เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อย่างแท้จริงแล้ว เพราะเหลืออีกไม่กี่วัน ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนายกอบจ.47 จังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ที่จะเลือกกันวันเสาร์นี้แล้ว 1 ก.พ.นี้
ถึงตอนนี้ แวดวงการเมือง ทั้งการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น ฟันธงชี้เปรี้ยง เก้าอี้นายกอบจ. 47 เก้าอี้ทั่วไทย ที่เลือกกันทุกภาค ต่างเชื่อว่า “บ้านใหญ่” ประจำจังหวัด จะคว้าชัยชนะเข้าไปเป็นนายกอบจ.เกินครึ่งหนึ่ง หรืออาจถึง 3 ใน 4 ของ 47 ที่นั่ง
โดยผู้สมัครนายกอบจ.บ้านใหญ่ที่คาดว่าจะคว้าชัย มีทั้งที่ลงสมัครในนามพรรคการเมืองแบบเป็นทางการเช่น “เพื่อไทย” และไม่ได้ลงในนามพรรค แต่เป็น “บ้านใหญ่ตระกูลการเมือง” ที่อยู่ในเครือข่ายของ “พรรคสีน้ำเงิน-ภูมิใจไทย” รวมถึงอยู่ในเครือข่ายของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาธิปัตย์ เช่นที่ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา, รวมไทยสร้างชาติ ที่สุราษฎร์ธานีและนราธิวาส, ชาติไทยพัฒนา ที่นครปฐมและสุพรรณบุรี, ประชาชาติ ที่ยะลา, พลังประชารัฐ ที่สิงห์บุรี เป็นต้น
ขณะที่ “พรรคส้ม-พรรคประชาชน” ที่ส่งคนลงในนามพรรคประชาชนอย่างเป็นทางการ รวมประมาณ 16 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นคนหน้าใหม่ทางการเมือง แต่ก็อยู่ในจังหวัดมานาน เช่น เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ชื่อดังประจำจังหวัด หรือเป็นแพทย์ สาธารณสุขประจำจังหวัดในจังหวัดที่ลงสมัคร เช่น สุราษฎร์ธานี จะมีแค่ที่นครนายก ที่พรรคได้อดีตนายกอบจ.สมัยที่แล้ว คือ “จิม-จักรพันธ์ จินตนาพากานนท์” มาลงสมัครนายกอบจ.ในนามพรรคประชาชน แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นบ้านใหญ่นครนายก
ถึงช่วงสัปดาห์สุดท้าย ประเมินแล้ว มีแนวโน้มสูงที่สุดท้าย ผู้สมัครนายกอบจ.ของ “เพื่อไทย-สีแดง” จะเข้าวินมากที่สุด จากที่ส่งไป 16 จังหวัด
ส่วนอันดับสอง คาดว่าจะเป็นผู้สมัครนายกอบจ.สาย “พรรคสีน้ำเงิน-ภูมิใจไทย” ที่หนุนหลังผู้สมัครนายกอบจ.หลายจังหวัด โดยเฉพาะที่อีสานและภาคใต้ ก็คาดว่า ผู้สมัครนายกอบจ.สายสีน้ำเงิน จะเข้าป้ายมาอันดับสอง ขั้นต่ำน่าจะได้ประมาณ 7-8 จังหวัด
แต่ถึงตอนนี้จังหวัดที่สู้ดุเดือดที่สุดคือ “ศรีสะเกษ” หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” ไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครของเพื่อไทย ถึง 2 วันคือ 24-25 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้จากเดิมที่ “พรรคสีน้ำเงิน” มั่นใจว่าจะชนะในศึกอบจ.ศรีสะเกษ ถึงตอนนี้ เริ่มเป็นกังวลแล้ว หลัง “ทักษิณ” มาลุยเอง
ส่วน พรรคประชาชน จากที่เคยตั้งหมายขั้นต่ำ ขอภาคละหนึ่งเก้าอี้ ที่ก็คือ 5 ที่นั่ง จากภาคเหนือ-อีสาน-กลาง-ตะวันออกและภาคใต้ พบว่า แกนนำพรรคยังเชื่อว่ายังมีลุ้นอยู่ แต่อาจไม่ได้ถึง 5 ที่นั่ง เพราะบางจังหวัดจากที่เคยคิดว่าจะแรง มีกระแส ถึงโค้งสุดท้ายเริ่มแผ่ว เพราะโดนคู่แข่งไล่บี้หนัก เช่น ที่เชียงใหม่ ที่เดิมทีเป็นอีกหนึ่งจังหวัดเป้าหมายสำคัญของพรรคส้ม หลังเปิดตัว “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” อดีตผอ.สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว
แต่ถึงตอนนี้ หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” ลงมาช่วยหาเสียงให้ “พิชัย เลิศพงษ์อดิศร” ป้องกันแชมป์นายกอบจ.เชียงใหม่ให้ได้อีกหนึ่งสมัย และจะใช้เวทีเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร เป็นจุดสุดท้ายของการเดินสายช่วยผู้สมัครนายกอบจ.ของเพื่อไทยหาเสียงในวันที่ 30 ม.ค. ก็ยิ่งทำให้แนวโน้มพรรคส้ม จะเจาะที่เชียงใหม่ได้ยากขึ้นทุกที
แต่ข่าวว่า แกนนำพรรคส้มก็ยังไม่ถอดใจ โดยเชื่อว่ายังมีลุ้นอยู่ และบางจังหวัดที่เดิมทีไม่ค่อยมีลุ้น ตอนนี้ก็เริ่มมีกระแสตอบรับมากขึ้นแบบคาดไม่ถึง เช่น ที่สุราษฎร์ธานี ที่ผู้สมัครของพรรค คือ “นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์” ดีกรี อดีตสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระแสเริ่มมาในหลายอำเภอ
