วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเหลืออีก 2 ขยัก วัดใจ“บิ๊กตร.-อสส.” สั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง...คดีอาญา“ธนาธร”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เหลืออีก 2 ขยัก วัดใจ“บิ๊กตร.-อสส.” สั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง…คดีอาญา“ธนาธร”

เส้นทางคดีหุ้นสื่อของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า-อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หลังจากนี้ ก็ต้องวัดใจกันแล้วว่า “บิ๊กปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ผบ.ตร.

หรืออาจจะเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนใดคนหนึ่ง ที่ผบ.ตร.มอบหมาย จะมีความเห็นแย้งอัยการในคดีถือหุ้นสื่อก่อนลงเลือกตั้งของธนาธรหรือไม่ หลังเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา อัยการคดีอาญา 4 มีความเห็นทางคดี “สั่งไม่ฟ้องธนาธร”

ซึ่งหากฝ่ายตำรวจมีความเห็นแย้งอัยการ คือยังยืนยันว่าธนาธร ทำผิดพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ เพราะถือหุ้นก่อนการลงสมัครส.ส. และมีความเห็นยืนยันเอาผิด สั่งฟ้องธนาธร ถ้าผลจากฝ่ายตำรวจออกมาแบบนี้ ก็จะทำให้ต้องมีการส่งสำนวนความเห็นในคดีทั้งหมด ไปให้อัยการสูงสุด ทำความเห็นชี้ขาดต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145/1

เบื้องต้นพบว่า ฝ่ายอัยการ ไม่ได้มีการแถลงหรือให้ข่าวแบบลงรายละเอียดว่า อัยการทำไมถึงสั่งไม่ฟ้องธนาธร โดยอัยการบอกแค่เพียงว่า พร้อมจะแถลงเมื่อคดีได้ข้อยุติแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีดังกล่าวของธนาธร ที่ต้นเรื่องมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งและพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง มีความเห็นแจ้งความดำเนินคดี-สั่งฟ้องดำเนินคดีอาญากับธนาธร กรณีถือหุ้นสื่อบริษัทวีลัคมีเดีย ก่อนลงเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562  

จุดนี้…หากวิเคราะห์ดู ก็จะพบว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีอาญา ดังนั้นการสั่งไม่ฟ้องของอัยการ หากดูตามหลักการเอาผิดคดีอาญา สิ่งสำคัญมากเรื่องหนึ่งในการจะดำเนินคดี-สั่งฟ้อง-สั่งลงโทษ ตัวผู้ต้องหา-จำเลย ก็คือ จะดู “เจตนา” ของผู้ถูกดำเนินคดี-จำเลย เป็นหนึ่งในหลักสำคัญของเรื่องความผิดคดีอาญา

ดังนั้น แม้อัยการจะไม่แถลงลงรายละเอียดถึงรูปคดี ในการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องธนาธร แต่ก็พอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า อัยการก็คงมองว่า “ธนาธร…ไม่ได้มีเจตนา” หรือมีพฤติการณ์อำพรางซ่อนเร้น ในการถือหุ้นสื่อก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหมายถึงว่า ความเห็นทางคดีของอัยการ มันก็คือการ….

“หัก-งัด”

กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ ที่ตัดสินด้วยมติ 7 ต่อ 2 ว่า ธนาธรถือหุ้นบริษัทวีลัคฯ ก่อนยื่นสมัครส.ส.อันเป็นการกระทำความผิดตามพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ศาลรัฐธรรมนูญจึงตัดสินให้ธนาธรพ้นสมาชิกภาพส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และต่อมา ธนาธรก็มาโดนตัดสิทธิการเมืองสิบปี ในคดีเงินกู้ 191 ล้านบาทของพรรคอนาคตใหม่

ดูตามนี้ เท่ากับว่า คดีอาญาถือหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้งของธนาธร อย่างน้อยก็ยังเหลืออีก 1-2 ขยัก ถึงจะได้ข้อยุติ ตอนนี้ธนาธรเลยยังเฮได้ไม่เต็มที่

โดย ขยักแรก หากฝ่ายบิ๊กๆ สีกากี เห็นว่า ความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการ มีเหตุมีผล โดยไม่ได้ทำความเห็นแย้งอัยการ ก็เท่ากับคดีอาญาถือหุ้นสื่อของธนาธรในคดีนี้ ก็จบลงทันที

แต่หากออกมาอีกทาง หรือ ขยักที่สอง คือ ฝ่ายตำรวจเกิดไม่เห็นด้วยกับอัยการ โดยมองว่า เมื่อทั้งกกต.มีมติดำเนินคดีอาญากับธนาธร และพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง ก็มีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว จึงถือว่ามีการสกรีนสำนวนกันมาแล้ว

