คีย์แมนรัฐบาล ออกมาสำทับแบบสอดประสาน ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ – วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ – อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย – อนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ต่างยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า…
“ยังไม่มีสัญญาณยุบสภาฯ” โดยเฉพาะ “ผู้จัดการรัฐบาล” อย่าง “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร” ถึงขั้นการันตี
“บอกแล้วว่าจะอยู่ครบ 4 ปี จะไปเกี่ยวอะไรกับเรื่องการเลือกตั้ง รัฐบาลยังทำงานอยู่เลย”
การแสดงความเชื่อมั่นของแกนนำรัฐบาล ว่าจะยังไม่มีการยุบสภาฯช่วงนี้ แม้การเมืองเป็นเรื่องของอนาคต ทุกอย่างอาจเกิดการพลิกผันเปลี่ยนแปลงได้ แต่อย่างน้อยในทางการเมือง ท่าทีของแกนนำรัฐบาลดังกล่าว มันก็ทำให้เกิดความคลี่คลายทางการเมืองขึ้นมาระดับหนึ่งว่า ความเป็นไปได้ในการยุบสภาฯ ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้
หลังช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แนววิเคราะห์การเมืองหลายแวดวง ต่างมองโอกาส-ความเป็นไปได้ของการยุบสภาฯว่า อาจเกิดขึ้นได้หากสถานการณ์ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องตัดสินใจยุบสภาฯ เพื่อคุมจังหวะทางการเมือง หลังกระแสนิยมบิ๊กตู่ในช่วงหลัง ลดลงค่อนข้างมากจากผลกระทบโควิดรอบสามและปัญหาการจัดการเรื่องวัคซีน
อย่างไรก็ตาม เมื่อแกนนำรัฐบาลหลายคนออกมายืนกรานยังไม่มีสัญญาณยุบสภาฯเวลานี้ มันก็ทำให้กระแสข่าวดังกล่าว คลี่คลายไประดับหนึ่ง หลังก่อนหน้านี้ ในทางการเมือง ใครต่อใคร มองไปในทางเดียวกันว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาฯ ไม่น่าจะเกิดขึ้นช่วงนี้ โดยเร็วสุดน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายปีนี้ หรือกลางปีหน้า ภายใต้ปัจจัยหลักๆ คือ
1.ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มีการประกาศใช้ ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้
2.รัฐบาลมีการจัดทัพข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ เรียบร้อยหมด โดยเฉพาะในกระทรวงที่มีความสำคัญในทางการเมือง เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ ที่จะมาแทน “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ซึ่งจะเกษียณในเดือนกันยายนนี้
3.สถานการณ์โควิด ในประเทศไทยคลี่คลายขึ้น ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงทั่วประเทศ จนประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
4.สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยกระเตื้องขึ้น ทั้งในระดับประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจเกือบทั้งโครงสร้าง โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของประเทศ
5.มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่พรรคพลังประชารัฐผลักดันอยู่ในเวลานี้ เสร็จสิ้นตามที่ต้องการ
ทั้ง 5 ปัจจัยดังกล่าว เมื่อไล่เรียงดูแล้ว จะพบว่า เร็วที่สุดอย่างเรื่อง ร่างพ.ร.บ.งบฯ 65-การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กว่าจะสะเด็ดน้ำ เร็วสุดก็คือ ต.ค.-ธ.ค. ปีนี้
ด้วยเหตุนี้ แวดวงการเมืองเลยบอก เรื่องยุบสภาฯไม่มีแน่ช่วงนี้ ยังไงถึงตอนช่วง พ.ย.-ธ.ค. ปีนี้ ค่อยมาดูกันอีกที เพราะถึงช่วงนั้น มีการประเมินว่าสถานการณ์โควิดก็ น่าจะคลี่คลายแล้ว สมการ-ความน่าจะเป็นในเรื่อง ยุบสภาฯ ต้องไปดูช่วงนั้นอีกที แต่บางฝ่าย แม้แต่ฝ่ายค้าน ก็เชื่อว่า ภายในปีนี้ แม้ต่อให้ มีการแก้ไขรธน.-พ.ร.บ.งบฯ ประกาศใช้ แต่โอกาสจะยุบสภาฯ น่าจะเป็นไปได้ยาก พล.อ.ประยุทธ์น่าจะพยายามลากยาวไปให้ถึงอย่างน้อยก็กลางปีหน้า
