วันอาทิตย์, ธันวาคม 22, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSคิกออฟเลือก 47 นายกอบจ.ทั่วประเทศ “บ้านใหญ่แต่ละจว.”ยังเป็นต่อหลายขุม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

คิกออฟเลือก 47 นายกอบจ.ทั่วประเทศ “บ้านใหญ่แต่ละจว.”ยังเป็นต่อหลายขุม

แม้จะมี การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในช่วงที่ผ่านมาไปแล้วร่วม 29 จังหวัด ทำให้การเลือกตั้งนายกอบจ.ที่จะรับสมัครกันตั้งแต่จันทร์นี้ 23 ธ.ค.เป็นต้นไป และจะ เลือกตั้งกันในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.68 ที่จะเลือกกัน เพียง 47 จังหวัด จาก 76 จังหวัดไม่รวมกรุงเทพมหานคร

โดยแม้จะไม่ได้เลือกตั้งกันครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่พบว่า ภาพรวมบรรยากาศการเลือกตั้งนายกอบจ.ที่จะมีขึ้นรอบนี้ ดูเข้มข้น-คึกคักพอสมควร

ยิ่งบางจังหวัด มาเกิดเหตุการณ์บางอย่างเช่น การเสียชีวิตของ “ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์” หรือ “สจ.โต้ง” ในบ้านพัก “โกทร-สุนทร วิลาวัลย์” อดีตนายกอบจ.ปราจีนบุรี โดยมีคลิปเสียงการคุยกันเรื่องการส่งคนลงสมัครนายกอบจ.ปราจีนบุรี และล่าสุด “สจ.จอย-ณภาภัช อัญชสาณิชมน” ภรรยาสจ.โต้ง ตัดสินใจลงสมัครนายกอบจ.ปราจีนบุรี ในนาม พรรคเพื่อไทย โดยฝ่าย บ้านใหญ่ “วิลาวัลย์” รอบนี้อาจบาย ไม่ส่งคนของตัวเองลงชิง เพราะไม่พร้อม

หากเป็นแบบนี้ มันก็ทำให้ ศึกเลือกตั้งนายกอบจ.ปราจีนบุรี ที่จะมีขึ้นมีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่

ที่จะทำให้ เครือข่ายบ้านใหญ่ปราจีนบุรี  “วิลาวัลย์” ที่ทรงอิทธิพลในพื้นที่มาสี่สิบกว่าปี ตั้งแต่ยุคสระแก้ว ยังเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี ก่อนออกไปเป็นจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน อาจเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเสียแล้ว

นี่แค่ “ปราจีนบุรี” ที่เดียว ก็ทำให้ การเลือกตั้งนายกอบจ. 1 ก.พ.68 มีความน่าสนใจขึ้นมาแล้ว และอีก 46 จังหวัด ก็มีเรื่องราว บริบทที่น่าสนใจในเชิงพื้นที่เช่นกัน

เบื้องต้น “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) วางไทม์ไลน์ไว้ว่า ในการเลือกตั้งนายกอบจ.รอบ 1 ก.พ.68 จะมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายในสามสิบวัน ที่ก็คือ 3 มี.ค.68 แต่หากผู้ชนะคนใด ถูกร้องคัดค้านฯ ก็อาจต้องเลื่อนออกไป

สนามชิงชัยครั้งนี้ ที่นอกจากเลือกนายกอบจ.47 จังหวัดแล้ว ก็ยังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สจ.) ที่จะเลือกกันทั่วประเทศ 76 จังหวัด จังหวัดไหนมีประชากรมาก ก็มีสจ.มากตามไปด้วย

แน่นอนว่า หลายจังหวัด ยังไงเสีย เครือข่าย “บ้านใหญ่-ตระกูลการเมือง” ในแต่ละจังหวัด ก็ยังกุมความได้เปรียบในพื้นที่ โดยเฉพาะคนที่ลงนายกอบจ. หากลงสมัครในนามพรรคใหญ่-พรรคฝ่ายรัฐบาล อย่าง “เพื่อไทย” ที่ กุมอำนาจรัฐ โดยเฉพาะ ฝ่ายปกครอง-ตำรวจ จะสามารถเกื้อหนุนช่วยเหลือการเลือกตั้งได้แล้ว

มันยิ่งบวกความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขึ้นไปอีก หากเป็น “บ้านใหญ่” ที่เป็นอดีตนายกอบจ.สมัยที่ผ่านมา ที่อยู่กันมาสี่ปีเต็มและบางคนก็เป็นอดีตนายกอบจ.มาก่อนหน้านี้ บางคนเป็นมาแล้ว 3-5 สมัย รอบนี้ก็ยังลงต่อ มีผลงานเอาไปโชว์หาเสียงได้สบายๆ ก็ยิ่งบวกความได้เปรียบมากขึ้นไปอีก

