วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘พท.-ปชน.’ถอยกรูดแก้รธน.ปมจริยธรรม บทเรียน“สุดซอย-ม.112”-ถ้าดื้อ..ทำพัง!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘พท.-ปชน.’ถอยกรูดแก้รธน.ปมจริยธรรม บทเรียน“สุดซอย-ม.112”-ถ้าดื้อ..ทำพัง!

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ จนถูกมองว่า อาจเป็นชนวนทำให้การเมือง ทั้งในและนอกรัฐสภา กลับมาอยู่ในวังวนความขัดแย้งอีกครั้ง

หลังทั้ง “พรรคเพื่อไทย” พรรคแกนนำรัฐบาล และ “พรรคประชาชน” พรรคแกนนำฝ่ายค้าน ต่างประกาศ “ถอยดีกว่า” ด้วยการ “พัก-ชะลอการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ในเรื่อง “มาตรฐานจริยธรรมฯ”

ภายหลังที่ทั้งสองพรรคประกาศ “ถอย” ก็เห็นได้ชัดว่า การเมืองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นชนวนให้มีการปลุกม็อบออกมาอีกรอบ ลดอุณหภูมิลงอย่างฮวบฮาบ

แน่นอนว่า ในทางการเมือง มันเห็นชัดว่า การที่ “เพื่อไทย” ถอยทั้งที่ก่อนหน้านี้ “แกนนำ-คนในพรรคเพื่อไทย” ออกตัวแรง ว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะเรื่อง “มาตรฐานจริยธรรม” ของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ(5) โดยอ้างเหตุผลไปต่างๆ แต่มันก็เห็นชัดว่า “เพื่อไทย” เร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้ อำนาจของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในการลงมติถอดถอนนายกฯ-รัฐมนตรี มีความยากลำบากขึ้น จากเดิมแค่ใช้เสียงข้างมาก “เพื่อไทย” ก็เสนอให้เป็นต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ลงมติ

ทั้งหมดนี้ “เพื่อไทย…คิดและทำ” หลังเกิดกรณี “เศรษฐา ทวีสิน” หลุดจากนายกฯ เพราะหากไม่เกิดเคสนี้ “เพื่อไทย” คงไม่คิดทำแน่นอน

และรอบนี้ที่คิดทำ ก็เพื่อเพื่อป้องกันไม่ให้ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประสบชะตากรรมเดียวกับ “เศรษฐา” ที่อาจเสี่ยงหลุดจากตำแหน่งนายกฯ ในปมเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ไม่วันใดก็วันหนึ่ง หากเกิดพลาดขึ้นมาได้ เลยต้องป้องกันไว้

แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมเบาบางลง ไม่เข้มเหมือนก่อนหน้า ที่ยังจะไปทำลายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเอานักการเมือง-นายกฯ-รมต. ออกจากตำแหน่ง เพราะทำผิดมาตรฐานจริยธรรมยากขึ้น

เพราะตอนนี้ “แพทองธาร” เอาแค่เคสที่โดน “ขาประจำ” อย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” คนเดียว…ที่ร้องเรียนเอาผิดไปที่ “กกต.” และ “ป.ป.ช.” ก็ร่วมๆ 11 เรื่องเข้าไปแล้ว

เรียกได้ว่า “ทำอะไร…ก็โดนทุกดอก” ซึ่งไม่แน่ วันใด-วันหนึ่ง อาจพลาดพลั้ง โดนสอยร่วงเอาแบบ “เศรษฐา” ก็ได้

“เพื่อไทย” จำเป็นต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ “นายกฯอุ๊งอิ๊ง” อยู่ในตำแหน่งนายกฯนานจนครบเทอม เพราะหาก “อุ๊งอิ๊ง” หลุดจากตำแหน่งก่อนครบเทอม “เพื่อไทย” ก็แทบจะหมดตัวเล่นแล้ว จะดัน “ชัยเกษม นิติศิริ” อีก 1 แคนดิเดตนายกฯมา ก็น่าจะยาก ดังนั้นก็ต้องทำทุกอย่าง เพื่อประคับประคอง “แพทองธาร” เอาไว้

แต่เมื่อกระแสสังคม “ไม่เอาด้วย” พรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง “ภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์” ก็เล่นบท “พระเอก” ไม่เอาด้วยกับการแตะเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ผนวกับ “สมาชิกวุฒิสภา” โดยเฉพาะ “สว.สายสีน้ำเงิน” ร่วมๆ 150 คน ที่รอฟังสัญญาณ เมื่อ “ภูมิใจไทย” ไม่เอาด้วย “สว.สีน้ำเงิน” ก็ไม่เอาด้วย แบบนี้ก็เห็นแล้วว่า ไปต่อลำบาก “เพื่อไทย” เลยต้องเล่นบท “ไอ้เสือถอย” พักไว้ก่อน อย่างที่เห็น

เพราะ “เพื่อไทย” มีบทเรียนมาแล้ว จากความพยายามดัน “นิรโทษกรรมสุดซอย” ตอน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ “ทักษิณ ชินวัตร-เพื่อไทย” ประมาท คิดว่ามีเสียงข้างมาก ทำอะไรก็ได้

สุดท้ายเจอแรงต้าน “ม็อบ กปปส.” คนหลายแสนออกมาต่อต้าน ปักหลักกันหลายเดือน จน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อยู่ไม่ได้ ต้องยุบสภาฯ แต่เรื่องก็ยังไม่จบ จนมาเกิด รัฐประหาร คสช.

