จับจังหวะการรุกไล่ของ “รังสิมันต์ โรม” แกนนำพรรคประชาชน หัวหอกหลักพรรคฝ่ายค้านในเวลานี้ ในเรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขายไฟฟ้าให้เอกชนที่เชื่อมไปถึงประเทศเมียนมา แล้วต่อมามีการให้ข้อมูลโดยเฉพาะจาก “ฝ่ายค้าน” ที่อ้างว่า “คู่สัญญา” ของ “กฟภ.” เป็น “นอมินีของธุรกิจสีเทา” นำไฟฟ้าที่ได้ ไปทำ “ธุรกิจสีเทา” ที่เมียวดี ชเวก๊กโก ด้านแม่สอด จ.ตาก, ท่าขี้เหล็ก ด้านแม่สาย จ.เชียงราย เช่น “กาสิโน-พนันออนไลน์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
ซึ่ง “ฝ่ายค้าน” โดย “รังสิมันต์” ใช้ช่องทางการเป็น ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ เรียกข้อมูลเรื่องดังกล่าวจากหลายหน่วยงานมาหลายเดือนแล้ว อีกทั้งจริงๆ เรื่องนี้ “รังสิมันต์” ก็เกาะติดและเคยนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว ตอนยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ตอนนั้น สถานการณ์ความรุนแรงของ “แก็งคอลเซ็นเตอร์” ยังไม่รุนแรงเท่าปัจจุบัน ยิ่งช่วงหลัง “ทุนจีนสีเทา” เข้าไปเป็น “นายทุนใหญ่” ทำธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว แล้ว “หลอกลวงคนจีน” จากแผ่นดินใหญ่ด้วยกันเอง เช่น มีคนจีนถูกฉ้อโกง 160 ล้านบาทที่เมืองเมียวดี
จนเมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา “หลิว จงอี้” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ ต้องเดินทางไปที่ แม่สอด จ.ตาก หลังมีรายงานว่า คนจีนตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และถูกหลอกลวงไปทำงานเป็นสแกมเมอร์ ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งการเดินทางไปดังกล่าว ได้มีการสังเกตการณ์ “จุดที่มีการทำธุรกิจสีเทาฝั่งตรงข้าม” เช่น เมืองเคเคปาร์ค ตรงข้าม อ.แม่สอด
จน “ฝ่ายจีน” เสนอให้จัดตั้งศูนย์ประสานงาน และปฏิบัติการร่วมไทย-จีน เพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์และธุรกิจสีเทา ที่มี “ทุนจีนสีเทา” เกี่ยวข้องแล้ว “หลอกลวงคนจีน” ด้วยกันเอง
ทำให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึง “ความล้มเหลว” ของ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ในการ แก้ปัญหาทุนสีเทาบริเวณชายแดน
จนถึงตอนนี้ ปมธุรกิจสีเทาบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา กับ ความล้มเหลวของรัฐบาลเพื่อไทย ที่แก้ไขไม่ได้ จนรัฐบาลจีน ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน ตามข้อมูลของฝ่ายค้านที่อ้างว่า เบื้องหลังธุรกิจสีเทาดังกล่าว อาจมี “เครือข่ายสีกากี” ที่เชื่อมโยง “นักการเมือง” เกี่ยวข้องด้วย
คาดการณ์ไว้ว่า ถ้าฝ่ายค้านยังมีข้อมูลไหลมาเรื่อยๆ และมีข้อมูลใหม่-ข้อมูลเด็ด โดยเฉพาะเรื่อง หน่วยงานรัฐไทยบางแห่ง ทำให้เกิดธุรกิจสีเทา ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรัฐมนตรีในรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาหรือแก้ไขช้า อาจทำให้ “ฝ่ายค้าน” นำเรื่องนี้ ไปเป็นส่วนหนึ่งในการ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกับ “รัฐมนตรีบางคน” ก็ได้
เช่น อาจเป็น “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.มหาดไทย (มท.1) ในฐานะที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยเอาประเด็นเรื่อง เหตุใดที่ “กฟภ.” ถึงไม่ยอมยุติการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ “คู่สัญญา” ที่เอาไฟฟ้าไปทำ “ธุรกิจสีเทาบริเวณชายแดน”
แม้ต่อให้ “กฟภ.” และ “อนุทิน” จะอ้างได้ว่า ได้เคยมีการทำหนังสือสอบถามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง เช่น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ตรวจสอบแล้ว แต่ถ้าฝ่ายค้านมั่นใจว่า ข้อมูลที่มี สามารถยื่นซักฟอก “อนุทิน-มท.1” ในเรื่องความล่าช้าในการแก้ปัญหา