FB คณะก้าวหน้า ท้องถิ่น

อีกทั้ง ฝ่ายบิ๊กๆ ตำรวจ อาจเห็นว่า จำเป็นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใน มาตรา 211 ที่บัญญัติว่า “คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีการไต่สวนข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเฉพาะการทำนิติกรรมต่างๆ ของบริษัทวีลัคฯและตัวธนาธรกับคนในครอบครัว จนศาลมีคำวินิจฉัยออกมาโดยศาลไม่เชื่อว่า ธนาธรมีการโอนหุ้น-ขายหุ้นให้กับคนในครอบครัวก่อนวันยื่นลงสมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งฝ่ายบิ๊กๆ ตำรวจ อาจเห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันกับทุกองค์กร และทุกหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ควรต้องยึดถือหลักการดังกล่าว ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่า ธนาธรถือหุ้นสื่อก่อนลงเลือกตั้ง ตรงจุดนี้ก็อาจทำให้ บิ๊กตำรวจเห็นว่า ควรทำความเห็นแย้งกลับไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด คือยังยืนยันให้สั่งฟ้องธนาธร หากเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้อัยการฝ่ายคดีอาญา 4 จะต้องส่งสำนวน ความเห็นทั้งหมด ไปให้ “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” อัยการสูงสุด ผู้โด่งดังชี้ขาด

สำหรับ “วงศ์สกุล” หลายคน…คงจำกันได้ เพราะก่อนหน้านี้ เวลามีคดีดังๆ ที่ต้องชี้ขาดว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ก็มักจะมีรองอัยการสูงสุดคนอื่นมาทำความเห็นแทนวงศ์สกุลอยู่หลายคดี

เช่นกรณีของ “เนตร นาคสุข” อดีตรองอัยการสูงสุด ที่ขณะรักษาการรองอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา ในคดี “บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา” ทายาทตระกูลเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง จนสุดท้าย เจ้าตัวต้องชิงลาออกจากราชการก่อนถึงวาระเกษียณ หลังกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยมีการเสนอข่าวว่า การสั่งคดีดังกล่าวของ “เนตร” เกิดขึ้นในช่วงที่วงศ์สกุลไม่อยู่และมอบหมายให้ “เนตร” ในฐานะรองอัยการสูงสุดอาวุโสลำดับที่ 1 รักษาราชการแทน

หลังก่อนหน้านี้ ก็เป็น “เนตร นาคสุข” อีกเช่นกัน ที่ลงนามคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดีแทนวงศ์สกุล ในคดีที่มีการฟ้องต่อศาลคดีทุจริตฯ เพื่อเอาผิด “พานทองแท้ ชินวัตร” ในคดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย หลังดีเอสไอ-อัยการ มีความเห็นแย้งกันในการอุทธรณ์คดีพานทองแท้ แต่เมื่อ “เนตร” ลงนามไม่อุทธรณ์คดี เลยทำให้คดีพานทองแท้ ยุติลงแค่ในศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องพานทองแท้

กระนั้น สำหรับคดีธนาธร หากสุดท้าย…ฝ่ายตำรวจมีความเห็นแย้งอัยการขึ้นมา ก็น่าสนใจว่า แล้ว “วงศ์สกุล” จะตัดสินใจเองหรือจะมอบสำนวนให้รองอัยการสูงสุดคนอื่น ทำความเห็นแทนเหมือนกับคดีดังๆ หลายคดีก่อนหน้านี้ ตรงนี้น่าติดตามมาก หากสุดท้าย…คดีต้องส่งมาให้อัยการสูงสุดชี้ขาด 

ส่วนแอ็คชั่นต่างๆ ที่ออกมาตอนนี้ เช่น กรณี “ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตั้งข้อสังเกตุว่า ความเห็นของอัยการ ที่สั่งไม่ฟ้องธนาธร อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เลยออกแอ็คชั่นด้วยการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นไปยังศาลปกครองว่า การที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ถือว่าเป็นคำสั่งอันมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่

ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ แต่ดูแล้วเส้นทางดังกล่าวที่ ศรีสุวรรณ ออกแอ็คชั่น คงใช้เวลาเนิ่นนาน หากกระบวนการเดินไปตามปกติ อาจเป็นปีๆ กว่าจะยุติ อีกทั้งอาจเป็นไปได้ที่ฝ่ายผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาลปกครอง อาจไม่รับเรื่องไว้พิจารณา เพราะถือเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมปกติ

ด้วยเหตุนี้ เส้นทางคดีถือหุ้นสื่อก่อนลงเลือกตั้งดังกล่าวของธนาธร จึงยังเหลือจังหวะต้องลุ้นอีก 1-2 ขยักดังกล่าว ที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่า คดีดังกล่าวสุดท้าย…เรื่องจะไปถึงศาลอาญา จน ธนาธร ต้องกลายเป็นจำเลยหรือไม่ 

………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img