ถึงตอนนี้ ในทางการเมือง “การอยู่หรือไป” จะ “อยู่ครบเทอมหรือไม่” ของรัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นเด่นชัดว่า มีแค่ปัจจัยเดียวเท่านั้นคือเรื่อง “การแก้ปัญหาโควิดฯ”
บนสองปมหลักคือ
1.การบริหารจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยทั่วถึงและรวดเร็ว
2.การแก้ปัญหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ผ่านเดิมพันสุดท้าย การออกพระราชกำหนดกู้เงินรอบใหม่ห้าแสนล้านบาท
ที่ถือเป็นเดิมพันการเมืองครั้งสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ ที่หากทำได้ดี มีประสิทธิภาพ ประชาชนพอใจ ก็ทำให้จะสามารถประคองตัวอยู่ต่อไปในทางการเมืองได้ จนอาจอยู่ครบเทอมได้เลย แต่หากทำออกมาได้ไม่ดี มีปัญหามาก ก็บอกได้เลยว่า รัฐบาลบิ๊กตู่ เตรียมตัวนับถอยหลังได้เลย!!!
เพราะในความแข็งแกร่งทางการเมือง ของรัฐบาลโดยการนำของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่มีเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากทั้งสภาฯ และวุฒิสภา รวมถึง “กองทัพ” ทำให้โอกาสที่ฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองตรงข้ามรัฐบาลจะโค่นล้มรัฐบาลบิ๊กตู่ ในช่วงที่ผ่านมา ทำได้ยากยิ่ง ผนวกกับการเป็นนายกฯมาร่วม 7 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งยุคคสช.และยุคหลังเลือกตั้ง ตัวนายกฯ ก็ยังไม่เคยมีข้อกล่าวหาทุจริตคอรัปชั่น ที่ไปถึงตัว พลเอกประยุทธ์ แบบจังๆ แม้แต่เรื่องเดียว แต่ที่กำลังทำให้รัฐบาลสั่นคลอน กระแสนิยมมีปัญหาก็คือเรื่อง “การรับมือกับโควิดฯรอบสาม” อย่างเดียวจริง ๆ
ยิ่งขณะนี้เห็นชัดที่ผ่านมา กับการรับมือโควิดรอบสาม รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานศบค. มีปัญหาค่อนข้างมากโดยเฉพาะความไม่ชัดเจน-การเปลี่ยนไปมา ของนโยบายเรื่อง
“เป้าหมายการจัดหาวัคซีนและการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ”
เพราะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายและแผนปฏิบัติการหลายครั้ง จนทำให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความสับสน ผลก็คือ ทำให้ประชาชนและหลายภาคส่วนโดยเฉพาะ “ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม” เริ่มไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล ว่าจะสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายที่นายกฯเคยบอกไว้ว่า จะทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้ ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 หรือคิดเป็นประชากร 50 ล้านคน โดยตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป นายกฯเชื่อว่า จะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้กว่า 5 แสน–1 ล้านโดส/วัน
แต่มาถึงขณะนี้ จากเดิมที่รัฐบาลเคยกังวลใจว่า ประชาชนจะไม่ยอมฉีดวัคซีน เพราะกลัวผลข้างเคียง ไม่เชื่อมั่นในยี่ห้อของวัคซีน จนรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนเป็น วาระแห่งชาติ แต่กลายเป็นว่า หลังประชาชนเห็นโควิดระบาดไม่หยุด ตัวเลขคนติดเชื้อพุ่งสูงไม่ลด คนเสียชีวิตก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ ไม่ต้องรณรงค์แล้ว มีแต่คนอยากฉีดและต้องการฉีดให้เร็วที่สุด ไม่เกี่ยงยี่ห้อ
