วันพุธ, เมษายน 2, 2025
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSม็อบเขย่า‘ทักษิณ-อิ๊งค์’ ไม่พีก-แค่กวนใจ 
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ม็อบเขย่า‘ทักษิณ-อิ๊งค์’ ไม่พีก-แค่กวนใจ 

เมื่อวันศุกร์ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา “อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีเป็นครั้งแรก ต่อกรณี “สนธิ ลิ้มทองกุล” ผู้ก่อตั้งบ้านพระอาทิตย์ และ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ประกาศจะไปหน้าทำเนียบรัฐบาล วันจันทร์ที่ 9 ธ.ค.นี้ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU44 

อันเป็นการกลับมาเคลื่อนไหวเชิงประเด็นการเมืองอีกครั้งในรอบหลายปี ของ “อดีตยามเฝ้าแผ่นดิน-สนธิ” ค่ายบ้านพระอาทิตย์”

โดย “นายกฯอิ๊งค์” ร่ายยาวว่า “เราต้องรักษาความสงบในประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะหากเราจะไปประเทศไหน แล้วมีม็อบ เราอาจไม่อยากไป ซึ่งประเด็นนี้จะกระทบกับการท่องเที่ยวและประเทศอย่างแน่นอน แต่ว่าหากประชาชนมีข้อเรียกร้อง หรืออยากจะเสนอกับรัฐบาล เรามีกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชนอยู่แล้ว เช่นการยื่นจดหมาย รัฐบาลเห็นว่าความคิดเห็นของประชาชนสำคัญเสมอ แต่การจะเกิดม็อบหรืออะไร เราพูดคุยกันได้ จึงยังไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น จริงๆ แล้วสามารถยกเลิก (MOU44) ได้ตามหลักของกฎหมาย แต่ถามว่า เราควรยกเลิกฝ่ายเดียวหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ดังนั้นคงต้องมีการคุยกันก่อนจะดีกว่า…

…MOU44 มีมานานแล้ว เรื่องความแตกแยกที่ทำให้คนเข้าใจผิด มันไม่ได้มี เราต้องฟังข้อมูลที่จริงให้ครบ อย่าเอาเรื่องของกระแส หรือความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของเรา มาทำให้เป็นประเด็นที่จะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ อันนั้นก็จะไม่ดีไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”

ท่าทีของ “นายกฯอิ๊งค์” ข้างต้น โดยที่ยังไม่เห็นหนังสือของกลุ่มสนธิ ก็ชัดเจนคือ “ไม่เอาด้วยกับข้อเสนอให้ยกเลิก MOU44” โดยยกเหตุผลว่า จะเกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน-กัมพูชา

แต่เป็นที่รู้กันดีว่า “ตระกูลชินวัตร” มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งมายาวนานร่วม 20 กว่าปีกับ “ฮุน เซ็น” ผู้นำกัมพูชาตัวจริง บิดาของ “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบัน

เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ต้องดูกันว่า “อดีตผู้นำม็อบเสื้อเหลือง” จะเอายังไงต่อ หลัง “นายกฯอิ๊งค์” ไม่ขานรับกับข้อเรียกร้องของ “สนธิ” ท่ามกลาง เสียงปรามาสทางการเมือง จาก “คนในรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย” ในทำนองไม่เชื่อว่า เรื่อง MOU44 (ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก-สลับซับซ้อน) จะถูกปลุกให้เป็น “กระแสชาตินิยม” ขึ้นมาจน “กดดัน” หรือถึงขั้น “ขับไล่รัฐบาลแพทองธาร” ได้

สนธิ ลิ้มทองกุล

เพราะมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก-ไกลตัวประชาชน จึงทำให้ยากที่ “กลุ่มตรงข้ามรัฐบาล” จะเอาเรื่องนี้มา “ปลุกม็อบ” ให้จุดติดได้ อีกทั้งยังมองว่า ด้วย “อายุ-สภาพ-บริบทการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป” จากเดิมมากนัก “สนธิ” ในวัยเกือบแปดสิบปี “ไม่น่ามีพลังมากพอ” ที่จะ “ปลุกม็อบให้ลงถนน” ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะให้เป็น “ม็อบแบบปักหลักค้างคืน” น่าจะเกิดขึ้นได้ยากแล้วในพ.ศ.นี้