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ตัวผู้สมัครนายกอบจ. ที่เป็นทั้ง “คนบ้านใหญ่-ลงสมัครใส่เสื้อพรรครัฐบาล-มีอำนาจรัฐคอยช่วยเหลือเกื้อหนุน-เป็นอดีตนายกอบจ.สมัยที่ผ่านมาที่อยู่มาสี่ปี” จึงย่อมเป็นตัวเต็ง มีโอกาสสูงจะคว้าชัยชนะได้

เว้นเสียแต่ ตัวคนๆ นั้น ประชาชนในจังหวัดเบื่อแล้ว โดยมองว่า เคยเป็นอดีตนายกอบจ.ก็จริง แต่ไม่มีผลงาน ไม่เคยทำพื้นที่ ยิ่งหากมีพฤติกรรมที่คนในจังหวัดเอือมระอา เช่น มีข่าวทุจริตฉาวโฉ่ หรือเครือข่าย-เครือญาติหรือลูกน้อง มีพฤติกรรมทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล กร่างคับจังหวัด แบบนี้ก็อาจร่วง สอบตกในรอบนี้ได้ ถ้าคนในจังหวัดเอือมระอาจริงๆ หรือต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่อยากให้บ้านใหญ่ตระกูลใด ผูกขาดการเมืองมากเกินไป ชนิดอยู่กันรากงอก แถมจ้องยึดการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น

แบบนี้ ก็ไม่แน่ มีสิทธิ์พลิกล็อกแพ้เลือกตั้งรอบนี้เอาก็ได้ ถ้าประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา

เพราะมีให้เห็นกันมาแล้วกับการเลือกตั้งนายกอบจ. ก่อนหน้านี้ ในบางจังหวัด ที่นายกอบจ.บางคน ชิงลาออกเพื่อชิงความได้เปรียบ ไม่ให้คู่แข่งตั้งตัวได้ทัน แต่ปรากฏว่า ผลเลือกตั้งออกมา “สอบตก” เพราะประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ที่ก็มีให้เห็นเช่นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ “วาริน ชิณวงศ์” ล้ม “บ้านใหญ่เมืองคอน” ตระกูล “เดชเดโช” ลงได้ ด้วยการเอาชนะ “กนกพร เดชเดโช” อดีตนายกอบจ.สมัยที่ผ่านมา หรือที่ขอนแก่น ซึ่ง “วัฒนา ช่างเหลา” อดีตส.ส.ขอนแก่น พลังประชารัฐปี 2562 เอาชนะ “พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์” ที่มีดีกรีเป็นถึงอดีตนายกอบจ.ขอนแก่น 6 สมัย ลงได้

ต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่พบว่า อดีตนายกอบจ.หลายคน ที่ชิงลาออกก่อนครบวาระ แล้วลงเลือกตั้งอีกรอบ ส่วนใหญ่ก็จะกลับมาได้

แม้บางคนอาจต้องเลือกตั้งถึงสองรอบ เช่น “บิ๊กแจ๊ส-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” อดีตนายกอบจ.ปทุมธานี ที่ตอนลงครั้งแรก แพ้ให้กับ “ชาญ พวงเพ็ชร์” แต่พอ “ชาญ” เจอใบเหลืองจาก “กกต.” ทำให้ต้องเลือกตั้งใหม่ คราวนี้ ทั้ง “ทักษิณ ชินวัตร-เพื่อไทย” ลอยแพ “ชาญ” ผนวกกับ “คนปทุมธานี” เห็นแล้วว่า ถึงเลือก “ชาญ” ไป ก็มีปัญหาเพราะมีคดีความอยู่ ทำให้ถึงชนะไป “ชาญ” ก็ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ “บิ๊กแจ๊ส” เลยชนะในรอบที่สอง  

ดังนั้นโดยภาพรวม ยังไงมองดูแล้ว ผู้สมัครนายกอบจ.ใน 47 จังหวัด พวกที่มาจาก สายบ้านใหญ่ของจังหวัด และยังเป็นอดีตนายกอบจ.รอบที่แล้ว รวมถึงถ้าลงสมัครในสีเสื้อพรรครัฐบาลอย่าง “เพื่อไทย” หรือได้รับการสนับสนุนอยู่ห่างๆ จากบางพรรครัฐบาลเช่น “ภูมิใจไทย” ที่ไม่เปิดตัวส่งลงอย่างเป็นทางการ แต่เป็นกองหนุนอยู่ข้างหลัง

หาก “ผู้สมัครนายกอบจ.คนไหน” มีสเปกแบบข้างต้น ถือว่ามีแต้มต่อทางการเมือง ที่มีโอกาสสูงจะชนะเลือกตั้ง

กระนั้น…ของแบบนี้มันก็ไม่แน่ ใน 47 จังหวัด อาจมีพลิกล็อก แพ้ขึ้นมาบ้างก็ได้ ถ้าคู่แข่ง ไม่ห่างชั้นเกินไป โอกาสพลิกมันก็มีเช่นกัน

………………………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img