เรื่องนี้เห็นได้ชัดดูแค่ในพื้นที่กทม.หลังเปิดให้คนกทม. จองรับบริการวัคซีน ที่เริ่มเมื่อ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่านโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย SAFE BANGKOK” ผ่าน3 ช่องทางหลัก ได้แก่ เว็บไซต์ไทยร่วมใจดอทคอม แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง และร้านสะดวกซื้อที่ร่วมโครงการ แค่วันแรก ก็มีคนจองการฉีดวัคซีนมากกว่า 1 ล้านคนไปแล้ว
ปัญหาของเรื่องวัคซีน ตอนนี้เลย ไม่ใช่ประชาชนไม่อยากฉีด แต่กลายเป็นว่า การจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนของรัฐบาลมีความล่าช้า-จำนวนวัคซีนที่มีในสต็อก ดูแล้วไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน-การส่งมอบและการจัดซื้อวัคซีนจากต่างประเทศมีปัญหาล่าช้า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ จนทำให้ตัวเลขประชาชนที่ฉีดวัคซีนของประเทศไทย ตามหลังหลายประเทศทั่วโลกค่อนข้างมาก
ผนวกกับ นโยบายหลายเรื่องในการกระจายวัคซีนของภาครัฐ ไม่ชัดเจน คลุมเครือ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เช่นเรื่องนโยบายการฉีดวัคซีนแบบ walk-in ที่ประชาชนเห็นภาพความไม่บูรณาการกันระหว่าง ศบค.กับกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร หรือนโยบายการลงทะเบียนผ่านแอฟฯหมอพร้อม ที่ให้มีการชะลอการลงทะเบียนแล้วปรับให้จองคิวผ่านระบบของแต่ละจังหวัด ที่ก็ยังไม่ชัดเจนถึงเรื่องความพร้อมของแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะการที่จังหวัดจะนำวัคซีนไปฉีดให้ประชาชน รวมถึงยังมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารกับประชาชนของหน่วยราชการก็เห็นชัดว่าไม่บูรณาการกัน ภาครัฐ ตั้งแต่ศบค., ทีมงานโฆษกรัฐบาล, กระทรวงสาธารณสุขและกทม. ค่อนข้างมีปัญหาในการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน จนทำให้บางฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาล ฉวยโอกาส สร้างเฟกนิวส์ ทำให้ประชาชนสับสนในโลกโซเชียลมีเดีย โดยภาครัฐ ก็รับมือเฟกนิวส์ไม่ทัน
ที่สำคัญพบว่า แผนการกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดไม่ตรงกับสภาพปัญหา บางจังหวัดแม้จะเป็นจังหวัดใหญ่ ไม่มีเขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตน้อย แต่กลับได้จำนวนวัคซีนมากกว่าจังหวัดพื้นที่สีแดง จนเกิดการโวยวายกันขึ้นทางการเมืองแม้แต่กับส.ส.รัฐบาลด้วยกันเอง เลยทำให้เรื่องของวัคซีนตอนนี้กลายเป็น “วัคซีนการเมือง” เข้าไปแล้ว
สภาพการณ์ปัญหาทั้งหมดเลยทำให้ประชาชนเริ่มมองย้อนกลับไปที่ “การประเมินสถานการณ์และแผนการรับมือโควิด” ที่ผิดพลาดในภาพใหญ่ของ ศบค.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ที่ผิดพลาดตั้งแต่ตอนโควิดเริ่มระบาดรอบสาม ตอนช่วงต้นเดือนเมษายน ก่อนช่วงวันหยุดยาวสงกานต์ ซึ่งหาก ศบค. มีการออกมาตราการที่เข้มข้น เช่น การล็อกดาวน์ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะจากพื้นที่สีแดงไปยังต่างจังหวัด หรือการรีบเปลี่ยนแผนการจัดซื้อจัดหาวัคซีนจากเดิมที่เคยวางแผนไว้ เพื่อให้มีการจัดซื้อมากขึ้นและตัดสินใจแบบเร่งด่วน เพิ่มปริมาณการจัดซื้อ จะได้เตรียมรองรับการระบาด เพื่อจะได้เร่งฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น
แต่ ศบค. กลับทำงานแบบราชการ รัฐรวมศูนย์ ส่งผลให้การออกนโยบายเชิงปฏิบัติมีความล่าช้า จนนำมาสู่การตัดสินใจที่ช้า ไม่สอดรับกับสถานการณ์ ผลก็เลยเป็นอย่างที่เห็น ปัญหาวัคซีน เลยทำให้ “รัฐบาลฝีแตก-คะแนนนิยมดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว”