นอกจากนี้ แวดวงการเมืองก็ดูจะเชื่อว่า หากไม่มีสถานการณ์แทรกซ้อน อย่าคิดว่า ขุมข่ายอำนาจ “3 ป.” มีหรือจะไม่อยากอยู่ครบเทอม เพราะกว่ารัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระคือ มี.ค. 2566 เพราะอายุของรัฐบาลครบสี่ปี จะนับจากตอนเลือกตั้งมี.ค. 2562 เท่ากับตอนนี้ ก็เหลือเวลาอีกร่วมๆ เกือบสองปี
แล้วเรื่องอะไร ที่ “3 ป.” จะต้องไปรีบยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่เพื่อจะกลับมาเป็นรัฐบาล ก็ในเมื่อตอนนี้ก็เป็นรัฐบาลอยู่แล้ว
และหากพล.อ.ประยุทธ์ และสภาฯชุดนี้ อยู่ครบเทอม ยังไงพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังใช้บริการของ สว. 250 คนในการโหวตนายกฯได้อยู่ เพราะบทเฉพาะกาล เขียนให้อำนาจสว.ดังกล่าวไว้ห้าปี นับจากวันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสว. เมื่อปี 2562 ฐานอำนาจสว. ที่มีอยู่ จึงเป็นหลักประกันที่สร้างความสบายใจ ให้แกนนำพรรค พลังประชารัฐ ในการกลับมาเป็นรัฐบาลได้มากกว่าพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เลยไม่มีเหตุจำเป็นต้องรีบเข้าสู่สนามเลือกตั้งทำไมให้เร็วกว่ากำหนด
ด้วยเหตุนี้ แม้ในทางการเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากมีสถานการณ์แทรกซ้อน แต่หากดูจากความเป็นไปได้ในทางการเมือง และปัจจัยการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาเวลานี้ ถึงตอนนี้ โอกาสที่ “3 ป.และพรรคพลังประชารัฐ” จะขออยู่ครบเทอม ยังเป็นไปได้สูง
เพียงแต่ก็ต้องดูเช่นกันว่า ในแต่ละเส้นทางของ 5 ปัจจัยการเมืองที่จะนำไปสู่การยุบสภาฯข้างต้น มันก็มีโอกาสเช่นกันที่บางปัจจัย อาจเกิดสถานการณ์แทรกซ้อน
เช่นกรณีเรื่องของ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่เบื้องต้น ข่าวว่า วิปพรรคพลังประชารัฐ ประสานภายในกับทางสภาสูงไว้แล้วว่า ต้องการให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาญัตติขอแก้ไขรธน.รายมาตราในช่วงวันที่ 22-23 มิ.ย
ซึ่งพอมีข่าว จะมีการพิจารณาญัตติขอแก้ไขรธน.ในช่วง 22-23 มิ.ย ก็ทำให้ อีกสองกลุ่มที่จะเสนอแก้ไขรธน.เช่นกันคือ “พรรคร่วมรัฐบาล” สามพรรคได้แก่ “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา” ที่ร่วมกันเสนอแก้ไขรธน.รายมาตรา ที่มีรายละเอียดแตกต่างจากของพลังประชารัฐ และอีกกลุ่มคือ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ที่นำโดย เพื่อไทย-ก้าวไกล ก็ต้องเร่งเสนอญัตติขอแก้ไขรธน.ตามประกบภายในสัปดาห์หน้านี้ทันที เพื่อให้ทันกับการพิจารณาช่วง 22-23 มิ.ย นี้เช่นกัน
เรื่องการแก้ไขรธน. ที่จะกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองหลังจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาก็คือ จากร่างแก้ไขรธน.รายมาตราของพรรคพลังประชารํฐ ที่เสนอไป 5 ประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญสุดที่พลังประชารัฐต้องการให้เกิดผลมากที่สุดก็คือ…
“แก้ไขระบบเลือกตั้งส.ส.ในระบบปัจจุบันซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบแบบที่เคยใช้ตอนรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่ใช้บัตรสองใบแยกคะแนนการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ”
