วันอาทิตย์, มิถุนายน 23, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSศึกอภิปรายชำแหละ‘งบประมาณ2568’ งานสุดท้าย....ก่อน“ก้าวไกล”ถูกยุบ??
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศึกอภิปรายชำแหละ‘งบประมาณ2568’ งานสุดท้าย….ก่อน“ก้าวไกล”ถูกยุบ??

ขณะที่ “คดียุบพรรคก้าวไกล” ในชั้นการพิจารณาของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พบว่า เริ่มใกล้ถึงจุดไคลแมกซ์ เข้ามาเรื่อยๆ หลังที่ประชุม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำสั่งให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 17 มิ.ย. และศาลกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 18 มิ.ย.

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีการ “แลกหมัด” กัน ระหว่าง “กกต.” ที่นำโดย “ปกรณ์ มหรรณพ” 1 ใน 7 เสือ กกต. ซึ่งนำทีมแถลงข่าวในนาม กกต.เพื่อยืนยันว่า การส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบ กกต. เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 ม.ค.67 ได้ระบุชัดเจนว่า “การกระทำของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดังนั้น กกต.จึงทำอะไรอื่นไม่ได้ ต้องส่งคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล

ขณะที่ “แกนนำพรรคก้าวไกล” ทั้ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “ชัยธวัช ตุลาธน” ก็ประสานเสียงสวน “กกต.” ว่า ดำเนินการโดยไม่ชอบ เช่น ไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้อง ได้ใช้สิทธิ์ในการสู้คดีอย่างเต็มที่

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อ 9 มิ.ย. “พิธา” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทัพแถลงข่าว สรุปประเด็น 9 ข้อที่ปรากฏในเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ที่พรรคก้าวไกลยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

พบว่า “พิธา” นอกเหนือจากการพยายามบอกว่า กกต.ดำเนินการยื่นยุบพรรคก้าวไกลโดยมิชอบแล้ว “พิธา-ก้าวไกล” ก็ย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าว และไม่มีอำนาจตัดสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล แต่หากจะตัดสิทธิก็ควรตัดสิทธิได้แค่ 5 ปี ตามกฎหมายพรรคการเมืองเดิมปี 2550 ไม่ใช่มาตัดสิทธิ 10 ปีตามคำร้องของ กกต. รวมถึงพยายามสู้ในประเด็นที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน “คดีล้มล้างการปกครองฯ” เป็นคนละส่วนกับคดียุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรใช้แนวคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ มาเป็นแนวไต่สวนคดียุบพรรคก้าวไกล อีกทั้งหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯเมื่อ 31 ม.ค.67 ทางพรรคก้าวไกลก็ได้ดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งคือ ยุติการเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 แล้ว เช่น ถอดนโยบายดังกล่าวออกจากเว็บไซด์พรรคก้าวไกล เป็นต้น

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

แวดวงการเมือง ถึง ตอนนี้ หากจับกระแสดูจะพบว่า ส่วนใหญ่ยังเทน้ำหนักว่า “ก้าวไกล…ไม่รอด” คือเสี่ยงจะโดนยุบพรรค และตัดสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล 10 ปีตามคำร้องที่ กกต.ยื่นมา

ขณะที่ฝ่ายที่ยังเชื่อว่า “ก้าวไกล” ยังอาจมีลุ้นไม่โดนยุบพรรค แม้ความหวังริบหรี่ ก็ให้เหตุผลทำนองว่า คดีล้มล้างการปกครองฯ กับคดียุบพรรคก้าวไกล เป็นคนละส่วนกัน เพราะคดีล้มล้างฯเป็นการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 ที่เป็นเรื่องของการที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถมีคำสั่งให้ “ระงับ-ยับยั้ง” การกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์หรือล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งเมื่อสั่งไปแล้ว หากผู้ถูกร้องดำเนินการตาม ก็ถือว่าจบกันไป และทางพรรคก้าวไกล ก็ดำเนินการไปแล้ว เช่น ไม่มีการเคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 อีก เป็นต้น