มันจึงเป็นบทเรียนที่ทำให้ “เพื่อไทย” เตือนตัวเองอยู่ตลอดว่า เรื่องไหน-ประเด็นใด ที่ดูแล้วไปต่อยาก ก็อย่าดันทุรัง

เรื่องนี้ อ่านได้ง่ายๆ มันไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เพราะนี่คือ การถอยของ “เพื่อไทย” เพื่อ “ต่ออายุ” ให้ “แพทองธาร ชินวัตร” ให้อยู่จนครบเทอมนั่นเอง

แล้วสุดท้าย ก็ไปเดินต่อเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้เกิดมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต่อไป

เช่นเดียวกับ “พรรคประชาชน” ที่ประกาศพักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อมาตรฐานจริยธรรม เพราะประเมินแล้วว่า ไปต่อลำบากในสถานการณ์แบบนี้ เพราะเมื่อ พรรคร่วมรัฐบาล 300 กว่าเสียงไม่เอาด้วย สว.ก็ไม่เอาด้วย อีกทั้ง กระแสสังคมก็ไม่หนุน ดังนั้น หากจะเดินหน้าต่อ นอกจากยังไงไม่ผ่านรัฐสภาวาระแรก โดนคว่ำอยู่แล้ว มันก็ไม่เป็นผลดีทางการเมือง ที่พรรคจะดันทุรังเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่อ่อนไหว สังคมไม่ค่อยเห็นด้วย

สุดท้ายทำให้ “พรรคประชาชน” ก็ต้องถอยเช่นกัน เพียงแต่เล่นคำ ใช้คำว่า “พักไว้ก่อน”

ทั้งนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน เรื่องมาตรฐานจริยธรรม พบว่าตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนใช้คอนเซปต์ว่า “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” มีเนื้อหาเช่น ยุติการผูกขาดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม โดยให้แต่ละองค์กรเป็นผู้กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของตัวเองกันขึ้นมาเอง ไม่ใช่ใช้มาตรฐานจริยธรรมฯอย่างที่ใช้ปัจจุบัน ซึ่งให้ใช้เหมือนกันหมดทั้งองค์กรอิสระ-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-คณะรัฐมนตรี-สส.และสว. แต่สุดท้าย มาให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดกรอบมาตรฐานจริยธรรมและมีอำนาจลงโทษผู้ฝ่าฝืนจริยธรรมฯ

โดยการถอยแค่ครั้งนี้ “พรรคประชาชน” ถอยแค่เรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นมาตรฐานจริยธรรมเท่านั้น ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอื่นๆ พรรคยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งพรรคเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอไปแล้ว และกำลังจะเสนอเข้าไปอีก มีทั้งสิ้น 7 แพ็กเกจ

ท่าทีการถอยของพรรคประชาชน มองได้ว่า เป็นการถอย เพราะรู้ดีว่า เดินหน้าต่อไม่ได้ และทำให้สังคม ก็แลเห็นว่า พรรคส้ม-ประชาชน ก็เป็นพรรคการเมือง ที่ไม่ใช่จะดันทุรัง ทำตามความคิดตัวเองโดยไม่ฟังใคร เพราะหากเรื่องไหน สังคมไม่หนุน พรรคก็พร้อมรับฟังและปรับท่าที เมื่อรุกได้ ก็ถอยเป็น

เรื่องนี้อาจเป็นเพราะ “พรรคประชาชน” ก็มีบทเรียนทางการเมืองแบบเดียวกับที่ “พรรคเพื่อไทย” เคยเจอตอนเรื่อง “นิรโทษกรรมสุดซอย” แต่กรณีของพรรคประชาชนคือเรื่อง “แก้ไขมาตรา 112” สมัยที่ยังเป็นพรรคก้าวไกล และเดินหน้าชูเรื่อง ม.112 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน เสียงคนเห็นต่าง

จนสุดท้าย หลังเลือกตั้งปี 2566 เรื่อง 112 นอกจากทำให้หลายพรรคการเมืองและอดีตสว.ชุดที่แล้ว นำมาอ้างว่า ไม่สามารถโหวตให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯได้ จนทำให้ “ก้าวไกล” จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ และเรื่อง 112 ก็ยังทำให้ “พรรคก้าวไกล” โดนยุบพรรคอีกด้วย

บทเรียนเรื่อง 112 จึงน่าจะทำให้ “พรรคประชาชน” นำมาใช้ในการเดินทางการเมืองว่า ต้องฟังกระแสสังคมด้วย ไม่ใช่จะเดินหน้าเอาให้ได้ทุกเรื่อง จนสุดท้าย เรื่องนั้น นอกจากดันไม่สำเร็จแล้ว ยังทำให้กลายเป็นปัญหาในการทำงานการเมืองตามมา

มันจึงไม่แปลกที่ “พรรคประชาชน” ก็ยอมถอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญปมมาตรฐานจริยธรรม เช่นเดียวกับ “พรรคเพื่อไทย”                           

…………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง  

โดย…“พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img