ที่หากสุดท้าย พลังประชารัฐกับสว.จับมือกันแน่น จนทุกอย่างเป็นไปตามคิวที่วางไว้ คือทั้งแก้ไขรธน.และแก้พรบ.เลือกตั้งส.ส.ฯ ที่มีการกันว่า เร็วสุด ทุกอย่างน่าจะเสร็จหมดช่วงก.พ. 2565 ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนี้ พรรคพลังประชารัฐ ก็กุมความได้เปรียบเหนือพรรคการเมืองอื่น กับระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ ที่เอื้อให้กับพรรคขนาดใหญ่อย่าง พลังประชารัฐ ยามเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะหากหลังจากนั้น ถ้าเกิดเหตุแทรกซ้อนทางการเมือง อะไรขึ้น “บิ๊กตู่-พลังประชารัฐ” ก็พร้อมแล้ว ที่จะยุบสภาฯ จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ทุกเมื่อ แต่หากไม่มีเหตุแทรกซ้อนอะไร แล้ว 3 ป. ขออยู่ยาวครบเทอม ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่เดือดร้อน เพราะสบายใจแล้วว่า กติกาเลือกตั้ง ถูกแก้ไขเพื่อทำให้ การกลับมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ยิ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน เรื่องการแก้ไขรธน. อีกมุมหนึ่ง ก็ถูกมองว่า มันก็อาจเป็นตัวแปร ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่ปัจจุบันก็มีอยู่แล้วให้มีมากขึ้น จนวันหนึ่งอาจนำไปสู่การยุบสภาฯ เร็วขึ้นก็ได้
เพราะจะพบว่า ร่างแก้ไขรธน.ของพลังประชารัฐ กับพรรคร่วมรัฐบาล แตกต่างกันในหลายประเด็นสำคัญ เช่น ของพรรคร่วมรัฐบาล ต้องการให้มีการปิดสวิทช์อำนาจสว.ในการโหวตนายกฯ แต่ฝ่ายพลังประชารัฐไม่เอาด้วย
เหตุที่มีการมองกันว่า เรื่องแก้ไขรธน.อาจนำไปสู่ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล ก็อย่างที่เห็นคือ พลังประชารัฐ เดินหน้าเรื่องนี้แบบไม่สนใจพรรคร่วมรัฐบาล เหมือนกับไม่เห็นหัว ทั้งการเสนอร่างฯ ไปก่อนเลยพรรคเดียว ไม่รอพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น ซึ่งที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะพลังประชารัฐเชื่อว่า ยังไง สว.ก็จะเอาด้วยกับร่างของพลังประชารัฐ ดังนั้น แค่เสียงส.ส.พลังประชารัฐกับสว.รวมถึงส.ส.พรรคเล็กอีกจำนวนหนึ่ง รวมกัน ก็สามารถลุยแก้ไขรธน.ได้แล้ว พลังประชารัฐเลยไม่ค่อยง้อพรรคร่วมรัฐบาล
และยิ่งเมื่อร่างแก้ไขรธน. ของพรรคร่วมรัฐบาล มาแตะขุมข่ายอำนาจของ 3 ป.และพลังประชารัฐ เช่นเรื่องตัดอำนาจสว.ในการโหวตนายกฯ ก็ยิ่งทำให้ ทั้งพลังประชารัฐและสว. ยิ่งไม่แฮปปี้ร่างแก้ไขรธน.ของพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น ต้องจับตาดูกันให้ดี ตอนลงมติร่างแก้ไขรธน.วาระแรก สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐ จะจับมือกับสว.โหวตคว่่ำไม่รับหลักการ ร่างแก้ไขรธน.ของพรรคร่วมรัฐบาล ชนิดไม่ยอมให้ผ่านเลยทุกอันหรือไม่ จากที่พรรคร่วมรัฐบาล จะเสนอแก้ไขไป 7 ฉบับ
โดยหาก พลังประชารัฐและสว.จับมือกัน คว่่ำร่างแก้ไขรธน. ทุกฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล ในทางการเมือง มันก็คือการไม่ไว้หน้ากัน นั่นเอง และมันจะยิ่งทำให้ความกินแหนงแคลงใจระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง มีมากขึ้นแน่นอน แต่หากพลังประชารัฐ ยอมให้ผ่านวาระแรกบ้างสักบางฉบับ ไม่ใช่คว่ำหมด แบบนี้พรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังพอคุยกันได้บ้าง ส่วนผลจะออกมาอย่างไร ก็รอดูกันตอนโหวตร่างแก้ไขรธน.วาระแรก ช่วง 22-23 มิ.ย ที่จะถึงนี้
เพราะอย่างที่บอกไว้ เรื่องการแก้ไขรธน.คืออีกปัจจัยสำคัญทางการเมือง ที่จะเป็นทั้งตัวแปร-ตัวเร่ง ในสมการทางการเมืองเรื่อง การยุบสภาฯ ที่แม้อาจไม่เกิดตอนนี้ แต่ก็ใช่ว่า อนาคตจะไม่เกิด
……………………………………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”