ผลจากคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. และการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ
ตามคำร้องที่ส.ส.ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคก้าวไกล ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีร.อ.ธรรมนัสถูกกล่าวหาว่าต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย
สิ่งที่ตามมา แม้ผลคำวินิจฉัยจะยุติไปแล้ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด แต่ก็พบว่า ยังมีควันหลงในเรื่องนี้ โดยเฉพาะข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างร้อนแรง ทั้งประเด็น “ข้อกฎหมาย” และเรื่อง “มาตรฐาน-จริยธรรมทางการเมือง” ทั้งความเห็นของนักการเมือง-นักกฎหมาย-นักวิชาการ ตลอดจนกระแสที่ร้อนแรงในโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ความเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยได้ อีกทั้งกระแสความไม่พอใจที่เกิดขึ้น ไม่กี่วันต่อจากนี้ ก็จะเงียบหายไปตามธรรมชาติทางการเมือง แต่แน่นอนว่า งานนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้ง…
“ศาลรัฐธรรมนูญ-ธรรมนัส” โดนกระแสสังคมตีกระหน่ำ อย่างหนัก
อย่าง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็ถูกนักกฎหมาย นักวิชาการ หลายสำนัก ตั้งคำถามถึง “ดุลยพินิจ” ในการตัดสินคดี ที่ใช้หลักเรื่อง “อำนาจอธิปไตยของศาลไทย” มาเป็นธงนำในการตัดสินเพื่อตั้งประเด็นการวินิจฉัย จนมาซึ่งมติเอกฉันฑ์ 9 ต่อ 0
โดยแม้นักวิชาการหลายสำนัก จะยอมรับว่า หลักอธิปไตยดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มีความเห็นเสริมว่า เนื่องจากร.อ.ธรรมนัสเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นทั้งรัฐมนตรีและส.ส. โดยที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง “การคัดกรองบุคคลเข้าสู่ระบบการเมืองและการใช้อำนาจทางการเมือง” อย่างมาก เห็นได้จาก…รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขียนไว้ว่า หากรัฐมนตรี มีคดีความ จนต้องคำพิพากษา แม้คดีไม่ถึงที่สุด ก็ต้องหลุดจากตำแหน่งทันที
อันมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วกับกรณี อดีตรัฐมนตรีสาย กปปส.ทั้ง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรมว.ดิจิตอลฯ-ถาวร เสนเนียม อดีตรมช.คมนาคม ที่โดนศาลอาญาตัดสินจำคุกคดีกปปส. แม้เป็นแค่ศาลชั้นต้น ยังสู้ได้อีกถึงสองศาล คือศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา แต่ก็ต้องหลุดจากตำแหน่งทันที เพราะขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี อันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ กำหนดสเปกคนเป็นรัฐมนตรีไว้สูงมาก
ด้วยเหตุนี้ แม้ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีร.อ.ธรรมนัสได้ แต่คำวินิจฉัยดังกล่าว ก็เห็นชัดว่า ส่งผลทางการเมืองกับศาลรัฐธรรมนูญในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะไปเข้าทาง พรรคการเมือง-กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ที่ต้องการถล่มศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว โดยเฉพาะ “พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” ที่ถือโอกาสนี้ โหมกระแส…ปลุกให้ประชาชนร่วมลงชื่อในแคมเปญ “1 ล้านเสียง รื้อระบอบประยุทธ์” เพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แก้รัฐธรรมนูญเรื่อง ที่มา-โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญและโละทิ้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันทั้งหมดให้ออกจากตำแหน่งทันที โดยคาดว่า เมื่อการเมืองเข้าสู่โหมดแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังสภาฯเปิดช่วงสิ้นเดือนนี้ กลุ่มที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงโหมกระแส ถล่มศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนัก โดยเอาเรื่อง คดีธรรมนัสมาขยายผลทางการเมืองแน่นอน
ขณะที่ “ธรรมนัส” แม้จะได้อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี-ส.ส.ต่อไป แต่ในทางการเมือง ช่วงนี้ถือว่าหนักพอสมควร เพราะทำให้เรื่องราวในอดีตของตัวเอง-คดีความที่ออสเตรเลีย ถูกสื่อทั้งในและต่างประเทศ นำมารีวิว-รายงานซ้ำอีกรอบ ไม่นับรวมกับกระแสกดดันอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย แต่ “ธรรมนัส” ก็เลือกที่จะใช้ความสงบ สยบกระแสวิจารณ์ โดยไม่ออกมาชี้แจงตอบโต้ใดๆ เพราะรู้ดีว่า ยิ่งพูด-ยิ่งเจ็บ-ยิ่งเข้าเนื้อ
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เรื่องการชิงเก้าอี้ “เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ” ที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า “ธรรมนัส” หมายปองอยู่ จะขอขยับจากรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แทน อนุชา นาคาศัย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี จากกลุ่มสามมิตร ยามเมื่อพรรคพลังประชารัฐมีการประชุมใหญ่สามัญ หลังโควิดสงบลง หลังจากที่เลื่อนมาจาก 18 เม.ย.