หลังเต็งหนึ่ง “ป้าโส-โสภา กาญจนะ” ที่อยู่ใต้ร่มรวมไทยสร้างชาติและบ้านใหญ่ตระกูล “กาญจนะ” กระแสเริ่มมีปัญหาในพื้นที่ เพราะเจอทั้งพรรคส้มที่ขายผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่พอ ยังต้องสู้กับคู่แข่งเดิม “กำนันศักดิ์-พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว” อดีตนายกฯสมัยที่แล้ว ที่อยู่ใต้ชายคา “พรรคกล้าธรรม” ของ “ธรรมนัส พรหมเผ่า”
เรียกได้ว่า เจอ 2 รุม 1 จนมีข่าวว่า แกนนำรวมไทยสร้างชาติสายภาคใต้ โดยเฉพาะ “ลูกหมี-ชุมพล จุลใส” อาจต้องเข้าไปช่วยพลิกเกมให้ในช่วงโค้งสุดท้าย ไม่อย่างนั้นหากรวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้นายกอบจ.ที่สุราษฎร์ธานี ก็อาจทำให้กระทบกับการเลือกตั้งส.ส.สมัยหน้าก็ได้ หลังเลือกตั้งปี 2566 รวมไทยสร้างชาติเกือบชนะยกจังหวัดมาแล้วเพราะกวาดมาได้ 6 จาก 7 ที่นั่ง
ดังนั้น ช่วงสัปดาห์สุดท้าย ก่อนวันเลือกตั้งนายกอบจ.เสาร์ที่ 1 ก.พ.นี้ คาดว่า ผู้สมัครนายกอบจ.แต่ละคน โดยเฉพาะพวกตัวเต็งทั้งหลาย คงต้องวางแผนหาเสียงเลือกตั้งกันแบบเน้นๆ พลาดไม่ได้
บางจังหวัด อาจต้องขอความช่วยเหลือไปที่ “พรรคการเมือง-กลุ่มการเมือง” ที่หนุนหลังอยู่ให้ช่วยวางแผนเลือกตั้งให้ และที่สำคัญอาจต้องขอให้ส่ง “กระสุนดินดำ-ท่อน้ำเลี้ยง” มาให้ที่พื้นที่ด่วน เพื่อรอยิงช่วง 1-2 วันสุดท้าย ทำให้คาดว่า ในบางจังหวัด ช่วง 1-2 วันสุดท้าย “เงินสะพัด” ในจังหวัดแน่นอน หลังเริ่มมีข่าวว่า บางจังหวัดก็ยิงปูพรมไปก่อนแล้ว
เบื้องต้น มีผลโพลบางสำนักออกมาเพื่อประเมินผลเลือกตั้งนายกอบจ. อย่างเช่น “นอร์ทกรุงเทพโพล” ที่ออกมาเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังทำการสำรวจช่วง 13-19 ม.ค.68 หัวข้อ “เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2568” โดยมีผู้ให้สำรวจทั้งสิ้น 1,500 ราย จากทั่วทุกภูมิภาค พบว่า พรรคที่มีสิทธิ์ชนะมากสุดในการเลือกตั้งท้องถิ่น
อันดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย 30.6%
อันดับ 2 พรรคภูมิใจไทย 20.8%
อันดับ3 พรรคประชาชน 20.5%
อันดับ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ 10.2%
อันดับ 5 พรรคชาติไทยพัฒนา 6.9%
อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ 6.4% และอื่นๆ 4.6%
ขณะที่ ไอเอฟดีโพลและเซอร์เวย์ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) สำรวจความเห็นคนไทยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิ์เลือกนายกอบจ. เรื่อง “ประชาชนหวั่นเลือกตั้ง อบจ. แทรกแซง-ทุจริต-ขัดแย้ง-พัฒนาท้องถิ่นสะดุด” จาก 1,222 ตัวอย่างใน 6 ภูมิภาค
ผลสำรวจที่ออกมา มีบางประเด็นน่าสนใจ เช่น ประชาชนกังวลการแทรกแซงของพรรคการเมืองระดับชาติสู่การบริหารท้องถิ่น กังวลว่าหากผู้สมัครจากพรรคบ้านใหญ่ได้เป็นนายกอบจ. จะเน้นประโยชน์พรรค/พวกพ้อง ทุจริต ผูกขาดการพัฒนา ทำงานแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และกลุ่มผู้มีอิทธิพลขยายตัว
“การสู้ศึก อบจ. ร้อนแรงในทุกมิติ โจมตีกันดุเดือด จนประชาชนกังวลว่า อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงมองว่า การเมืองระดับชาติ มีอิทธิพลในการเลือกตั้งท้องถิ่นมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทุกพรรคใช้เวที อบจ. เป็นฐานสร้างคะแนนนิยม หวังผลเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2570”
ถือเป็นผลสำรวจที่สอดรับกับความเป็นจริงทางการเมืองที่ส่วนใหญ่เห็นตรงกัน ผลเลือกตั้งนายกอบจ. 47 จังหวัดครั้งนี้ มีผลทางการเมืองไปถึงการเลือกตั้งส.ส.สมัยหน้าแน่นอน จึงไม่แปลกที่ “แต่ละพรรค-แต่ละค่าย” จะทุ่มสรรพกำลังกันเต็มที่ เพื่อคว้าชัยให้ได้
……………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย…“พระจันทร์เสี้ยว”