การเมืองสัปดาห์หน้าที่เป็นสัปดาห์แรกของเดือนก.ค. แน่นอนว่า ต้องติดตามมติของ คณะกรรมการการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการประกาศรับรองรายชื่อ “สมาชิกวุฒิสภา” (สว.) ชุดใหม่ 200 คน ซึ่งเดิมที กกต.เคยบอกว่าจะประกาศภายในวันที่ 2 ก.ค. แต่ล่าสุด “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. บอกว่า จะเป็นวันพุธที่ 3 ก.ค.
ดังนั้นก็ต้องรอติดตามกัน โดยถึงตอนนี้ แนวโน้มน่าจะเป็นการประกาศรับรองรายชื่อทั้งหมด ไม่ใช่ทยอยประกาศรับรองแบบการเลือกตั้งสส. เพราะกกต.ปักธงไว้แล้วว่า จะใช้วิธี “รับรองไปก่อน สอยทีหลัง”
เพราะ กกต.มีดาบในมือให้ใช้สอย สว. รวมถึงผู้สมัครสว.ที่ไม่ผ่านเข้ารอบย้อนหลังได้ ที่เป็นดาบ ซึ่งอยู่ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.ฯ
ทั้งการยื่นต่อศาลฎีกาฯ ในเรื่องหากพบว่า คนที่ได้เป็น สว.มีการทำผิดกฎหมายการเลือก สว. ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอย่างไร ก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลฎีกาฯเอาผิดได้ โดยหากเป็น สว.ถ้าไม่รอด ก็ต้องหลุดจากตำแหน่ง สว.และต้องคืนเงินเดือน-ค่าตอบแทนทั้งหมด นับแต่รับตำแหน่งวันแรก ให้กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาต่อไป รวมถึงต้องรับผิดต่างๆ ตามมาด้วย
แต่หากพบว่า คนที่ได้เป็น สว.มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ตั้งแต่การสมัครเข้ารับเลือก หรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครเป็น สว. ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย
ที่สำคัญ ทั้ง 2 กรณี กฎหมายไม่ได้ขีดเส้นว่า กกต.ต้องดำเนินการภายในไม่เกินกี่ปี แต่สว.จะมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปี ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ กกต.จะพยายามเดินหน้าจัดเลือกตั้งและประกาศรับรอง สว.เพราะคิดว่า เดี๋ยวไปสอย-เอาผิดย้อนหลังก็ได้ ยังไงก็มีผลไปถึงวันแรก ตั้งแต่เข้าไปเป็น สว.อยู่ดี
ถ้า กกต. มีการรับรองสว.ในช่วง 2-3 ก.ค. ก็คาดว่า การประชุมสว.นัดแรก ก็น่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สองของเดือนก.ค.
แน่นอนว่า การประชุมสว.นัดแรก ก็เหมือนกับการประชุมสภาฯ หลังเลือกตั้ง ที่เปิดประชุมมา ก็เลือก ประธานสภาฯ กันเลย โดยในส่วนของวุฒิสภา ก็เช่นเดียวกัน ยังไงประชุมสว.นัดแรก ก็ต้องหา “หัว-ผู้นำ” คือ “ประธานวุฒิสภา” ให้ได้ก่อน รวมถึงการเลือก “รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง” และ “รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง” ด้วย ที่จะต้องเลือกในวันเดียวกัน
จับกระแสจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ พบว่า “แคนดิเดต” ชิงเก้าอี้ “ประธานวุฒิสภา” ขั้วที่มีโอกาสสูง จะส่งไปนั่งเป็นประธานวุฒิสภาได้ ยังคงเป็น “สว.สีน้ำเงิน” อยู่ หลังมีการสแกนรายชื่อว่าที่สว.ทั้ง 200 คนแล้ว แม้ตัวเลขของนักวิเคราะห์การเมือง-นักวิชาการและสื่อ อาจไม่ตรงกันนัก แต่ส่วนใหญ่เห็นตรงกัน วุฒิสภาชุดนี้ “สว.สีน้ำเงิน” มากที่สุด น่าจะเกินครึ่ง คือเกิน 100 คน บางคนบอกว่าอาจมีร่วม 120 เก้าอี้ บางคนบอกว่ามากกว่านั้น บางรายให้น้อยกว่านั้น แต่ก็ราวๆ 80-90 เสียง
และยิ่งตามธรรมชาติของนักการเมือง แม้ตอนแรก จะเป็นสว.ไม่ได้สังกัดขั้วไหน บอกว่าตัวเองเป็นสว.อิสระ แต่อยู่ๆ ไป ก็ต้องเข้าสังคม สว. ก็จะถูกดึงเข้ากลุ่มเข้าพวก และโดยธรรมชาติ นักการเมืองก็ชอบอยู่กับขั้วใหญ่ ที่มีบทบาททางการเมืองสูง ดังนั้นตอนแรกๆ อาจไม่ได้อยู่ขั้วน้ำเงิน แต่อยู่ๆ ไป ก็อาจโดนดึงเข้าพวก โดนกลืนเข้ากลุ่ม ก็อาจจะทำให้ สว.สีน้ำเงิน ก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีก
แต่เอาเป็นว่า ถึงตอนนี้สแกนดูคร่าวๆ ยังไง “สว.สีน้ำเงิน” ก็คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้แล้ว ทำให้สามารถผลักดันคนของตัวเอง ไปมีตำแหน่งใหญ่ในวุฒิสภา ทั้ง “ประธานวุฒิสภา” และ “รองประธานวุฒิสภา” ได้
แต่สุดท้าย คนที่สว.สีน้ำเงิน จะดันให้เป็นประธานวุฒิสภา ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า โผจะพลิกหรือไม่ หลังก่อนหน้านี้ มีชื่อ “บิ๊กเกรียง-พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” อดีตผช.ผบ.ทบ.-อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งหลังเกษียณ ไปมีตำแหน่งทางการเมืองเป็น ประธานที่ปรึกษาของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.มหาดไทย ผ่านเครือข่าย “วปอ.คอนเน็กชั่น”
เพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น วปอ.กับ “อนุทิน” และมีความสนิทสนมกันมาก โดยหลัง “อนุทิน” รับตำแหน่ง รมว.มหาดไทยไม่นาน ก็ตั้ง “บิ๊กเกรียง” ให้มาช่วยงานที่กระทรวงมหาดไทย และเมื่อ “พล.อ.เกรียงไกร” ได้คะแนนสูงถึง 74 คะแนนในการเลือกสว.รอบสุดท้าย ผนวกกับ “คอนเน็กชั่น” ที่เห็นชัดว่าแนบแน่นกับ “ขั้วการเมืองสีน้ำเงิน” ก็ทำให้ชื่อโดดเด่นขึ้นมาทันทีว่าจะเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่
และยังมีอีกชื่อที่ก็เป็น สว.สีน้ำเงินเช่นกัน คือ “บิ๊กหมง-มงคล สุระสัจจะ” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง-อดีตผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ สายตรงบ้านใหญ่ชิดชอบ โดยเป็นที่รู้กันว่า เป็นคนที่มีความสนิทสนมและทำงานเข้าขากับ “เนวิน ชิดชอบ” แกนนำพรรคภูมิใจไทย ขั้วสีน้ำเงิน จนก่อนหน้านี้สมัย “มงคล” รับราชการที่กระทรวงมหาดไทย ได้รับการผลักดันจากผวจ.บุรีรัมย์ ให้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมการปกครอง ในช่วง “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” บิดาอนุทิน เป็น รมว.มหาดไทย ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยังได้รับการผลักดันให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วย โดยมีมติ ครม.ให้เป็น ปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ต่อมาเกิดกรณีมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตการเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ “มงคล” ถอนตัวจากการเป็นปลัดมหาดไทย
ที่น่าสนใจ ก็คือทั้ง “บิ๊กเกรียง” และ “บิ๊กหมง” ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งสองคน ต่างมีห้องทำงานอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยด้วยกันทั้งคู่ และต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะมีห้องทำงานใกล้กัน เพราะ “บิ๊กเกรียง” เป็นประธานที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย ส่วน “บิ๊กหมง” ก็เป็นประธานคณะทำงานของ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย หรือ “มท.2” ที่สมัยลงเขต ก็เป็น ส.ส.บุรีรัมย์หลายสมัย และยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ “เนวิน” ด้วย
จนเกิดกระแสข่าวว่า ไม่แน่ “สว.สีน้ำเงิน” อาจได้สัญญาณให้ดัน “บิ๊กเกรียง” เป็นประธานวุฒิสภา ส่วน “มงคล” ให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ส่วนรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ก็ให้เป็นโควตา “สว.ผู้หญิง” หรือไม่ก็เอาพวกนักกฎหมาย มาเป็นรองประธานวุฒิสภา เพื่อช่วยงานด้านกฎหมายให้กับ “บิ๊กเกรียง” และ “บิ๊กหมง” ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง
ที่ก็เริ่มมีการมองกันว่า รองประธานวุฒิสภา อีกคนอาจจะเป็น “บุญส่ง น้อยโสภณ” ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างดี เพราะเป็นอดีตผู้พิพากษา เช่น อดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 7 และยังเป็น อดีตกกต.ด้วย และที่ผ่านมา ก็ทำงานอยู่ที่วุฒิสภามาร่วมห้าปี ในตำแหน่งที่ปรึกษาของ “ศุภชัย สมเจริญ” รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เพราะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในฐานะอดีตผู้พิพากษา-อดีตกกต.
แต่ข่าวอีกกระแสบอกว่า สว.ที่ไม่ได้อยู่ขั้วสีน้ำเงิน เช่น สว.สีส้ม ที่เข้ามาเป็นสว.ได้ประมาณ 22-23 คน อาจจะดัน “บุญส่ง” ไปชิงประธานวุฒิสภา แข่งกับสว.สีน้ำเงิน
อย่างไรก็ตาม มองได้ว่า หากเช็คเสียงแล้ว โอกาสสู้กับ “สว.สีน้ำเงินยาก” ก็คงไม่ค่อยมีใครอยากจะไปลงแข่งด้วย
ซึ่งเชื่อว่า สัปดาห์หน้านี้ จะเริ่มมีความเคลื่อนไหว ของ “ว่าที่สว.ทั้ง 200 คน” ในเรื่องการเลือกประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา ทั้งการนัดพบปะพูดคุยกันของสว.-การล็อบบี้อะไรต่างๆ และยิ่งเมื่อกกต.รับรอง และไปรายงานตัวเสร็จ ก็คาดว่า จะเริ่มมีความเคลื่อนไหวหนักขึ้น เพื่อรวมเสียง-เช็คเสียง และกำหนดตัว คนที่จะมาเป็นประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา
ที่ต้องบอกว่า หาก “สว.สีน้ำเงิน” รวมเสียงกันแน่น ไม่มีแตกแถว โอกาสที่สว.กลุ่มอื่น จะส่งคนมาเบียดชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา มันก็ยาก
……………………………………………
คอลัมน์ : ส่องป้อยค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”