การเมืองไทยปีหน้า 2568 ที่เป็น ปีมะเส็ง มองจากปฏิทินการเมือง พบว่า มีหลายเรื่องให้ต้องติดตามไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ และ การเลือกสจ.ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ที่ต้องดูผลการเลือกตั้งที่จะออกมาว่า ผู้สมัครนายก อบจ. สายไหน จะเข้าวินมากที่สุด
จะเป็น สายแดง “พรรคเพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร” หรือ สายสีน้ำเงิน “พรรคภูมิใจไทย” ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล-เนวิน ชิดชอบ” ที่แม้ไม่ได้ส่งคนลงในนามพรรค แต่ก็สนับสนุนอยู่เบื้องหลังในหลายจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ บึงกาฬ ศรีสะเกษ หรือว่าจะเป็น สายสีส้ม ของ “พรรคประชาชน” ที่ส่งคนลงสมัครอย่างเป็นทางการร่วม 20 คน
น่าลุ้นว่า สุดท้ายจะมี “นายก อบจ.สีส้ม” กี่คน จะชนะตามเป้าที่แกนนำพรรคส้มวางไว้คือ อย่างน้อยภาคละ 1 คน ที่ก็คือ ประมาณ 5 จังหวัด จะทำได้สำเร็จหรือไม่ หรือสุดท้ายจะล้มเหลว ไม่ได้สักคน หลังก่อนหน้านี้แพ้มาแล้วสามนัดรวด ทั้งที่ราชบุรี อุดรธานี และล่าสุด อุบลราชธานี
รวมถึงปี 2568 ก็ยังมีประเด็นการเมืองอีกหลายเรื่องให้ติดตาม ซึ่งบางเรื่อง ก็เป็นเรื่องร้อนการเมือง ที่ค้างคามาจากปี 2567 เช่นเรื่องการตรวจสอบกรณี…

“นักโทษเทวดา-ทักษิณ ชินวัตร พักชั้น 14 รพ.ตำรวจ”
ที่ตอนนี้ มีการตรวจสอบแบบคู่ขนาน ทั้งจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีมติรับเรื่องไว้ไต่สวน เพราะเห็นว่า “มีมูล”
จุดที่น่าสนใจคือ การให้กรรมการป.ป.ช.ทุกคน ร่วมเป็นอนุกรรมการไต่สวน
อันแสดงให้เห็นว่า ป.ป.ช.มองว่าเรื่องชั้น 14 เป็นเรื่องใหญ่ มีความสำคัญ และประชาชนจับตาการทำงานของ ป.ป.ช.อยู่
ดังนั้นต้องดูว่า ป.ป.ช. จะใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้นานแค่ไหน และสุดท้าย จะขยายผลไปถึงนักการเมืองได้หรือไม่ หลังเบื้องต้น มติป.ป.ช.ให้ไต่สวนเฉพาะข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ กรมราชทัณฑ์-เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและรพ.ตำรวจ รวม 12 คน เท่านั้น
ขณะเดียวกัน “แพทยสภา” ที่เป็นองค์กรวิชาชีพ ของแทพย์ทั่วประเทศ ก็ส่งเรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ ให้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจของแพทยสภา ทำการตรวจสอบแล้วเช่นกัน โดยดาบในมือของแพทยสภาฯ ก็มีไม่น้อย หากพบว่ามีแพทย์-บุคลากรสาธารณสุข ทำผิดจริยธรรมทางการแพทย์ ด้วยการช่วยเหลือ “ทักษิณ” ที่อาจสุ่มเสี่ยงถึงขั้นโดนเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพได้เลย!
ข้างต้นทั้งเรื่อง เลือกนายก อบจ.ทั่วประเทศ-การตรวจสอบและสอบสวนเรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ คือตัวอย่าง ฉากร้อนการเมืองไทยปี 2568 ที่ฉายหนังตัวอย่างให้ดู และตลอดทั้งปี ก็คงมีหลายฉากการเมืองร้อนๆ เกิดขึ้นตลอดปีแน่นอน