จากที่บิ๊กตู่-รัฐบาล เคยใช้เรื่องผลงานสู้กับโควิดรอบแรก มาเป็น จุดแข็ง ผลงานเด่นของรัฐบาล ที่หลายประเทศทั่่วโลกให้การยอมรับในระดับต้น ๆ ของโลก แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า เรื่องโควิดกลายเป็น จุดอ่อน สำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ไปแล้ว
แล้วยิ่งการฉีดวัคซีนล่าช้า ประชาชนก็ยิ่งต้องแบกรับความเสี่ยงในการใช้ชีวิต รวมถึงภาคธุรกิจทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ผลที่ตามมาก็คือ ประชาชนไม่พอใจพล.อ.ประยุทธ์ จนหลายคนประเมินตรงกันว่า หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว มันก็อาจส่งผลให้ รัฐบาลอาจอยู่ได้ยากลำบาก ยามเมื่อโควิดคลี่คลายลง
อาจเพราะด้วยเหตุนี้ รัฐบาล-กระทรวงการคลัง ที่รู้กระแสประชาชนเรื่องนี้ดี จึงต้องรีบออก…
“พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท”
ที่มีผลใช้บังคับไปแล้วเมื่อ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา และอาจนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้านี้
โดยแม้กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาทดังกล่าว จะแบ่งออกสามส่วนคือ 1.แก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท 2.ช่วยเหลือเยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 300,000 ล้านบาท และ 3.ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 170,000 ล้านบาท
แต่หัวใจสำคัญของพรก.กู้ 5 แสนล้านบาทรอบนี้ ก็อยู่ที่สองกรอบใหญ่คือ เงินช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 300,000 ล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ 170,000 ล้านบาท ที่รอบนี้ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ต้องใช้เงินแบบ…
“ยิงให้เข้าเป้า” มากที่สุด
ในทางการเมือง คือใช้ไปแล้ว หรือออกนโยบายอะไรออกมาแล้ว ต้องทำให้ประชาชนพอใจมากที่สุด ลดความโกรธที่มีต่อรัฐบาลให้เร็วที่สุด
ที่สำคัญ ต้องอุดทุกรูรั่ว ไม่ให้เกิดข้อครหา มีทุจริตคอรัปชั่น เงินรั่วไหล ไปถึงมือประชาชน หรือออกนโยบายเอื้อนายทุน เจ้าสัวรายใหญ่ เรียกได้ว่า ใช้เงินแล้ว ทุกโครงการ ทำออกมา ต้องซื้อใจประชาชนให้มากสุดและให้เยอะที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่เป็นฐานเสียงทางการเมืองของรัฐบาล เพราะฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาล-พล.อ.ประยุทธ์ กลุ่มนี้…ต่อให้รัฐบาลออกนโยบายอะไรมา แม้ตัวเองจะได้ประโยชน์ด้วย เข้าร่วมโครงการด้วย เช่น เราชนะ-คนละครึ่่ง แต่คนกลุ่มนี้ ยังไงก็ด่ารัฐบาลอยู่ดี แต่หากทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ใช้เงินดังกล่าว แล้วทำให้ประชาชน-ฐานเสียงของรัฐบาล พอใจได้ ยังไงคนกลุ่มนี้ ก็พร้อมจะเชียร์รัฐบาลต่อไป แต่หากออกนโยบายมาแล้ว ยิงไม่เข้าเป้า หรือล่าช้า แถมมีข่าวทุจริต เงินรั่วไหล ถ้าแบบนี้ รัฐบาลนับถอยหลังได้เลย
เรื่องแผนการกระจายและฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง และการออกมาตราการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ผ่านเงินกู้รอบใหม่ 5 แสนล้านบาทที่ต้องทำให้ได้ผลสำเร็จมากที่สุดในเวลาอันรวดเร็ว
จึงเป็นเดิมพันสำคัญของพล.อ.ประยุทธ์ ในยามที่โควิด กำลังทำให้รัฐบาลเสียคะแนนนิยมไปอย่างมาก เพราะหากทำได้ ก็น่าจะทำให้รัฐบาลพอประคองตัวรอดไปได้สักระยะ แต่หากทำออกมาไม่ดี ล่าช้า ข้อผิดพลาดมีเยอะ จบโควิดเมื่อไหร่ รัฐบาลท่าจะอยู่ลำบากเสียแล้ว !!!
………………………………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”