กระแสข่าวหลายกระแส ยังให้ข้อมูลไว้เบื้องต้นว่า ถึงตอนนี้ “กลุ่ม 4 รมช.ในพลังประชารัฐ” ที่ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ-สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน-อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ยังคงจับมือเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น และคนในกลุ่มรวมถึงส.ส.ในกลุ่ม 4 ช. ยังมีแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนจากสูตรเดิม ที่เคยจะดัน สันติ พร้อมพัฒน์ นายทุนคนสำคัญของพลังประชารัฐ มาเป็นเลขาธิการพรรค แต่ข่าวว่า สันติหลบแล้ว เพราะไม่อยากมีปัญหากับ กลุ่มสามมิตร ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อีกทั้ง ส่วนตัว ก็ยังไม่พร้อม
จนก่อนหน้านี้ เกิดสูตรใหม่ ที่เป็นข่าวก่อนหน้า การระบาดของโควิดรอบสามคือ “ธรรมนัส” พร้อมจะเป็นเลขาธิการพรรค โดยมีส.ส.พลังประชารัฐบางกลุ่ม ทั้งสายภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคใต้-สายปาร์ตี้ลิสต์ ที่ตามข่าวบอกว่า ส.ส.กลุ่มธรรมนัส…ถึงตอนนี้น่าจะแตะระดับ เฉียดๆ 50 คนขึ้นไป เป็นกองหนุนหาก “ธรรมนัส” เอาจริง
อย่างไรก็ตาม พอเกิดโควิดรอบสาม ตั้งแต่ช่วงต้นๆ เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้การเมืองในรัฐบาลและพลังประชารัฐนิ่งสงบ พรรคมีการเลื่อนการประชุมใหญ่ออกไปไม่มีกำหนด เลยทำให้คนในพรรคไม่ค่อยได้เจอกัน ไม่ได้คุยทางการเมืองกันจริงจัง ส่งผลให้ถึง ช่วงนี้…คนในพรรคพลังประชารัฐ ไม่รู้ว่าสุดท้าย ถึงตอนนี้ “ธรรมนัส” พร้อมจะชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐคนใหม่หรือไม่ หากจังหวะ…มาถึง
เพราะมีการมองกันว่า ไม่แน่ ผลจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อาจทำให้ กลุ่ม 4 ช. โดยเฉพาะตัว “ธรรมนัส” เปลี่ยนใจ ก็ได้
เพราะแค่นี้ก็ตกเป็นเป้าทุกฝีก้าว หากจะพาสชั้นขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล จะยิ่งทำให้ “ธรรมนัส” ตกเป็นเป้ามากขึ้นไปอีก เผลอๆ อาจได้ไม่คุ้มเสีย สู้ถนอมตัวไว้ เล่นการเมืองแบบยาวๆ ดีกว่า แต่ความชัดเจนดังกล่าว คงต้องรอให้ ถึงใกล้ช่วงเปิดประชุมสภาฯ 22 พ.ค. ที่ส.ส.-แกนนำพลังประชารัฐ คงได้หารือพูดคุยกันอีกครั้งว่า จะเอาอย่างไร ควรต้องมีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ถึงตอนนั้น คงเห็นทิศทางมากขึ้นช่วงปลายเดือนนี้
โดยหาก…สุดท้าย กลุ่ม 4 ช.โดยเฉพาะตัว “ธรรมนัส” ถอยร่น ไม่คิดพาสชั้นขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ คงทำให้อย่างน้อย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ คนในพลังประชารัฐอีกหลายกลุ่ม ที่ไม่ได้หนุน “ธรรมนัส” คงหายใจโล่ง เพราะทำให้ พลังประชารัฐ รอดจากการโดนกระสุนตกครั้งใหญ่ไปได้
แม้ลึกๆ จะมีข่าวว่า บิ๊กป้อม ก็เชียร์อยากได้ “ธรรมนัส” มาเป็น มือขวา นั่งเลขาธิการพรรคเต็มตัว แต่ พล.อ.ประวิตร ก็คงไม่อยากให้พรรคตกเป็นเป้ามากกว่านี้
ที่สำคัญ หาก “ธรรมนัส” และ กลุ่ม 4 ช. ถอย ก็ทำให้ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นภายในพรรคจากการเปิดศึกชิงอำนาจกันใน พลังประชารัฐ ตามไปด้วย
…………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”