กว่าจะได้ต่อสู้ทางคดีอย่างเหมาะสม เพราะเรื่องนี้โทษหนักกว่าคราวที่แล้วเยอะ คราวที่แล้วมีเอาไว้เพียงแค่ปรามป้องกัน อันนั้นเรายังมีสิทธิ์ได้แต่สวนเลย แต่คราวนี้มันถึงกระทั่งยุบพรรค ประหารชีวิตการเมืองทั้งหลาย มันก็ควรที่จะให้สิทธิ์ในการขยายในรายละเอียดและก็ให้ต้องสู้อย่างเต็มที่ มันจะได้หมดข้อครหา แล้วเมื่อดูในรายละเอียดหากหัวหน้าเห็นด้วย ก็คงใช้สิทธิ์ในการขยายเวลาและก็ขอสิทธิ์ในการไต่สวน ในการสู้คดีเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน จะมาคิดว่าเหมือนคดีเดิมก็คงเป็นไปไม่ได้” พิธา ระบุ
พร้อมกับกล่าวสำทับอีกครั้ง ถึงเรื่อง “ยิ่งยุบ ยิ่งโต” ว่า “มันเป็นการติดเทอร์โบ ทำให้พรรคที่ถูกยุบได้แต้มต่อทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า”
ทั้งสองฉากการเมืองดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงท่าทีการเมืองของพรรคก้าวไกล ที่แม้จะอยู่ในสภาพตั้งรับ แต่ก็ไม่ยอมอยู่ในสภาพจำนน
เห็นได้จากการพยายามสร้างกระแสของ “พิธา” และแกนนำพรรค-ส.ส.ของก้าวไกลว่า “ยิ่งยุบ ยิ่งโต”
ที่ย่อมถูกตีความได้ว่า หวังกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่พรรคก้าวไกลเชื่อว่า อาจจะมี “มือที่มองไม่เห็น” ที่ต้องการให้มีการยุบพรรคก้าวไกลว่า เลือกตั้งที่ผ่านมายังได้มา 151 เสียง แต่หากยุบพรรคก้าวไกล เลือกตั้งรอบหน้าอาจแลนด์สไลด์ก็ได้ !
กระนั้นในความเป็นจริง ก็อย่างที่เห็น หลายต่อหลายคดี ที่เคยมีความพยายามสร้างกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็จะพบว่าไม่สำเร็จ
และถึงตอนนี้ หากถามว่ามีโอกาสหรือไม่ ที่พรรคก้าวไกลจะรอดพ้นจากการถูกยุบพรรค ก็เชื่อว่า น่าจะยังพอมีโอกาส เพราะก็มีการมองกันว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินออกมาในคดีล้มล้างการปกครองฯ พรรคก้าวไกลก็ถอดนโยบายแก้ 112 ออกจากเว็บไซด์พรรคทันที และสส.ของพรรคก็ยุติการเคลื่อนไหว การแสดงความเห็นเรื่องการแก้ไข 112 ทันทีเช่นกัน
จุดนี้พรรคก้าวไกลก็อาจใช้ประเด็นนี้ไปเป็นข้อต่อสู้ อ้างต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ว่า ได้ยุติการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้แล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรตัดสินยุบพรรค
อย่างไรก็ตาม ดูตามเนื้อผ้าทางการเมือง หากเทียบโอกาสที่ก้าวไกลจะไม่โดนยุบพรรค ก็พบว่า ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า มีโอกาสจะโดนยุบพรรค มากกว่าไม่โดนยุบพรรค ในสัดส่วนที่สูงกว่ากันมาก แต่เปอร์เซ็นต์ตรงนี้จะปรับเปลี่ยนอย่างไรหรือไม่ รอให้คดียุบพรรคก้าวไกลเดินไปมากกว่านี้ น่าจะพอมองเห็นทิศทางได้มากขึ้น
…………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย….“พระจันทร์เสี้ยว”