คาดหมายกันว่า หากไม่มีอะไรแทรกซ้อน ปลายสัปดาห์นี้ อาจเป็นช่วง 18-19 ก.ค. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาจจะออกหนังสือนัดประชุมวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน มาร่วมประชุมลงมติโหวตเลือก-เห็นชอบ
“ประธานวุฒิสภา” และ “รองประธานวุฒิสภา” อีก 2 คน รวมเป็น 3 เก้าอี้ใหญ่สภาสูง
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ช่วงต้นสัปดาห์นี้ น่าจะมีการเคาะออกมาจาก “แกนนำผู้คุมเสียงสว.สีน้ำเงิน” แล้วว่า จะดัน “ใคร” เป็น “ประธานวุฒิสภา” กันแน่
หลังก่อนหน้านี้มีชื่อ “มงคล สุระสัจจะ” อดีตผวจ.บุรีรัมย์-อดีตอธิบดีกรมการปกครอง สายตรงเนวิน ชิดชอบ เบียดมากับ “พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์” อดีตผช.ผบ.ทบ.-อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
แต่ต่อมาช่วงหลัง ข่าวว่า “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” กับ “ผู้ยิ่งใหญ่แถวคลองหลอด” ใกล้ๆ กระทรวงมหาดไทย เห็นตรงกันให้ดัน “มงคล” เป็นประธานวุฒิสภา ส่วน “บิ๊กเกรียง-พล.อ.เกรียงไกร” ไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ วุฒิสภา แทน
แต่ข่าวบางกระแส ก็ยังมองว่า มีพลิกได้ อาจมีชื่ออื่นที่บ้านใหญ่บุรีรัมย์กับบิ๊กคลองหลอด กั๊กชื่อไว้มาตลอด แต่จะมาโผล่ตอนช่วงใกล้ๆ วันประชุมสว.เลือกประธานวุฒิสภาให้ฮือฮาเล่น แต่จะใช่หรือไม่ หรือจะมีการสับขาหลอก ให้คนงงกันเล่น งานนี้น่าลุ้น!!!
ส่วนที่ว่า จะมี “สว.กลุ่มอื่น” เสนอชื่อแข่งหรือไม่ ก็คาดว่า ถ้าจะมี ก็อาจเป็นสว.กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สว.พันธุ์ใหม่” ที่มีหัวหอกหลักคือ “ดร.นันทนา นันทวโรภาส” อดีตนักวิชาการสายสื่อสารมวลชน ที่นัดหมายสว.ในกลุ่ม เข้ารายงานตัวต่อสำนักฯเลขาฯวุฒิสภา ในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค.และประกาศไว้ว่า พอรายงานตัวเสร็จ วันดังกล่าวก็จะมีการหารือกันภายในถึงเรื่องการโหวตเลือกประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา รวมถึงโควต้าเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญ วุฒิสภา
อย่างไรก็ตาม ข่าวว่าสว.กลุ่มดังกล่าว ที่ถูกมองว่าก็คือ “สว.สีส้ม” แต่พยายามลอกคราบตัวเอง ไม่ให้ถูกมองว่าเป็นสว.สีส้ม แล้วเรียกตัวเองว่า เป็น “สว.ประชาธิปไตย-สว.พันธุ์ใหม่” เพื่อหวังสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี พบว่ามีการเช็คเสียงกันแล้ว กลุ่มนี้น่าจะมีสว.ไม่ถึง 18 คน จึงทำให้น่าจะยากที่จะส่งคนไปลุ้นเก้าอี้ประธานวุฒิสภาได้
ลุ้นได้เต็มที่ ก็อาจแค่ “รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง” หากกลุ่มสีน้ำเงิน ยอมเปิดทางให้ โดยให้เป็นโควตาของสว.สตรี ก็อาจทำให้สว.บางคนในกลุ่มมีสิทธิ์ลุ้นได้ แต่ถ้าสว.สีน้ำเงิน ไม่เปิดทางให้ มันก็ยากที่สว.กลุ่มสีส้มเดิม จะดันคนในกลุ่มไปนั่งในสามเก้าอี้สำคัญของวุฒิสภาได้
เผลอๆ ลำพังแค่โควตาประธานกมธ.ฯสามัญ ของวุฒิสภา อาจไม่ได้เลยสักเก้าอี้ก็ได้ หลังลือกันว่า สว.ในกลุ่มเล็งจะส่งคนไปนั่งเป็นประธานกมธ.ฯ บางคณะไว้ เช่น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ข่าวออกมาว่าวางตัว “อังคณา นีละไพจิตร” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปลุ้นเป็นประธานกมธ. แม้มีข่าวว่า “อังคณา” เอง สนใจจะไปลุ้นชิงรองประธานวุฒิสภา รวมถึง ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งกมธ.ฯสองคณะดังกล่าว ค่อนข้างมีบทบาทสำคัญในช่วงหลัง กระนั้นมองได้ว่า “สว.สีน้ำเงิน” คงไม่ยอมปล่อยให้กลุ่ม “สว.สีส้ม(เดิม)” ดังกล่าว ได้โควตาประธานกรรมาธิการชุดสำคัญๆ ของวุฒิสภา ไปได้ง่ายๆ