ส่วนสำหรับปี 2567 ที่กำลังผ่านพ้นไป แน่นอนว่า มีฉากการเมืองสำคัญๆ เกิดขึ้นตลอดทั้งปี โดยเรื่องใหญ่สุด คงไม่พ้น การที่ “เศรษฐา ทวีสิน” หลุดจากเก้าอี้นายกฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 14 ส.ค.67 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
กรณีนำชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” อดีตทนายถุงขนม 2 ล้านบาท ขึ้นทูลเกล้าฯถวายแต่งตั้งเป็นรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้กลุ่มสว.ชุดที่ผ่านมา เข้าชื่อกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ จนสุดท้าย “เศรษฐา” ไม่รอด ตกเก้าอี้นายกฯและทำให้ประเทศไทยได้นายกฯคนใหม่ “แพทองธาร ชินวัตร” ที่กลายเป็นนายกฯที่อายุน้อยที่สุดคือ 38 ปี ที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ
รวมถึง “แพทองธาร” ยังเป็น “ชินวัตรคนที่ 3” ต่อจาก “ทักษิณ” ผู้เป็นพ่อ และ “ยิ่งลักษณ์” ผู้เป็นอา ที่ขึ้นเป็นนายกฯ
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่พร้อมหลายอย่างในการขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศ เพราะตลอดชีวิตของ “แพทองธาร” ที่ทำงานบริษัทเอกชน ก็เป็นแค่ “ผู้บริหารบริษัทในเครือ” ที่ “ตระกูลชินวัตร” ถือหุ้น ซึ่งก็มี “ผู้บริหารมืออาชีพ” ทำงานให้อยู่แล้ว
อีกทั้งไม่เคยมีตำแหน่งการเมืองใดๆ มาก่อน ทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทำให้ขาดประสบการณ์ บารมี และการยอมรับทางการเมือง จนถูกมองว่า เป็น “นายกฯหุ่นเชิด” ให้กับ “ทักษิณ” ซึ่งเสียงสะท้อนดังกล่าว ก็ยังดังต่อเนื่องจนถึงช่วงสิ้นปี 2567
ดูได้จากฉายาการเมืองที่สื่อทำเนียบรัฐบาลตั้งให้ ทั้งฉายารัฐบาลคือ รัฐบาล“พ่อ”เลี้ยง และฉายา “แพทองโพย” รวมถึงวาทะแห่งปี “สามีเป็นคนใต้”
ที่สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า สังคมมอง “นายกฯแพทองธาร” อย่างไร และในปี 2568 ก็คาดว่า “แพทองธาร” จะต้องเจอบททดสอบการเมืองอีกหลายเรื่อง เพราะถือว่าทำงานมาร่วม 4 เดือนแล้ว หลังสิ้นสุดเดือนธ.ค.2567

นอกจากนี้ ปี 2567 ยังมีฉากการเมืองสำคัญร้อนๆ เกิดขึ้นอีกหลายฉาก เช่น คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยสั่ง “ยุบพรรคก้าวไกล จากความผิดในคดีล้มล้างการปกครองฯ” ที่ตัดสินไปเมื่อ 7 ส.ค.2567 ซึ่งนอกจากตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ที่เรียกกัน “พรรคส้ม” แล้ว ก็ยังตัดสิทธิ์การลงสมัครรับเลือกตั้งของ กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งมีชื่อของแกนนำพรรคส้มด้วยหลายคน อาทิ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค-ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรค เป็นต้น
รวมถึง การเลือก “สมาชิกวุฒิสภา” (สว.) ที่เข้ามาเป็นสว.ชุดปัจจุบัน 200 คน ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งฉากการเมืองสำคัญของปี 2567 เพราะกระบวนการกว่าจะได้มาซึ่ง สว. มีปัญหากลางทางมาตลอด ทั้งกระบวนการหาเสียง การคัดเลือก การจัดให้มีการเลือกสว. ตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัดและรอบสุดท้าย ที่กรุงเทพฯ
ที่มีข่าวเรื่อง “บล็อกโหวต-ทำโผล่วงหน้า” ออกมาต่อเนื่อง จนสุดท้ายกลายเป็นว่า สว.ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็น “สว.สีน้ำเงิน” ที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับเครือข่าย “พรรคสีน้ำเงิน-ภูมิใจไทย” และ “บ้านใหญ่ตระกูลชิดชอบ” บุรีรัมย์

จนตอนนี้มีข่าวว่า “สว.สีน้ำเงิน” คือสว.ส่วนใหญ่ในสภาสูงที่มีร่วม 160 คน จาก 200 คน ที่คอยกุมหางเสือ “สภาสูง” ไปอีกยาวๆ ร่วมสี่ปีครึ่ง และจะมีบทบาทสำคัญไม่น้อยในทางการเมือง อย่างที่เห็นมาแล้ว กับการโหวตร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ ที่ทำให้ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเพื่อไทย เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แนวโน้มเสร็จไม่ทันก่อนการเลือกตั้งรอบหน้า ต่อให้สภาฯอยู่ครบเทอมถึงปี 2570
ทั้งหมดคือ “ฉากทัศน์การเมืองไทย” ในปี 2567 ปีมะโรง เชื่อมต่อถึงปี 2568 ปีมะเส็ง ที่เราจำลองภาพมาให้เห็น ก่อนโบกมือลาปี 2567 ต้อนรับปี 2568 ไปด้วยกัน
………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย….“พระจันทร์เสี้ยว”