ปมนี้อาจเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะถูกนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่นเดียวกับประเด็นอื่นๆ ที่ฝ่ายค้านจ้องซักฟอก “อนุทิน” อยู่ เช่น ปมปัญหาที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กับการแก้ปัญหาของกรมที่ดิน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ปมปัญหาเรื่องการขายไฟฟ้าของ “กฟภ.” ดังกล่าว ก็จะพบว่า “บอร์ดกฟภ.” ก็ไม่ยอมให้ตัวเองอยู่ในสภาพ “ตั้งรับ” มีการใช้วิธีปล่อยเอกสารสำคัญๆ ออกมา ผ่านสื่อมวลชนประจำกระทรวงมหาดไทย ออกมาเป็นจุดๆ เพื่อปกป้องตัวเองว่า การขายไฟฟ้าดังกล่าวทำตามมติ ครม. และ มีการขอให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ว่าฯ-ทหาร-หน่วยความมั่นคง มีการตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 2567 รวมทั้งสิ้นร่วม 30 ครั้งที่ออกหนังสือไป แต่กลับไม่ได้รับหนังสือตอบกลับแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อเริ่มกลายเป็นข่าวดัง บางหน่วยงานถึงเพิ่งตอบกลับมา เช่น ป.ป.ส. เป็นต้น
มันจึงแสดงให้เห็นว่า “บอร์ดกฟภ.” ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน มีการอาวุธป้องกันตัวเองในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้พลาดตกเป็นจำเลยสังคมและเกิดปัญหาเรื่องคดีความตามมาในอนาคต
สำหรับ “บอร์ดกฟภ.” ถือเป็นรัฐวิสาหกิจเกรดเอของกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ ไฟฟ้า ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้คนจะเป็น “บอร์ดกฟภ.” ได้ต้องไม่ธรรมดา
โดยปัจจุบัน ประธานบอร์ดกฟภ. ก็คือ “อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมานั่งเป็นประธานบอร์ดกฟภ.ตั้งแต่ม.ค.2567 ตอนที่ยังเป็นอธิบดีกรมการปกครอง และยังมี “ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์” อธิบดีกรมการปกครอง อดีตผวจ.บุรีรัมย์ สายตรง “เนวิน ชิดชอบ”–“พล.ท.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ” อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ-“กรณินทร์ กาญจโนมัย” รองผอ.สำนักงบประมาณ–“พล.ต.ท.สำราญ นวลมา” ผช.ผบ.ตร. อดีตผบช.นครบาล หนึ่งในตัวเต็งรอเป็น “ผบ.ตร.” ในอนาคต หากไม่สะดุดขาตัวเองเสียก่อน-“วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ ปัจจุบันเป็นประธานบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW
โดยโควตาการเมือง ชัดเจนคือ “เดอะป๋อม-ปรีชาพล พงษ์พานิช” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” อดีตรมว.ท่องเที่ยวฯยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และอดีตปลัดมหาดไทยที่เข้ามาในโควตาการเมือง เพราะตอนนี้ “ปรีชาพล” อยู่ในช่วงโดนตัดสิทธิ์การเมือง จากคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ตอนเลือกตั้งปี 2562 ไม่สามารถรับตำแหน่งการเมืองได้ แต่เป็นบอร์รัฐวิสาหกิจได้ รัฐบาลเพื่อไทย จึงส่งไปคุมบอร์ดกฟภ. แบบห่างๆ
รวมถึงชื่อที่หลายคนไม่คาดคิดก็คือ “ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” นักกฎหมายอิสระ ซึ่งบทบาทที่ผ่านมา อยู่ตรงข้ามกับ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “รัฐบาลเพื่อไทย” มาตลอด โดยเฉพาะการออกมาให้ความเห็นเรื่อง “ทักษิณ” ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว จนเคยไปขึ้นเวทีม็อบคปท.ข้างทำเนียบรัฐบาลหลายครั้งช่วงชุมนุมตอนรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แต่ตัวเองกลับเป็นบอร์ดกฟภ. ทำเอาหลายคน “งง” ว่ามาได้ไง
แต่สืบมาแล้วพบว่า “ดร.เจษฎ์” ได้รับแต่งตั้งเป็นบอร์ดกฟภ. โดยการผลักดันของ “บิ๊กเก่ง-สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เพราะตอนที่เอาชื่อเข้าครม.เมื่อม.ค. 2567 เป็นยุคที่ “สุทธิพงษ์” ยังเป็นปลัดมหาดไทย และเคยมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า “สุทธิพงษ์” รู้จักกับ “ดร.เจษฎ์” จนเคยขอให้มาช่วยงานเป็น “ที่ปรึกษากฎหมายอย่างไม่เป็นทางการ” ให้ด้วย
เชื่อว่า ปมปัญหาขายไฟฟ้าฯ ดังกล่าว คงยังจะเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองต่อไปในสัปดาห์นี้ ว่า สุดท้าย “รัฐบาล-มหาดไทย-กฟภ.” จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร ?
………………………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย…“พระจันทร์เสี้ยว”