ขนาด “ม็อบสามนิ้ว” ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา-วัยหนุ่มสาว ก็ยังไม่เคยปักหลักค้างคืน ในช่วงการชุมนุมหลายสิบครั้ง ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำได้ก็เคลื่อนไหวแบบ “แฟลชม็อบ” รวมกันหลายชั่วโมงก็แยกย้าย

ผนวกกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางการเมืองและสภาพตัวบุคคล ทำให้คนก็เชื่อว่า “สนธิ” ก็คงไม่เอาแล้วด้วยกับ “การนำม็อบลงถนนแบบยาวๆ” ที่เสี่ยงจะมีคดีความอะไรต่างๆ ตามมาอีก เอาแค่เคลื่อนไหวนัดรวมตัวเป็นประเด็นๆ ตามจุดต่างๆ แล้วแยกย้าย เอามาให้ได้สักเกินหลักพัน ทำได้ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว กับสภาพสังคมและเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน  

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ฝ่าย “พรรคเพื่อไทย” และ “ทีมงานการเมืองของนายกฯ-พรรคเพื่อไทย” คงประเมินว่า ยังยาก ที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มสนธิในเรื่อง MOU44 จะทำให้เกิดเป็นม็อบแบบยืดเยื้อได้ และ “ตัวสนธิ” ก็คงเลี่ยงจะไม่ให้เกิด

ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยก็มีแผนจะใช้กลไกต่างๆ เพื่อเป็นเวที รับฟังความคิดเห็น รับฟังข้อเรียกร้องและร่วม พูดคุยเรื่อง การเจรจาเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิ์ไทย-กัมพูชา เพื่อลดการเผชิญหน้าทางการเมืองกับนายกฯโดยตรง

ทั้งเรื่องการจะให้บทบาทกับ คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ที่จะมี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ในการรับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ในฐานะตัวกลางของนายกฯและรัฐบาล

ตลอดจนก็พบว่า “พรรคเพื่อไทย” ก็พยายามหาช่องทางตามกลไกทางการเมืองและรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิด “ม็อบนอกรัฐสภา” เกิดขึ้น โดยดึงเรื่องนี้ให้เข้าไปอยู่ในสภาฯ

อย่างเช่นที่เห็นออกมาแล้วก็คือ ข้อเสนอของ “นพดล ปัทมะ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย-อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ออกมาเสนอให้ใช้กลไกของสภาฯ ยุติความเห็นต่างทางการเมือง

“ทำไมต้องไปลงถนน ขอเรียกร้องให้ใช้กลไกของรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปให้ สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน และ สว.ได้อภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเอาลมออกจากใบเรือ ของคนที่จะลงถนน ให้เห็นว่ารัฐสภายังแก้ปัญหาได้ การใช้เวทีสภาเพื่อแก้ปัญหา ถือเป็นการหาทางออกร่วมกัน และคนจัดม็อบ สามารถคุยผ่านตัวแทนในสภาได้ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

นี้ก็คืออีกหนึ่งแผนของ “พรรคเพื่อไทย” เพื่อลดโทน-สกัดการเกิดขึ้นของ “ม็อบ” ที่จะใช้ประเด็น MOU44 มาเคลื่อนไหวโดยการปลุกเร้า โดยอ้างว่า หากไม่ยกเลิกแล้วไปเจรจากับกัมพูชาในอนาคต อาจทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงจะเสียอธิปไตยในทะเลนอกชายฝั่งเกาะกูด มาเป็นประเด็นก่อม็อบ กดดัน “รัฐบาลแพทองธาร”

อันแสดงให้เห็นว่า แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะมองว่า การเกิดขึ้นของ “ม็อบสนธิ” น่าจะยากในพ.ศ.นี้ แต่ก็ไม่ประมาท อะไรที่สกัดได้ ก็ทำออกมา ดีกว่าปล่อยให้ลุกลามบานปลาย จนตั้งรับไม่ทัน

…………………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว” 

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img