เพราะตอนนี้ถือว่า “สว.สีน้ำเงิน” คุมเสียงเบ็ดเสร็จในสภาสูงแล้ว หลังมีข่าวว่า “สว.สีน้ำเงิน” ตอนนี้ ยอดสว.ในกลุ่มอัพจากก่อนหน้านี้ประมาณ 130 เสียง
ตอนนี้ แวดวง สว.พูดกันว่า “สว.สีน้ำเงิน” น่าจะมีร่วมๆ 144 เสียงแล้ว เพราะช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา “สว.สีน้ำเงิน” และ “มือดีล” ผู้ประสานงานของกลุ่ม ไปชวนสว.คนอื่นๆ มาเข้ากลุ่มได้สำเร็จ หลังไปกินข้าวกินไวน์มาด้วยกันหลายมื้อ จนซื้อใจ สว.หลายคนให้เข้ามาอยู่กับ “สว.สีน้ำเงิน” ได้สำเร็จ
วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของ “สว.สีน้ำเงิน” และ “ผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มสว.สีน้ำเงิน” ได้ว่า คงไม่ได้มองแค่การจัดทัพ-ส่งคนไปคุมวุฒิสภาเท่านั้น แต่น่าจะมองยาว ไปถึงเรื่องของ การมีขุมกำลัง-คนของตัวเอง ใน “องค์กรอิสระ” และ องค์กรอื่นๆ ที่ให้อำนาจสว.โหวต”เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ” เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-คณะกรรมการกสทช.-ประธานศาลปกครองสูงสุด-ตุลาการศาลปกครองสูงสุด-เลขาธิการปปง.เป็นต้น
เพราะแม้ สว.จะไม่ได้เป็นผู้คัดเลือกรายชื่อคนที่ไปสมัครเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องที่ทาง “คณะกรรมการสรรหาฯ” หรือ “กรรมการในองค์กรนั้นๆ” เป็นผู้ลงมติคัดเลือกและส่งชื่อมาให้วุฒิสภา แต่กฎหมายก็ให้อำนาจสว.ในการโหวต “เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ” ดังนั้น หากชื่อที่กรรมการสรรหาฯ หรือคณะกรรมการในองค์กรต่างๆ เช่น คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่จะต้องส่งชื่อคนที่จะถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดมาให้วุฒิสภาโหวต
แต่ถ้า “ฝ่ายสว.สีน้ำเงิน” และ “ผู้อยู่เบื้องหลังสว.สีน้ำเงิน” ไม่เอาด้วย กับชื่อที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระต่างๆ เช่น คณะกรรมการป.ป.ช.-คณะกรรมการการเลือกตั้ง-คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และองค์กรศาลอย่าง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ชี้เป็นชี้ตายการเมืองไทยมาตลอด ก็สามารถส่งซิกให้สว.สีน้ำเงินที่มีเสียงข้างมากในสภาสูง…“โหวตตีตก-โหวตไม่เห็นชอบ” ได้ทุกชื่อ แล้วก็ต้องไปรับสมัคร-สรรหา คัดเลือกกันมาใหม่ เพื่อส่งชื่อมาให้สว.โหวต จนกว่าจะผ่านความเห็นชอบ
มีการมองกันว่า สิ่งนี้ต่างหากคือ “เกมยาว” ที่ “สว.สีน้ำเงิน” และ “ผู้มากบารมีทางการเมือง” ที่อยู่เบื้องหลังสว.สีน้ำเงิน ต้องการเข้ามามีส่วนในการเซ็ตคนเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระและองค์กรอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ สว.ในการโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
อันเป็นอำนาจในมือ ที่ทำให้ตอนนี้ “ผู้อยู่เบื้องหลังสว.สีน้ำเงิน” มีพาวเวอร์ทางการเมือง เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว!!!
………………………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”