หรือการที่พรรคก้าวไกลนำนโยบายเรื่องแก้ 112 ไปหาเสียงตอนเลือกตั้ง ก็เป็นการนำไปหาเสียงที่แจ้งกับ กกต.ในฐานะผู้ร้องแล้ว ซึ่ง กกต.ไม่ได้ห้ามปราบหรือสั่งให้ยุติการนำไปหาเสียง รวมถึงเห็นว่าการที่สส.พรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อตอนสภาฯสมัยที่แล้ว เป็นสิทธิที่สส.ทำได้ ในการเข้าชื่อเสนอแก้กฎหมาย อีกทั้งเมื่อเสนอไป สภาฯก็ไม่บรรจุร่างแก้ไข 112 ดังกล่าว เข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของสภาฯ จึงไม่ถือว่ามีการกระทำเกิดขึ้น เป็นต้น

“ข้างต้น” คือมุมจากฝ่ายที่ยังเชื่อว่า “ก้าวไกล” อาจรอดจากการโดนยุบพรรคก็ได้ ที่ก็ต้องยอมรับระดับหนึ่งว่า ก็มีเหตุมีผลพอสมควร แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ ผลการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา ว่าจะเป็นอย่างไร

คือ “จะยกคำร้องไม่ยุบพรรคก้าวไกล” ไม่ตัดสิทธิการเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล หรือจะ “ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล” และตัดสิทธิการเลือกตั้ง 10 ปี กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ซึ่งแนวโน้มก็คือ ต้องออกมา แนวทางใดแนวทางหนึ่ง ในสองแนวทางดังกล่าว  

ประเมินดูแล้ว จากทิศทางต่างๆ ที่ปรากฏเช่น การที่พรรคก้าวไกลยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดห้องไต่สวนคดี โดยเรียกพยานไปให้ถ้อยคำฯ ตลอดจนการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมนั้น

ทำให้มีโอกาสไม่น้อยที่คดีนี้ ศาลรัฐธณรมนูญอาจเปิดห้องไต่สวนคำร้อง สัก 1 นัด เพื่อเรียกผู้ร้องคือ กกต. และผู้ถูกร้องคือตัวแทนพรรคก้าวไกล และพยาน มาให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธณรมนูญ จากนั้นก็จะนัดลงมติ ตัดสินคดีกันได้เลย ที่ดูทรงแล้ว ไม่น่าจะเกินเดือนก.ค.นี้ ก็คงรู้ผล

และนั่นหมายถึง “ก้าวไกล” ก็จะเข้าสู่โหมดลุ้นระทึกว่า จะรอดหรือไม่รอด หลังเปิดสภาฯ อย่างเป็นทางการ 10 ก.ค.

เมื่อดูจากปฏิทินคดียุบพรรคก้าวไกลดังกล่าว ทำให้การประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่จะถึงนี้ 18-21 มิ.ย. ที่ตามคิวคือวันที่ 18 มิ.ย. เป็นการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ และตามด้วย 19-21 มิ.ย.ที่เป็นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วาระแรกขั้นรับหลักการ

โดยเฉพาะเวทีอภิปรายงบฯ 68 ที่ถือเป็น “เวทีโชว์ของทางการเมือง” ของพรรคฝ่ายค้านทุกยุคทุกสมัย ในการได้อภิปรายชำแหละงบฯ 68 ของรัฐบาลในกระทรวงต่างๆ แล้วลากโยงอภิปรายประเด็นการเมือง เพื่อสร้างความสนใจ

ก็ไม่แน่ เวทีอภิปรายร่างพ.น.บ.งบฯ 68 รอบนี้ อาจเป็นเวทีสุดท้ายที่สส.พรรคสีส้ม จะได้โชว์ฝีปากครั้งสุดท้าย ในนาม “สส.ก้าวไกล-แกนนำพรรคฝ่ายค้าน” ในการอภิปราย-ตรวจสอบรัฐบาลในการตั้งงบฯ 68 กลางสภาฯ อย่างเข้มข้นก็เป็นไปได้ ก่อนที่จะไปเป็นสส.พรรคใหม่ ที่ “แกนนำก้าวไกล” เตรียมการทำ “พรรคสำรอง” ไว้แล้ว หาก “ก้าวไกล” โดนยุบพรรค แต่หากสส.ก้าวไกลคนไหน ไม่อยากไปกับพรรคใหม่ต่อ ก็อาจแยกไปอยู่พรรคอื่น อย่างที่เริ่มมีกระแสข่าว แต่ประเมินแล้ว คาดว่าเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ สส.ก้าวไกลน่าจะย้ายไปอยู่ที่พรรคใหม่ด้วยกันหมด

………………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img