วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“บิ๊กตู่-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” สถานการณ์ไม่เอื้อให้“แตกคอ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“บิ๊กตู่-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” สถานการณ์ไม่เอื้อให้“แตกคอ”

ไม่ผิดความคาดหมายกับท่าทีทางการเมืองของแกนนำสองพรรคร่วมรัฐบาล “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ทั้งอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืนยัน พร้อมจะกอดคอเคียงบ่าเคียงไหล่ กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป หลังถูกบิ๊กตู่ ถามทางการเมืองระหว่างประชุมครม. เมื่ออังคารที่ผ่านมา “จะทิ้งผมก็ตามใจ”

ปมของเรื่องนี้ มีการวิเคราะห์ทางการเมืองทั้งจากนักการเมืองฝ่ายขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน มาตลอดทำนองว่า หลังการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ เดือนกันยายน จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง โดยแรงกระเพื่อมแบบเล็กสุดก็คือ “การปรับคณะรัฐมนตรี” หลังจบศึกซักฟอก หรือหนักสุดก็คือ “การลาออกจากนายกฯของพลเอกประยุทธ์และการยุบสภาฯ “

เพราะมองกันว่า ศึกซักฟอกที่จะมีขึ้น น่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จะต้องเจอการอภิปรายของส.ส.ฝ่ายค้าน ที่”ดุเดือด-รุนแรง“ที่สุดในชีวิตการเมืองของพลเอกประยุทธ์ เพราะฝ่ายค้านจะต้องถล่มพลเอกประยุทธ์อย่างหนักในเรื่องโควิด -วัคซีน  โดยเฉพาะการลากดรามาเรื่อง”คนตาย-คนเสียชีวิต“จำนวนมาก ถึงขั้นนอนตายข้างถนน -นอนตายที่บ้าน มาถล่มนายกฯอย่างหนักกลางสภาฯ หลายวันหลายคืน

www.thaigov.go.th

เช่นเดียวกับ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข-หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ก็จะถูกซักฟอกหนักเช่นกันโดยเฉพาะการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนที่ผิดพลาด

เมื่อสองคีย์แมนรัฐบาล “บิ๊กตู่-เสี่ยหนู” โดนถล่มหนักกลางสภาฯ และยิ่งหากไปถึงตอนนั้น ช่วงกันยายน สถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น ยังคงมีคนติดเชื้อวันละหลักหมื่น -มาตราการต่างๆ ของรัฐบาล ศบค. ยังไม่เข้าเป้า -การบริหารเรื่องวัคซีนยังมีปัญหา ยังมีคนจำนวนมากไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ที่สำคัญยังมีคนตาย และประชาชนจำนวนมาก ยังเข้าไม่ถึงในเรื่องการตรวจหาเชื้อโควิดและการรักษาพยาบาล 

ทั้งหมด จะสุมรวม ทำให้ กระแสประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาล โดยเฉพาะ พลเอกประยุทธ์ รวมถึง อนุทิน รุนแรงแน่นอน

ยิ่งหากฝ่ายค้าน ใช้ศึกซักฟอก อภิปรายหนักๆ เน้นๆ สักสามวันสามคืน เอาแค่เรื่องโควิด-วัคซีน -ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างเดียว แล้วหาก บิ๊กตู่-อนุทิน แจงไม่ได้ ชี้แจงแล้ว กระแสสังคม ไม่ขานรับ

เลยมีการมองกันว่า ถึงตอนนั้น แม้ต่อให้ บิ๊กตู่-อนุทิน รอดพ้นศึกซักฟอกด้วยเสียงไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่ง แต่สภาพทางการเมือง น่าจะเสียหายหนัก โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการมองทางการเมืองไปในโทนเดียวกันหมดในช่วงนี้ว่า ถึงตอนนั้น หากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์”กระโดดออกจากเรือเหล็กประยุทธ์ หลังจบศึกซักฟอก ในลักษณะโดดเดี่ยวพลังประชารัฐ โดยบางพรรคเช่น ภูมิใจไทย สวิงขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่กับเพื่อไทยและฝ่ายค้านในปัจจุบัน หรือแม้แต่ที่มองกันไปถึง

สูตรการเมืองที่ว่า ในช่วงศึกซักฟอก อาจมีการสร้างเงื่อนไขการต่อรองทางการเมือง ก่อนหน้าการโหวตลงมติ เช่น พรรคร่วมรัฐบาล ยื่นเงื่อนไข จะยอมลงมติไว้วางใจให้ แต่จะขอให้ พลเอกประยุทธ์ ลาออกหลังจบศึกซักฟอก เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกนายกฯ คนใหม่

โดยอ้างว่า พลเอกประยุทธ์ บอบช้ำการเมืองมากแล้ว ควรมีการเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศ หรือ สูตรที่มองกันว่า ในช่วงศึกซักฟอก อาจมีการต่อรองกันเองในสามแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เช่น ประชาธิปัตย์ มีการยื่นเงื่อนไขให้ มีการปรับครม.โดยให้ อนุทิน”พ้นจากรมว.สาธารณสุข แล้วถึงจะลงมติไว้วางใจให้ ไม่อย่างนั้น อาจงดออกเสียง

ยิ่งหาก ศึกซักฟอก ที่จะมีขึ้น ฝ่ายค้าน วางหมาก เดินเกม ด้วยการ”ไม่ยื่นซักฟอก รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์”แบบนี้ จะยิ่งทำให้ ประชาธิปัตย์ มีอำนาจการต่อรองในมือมากขึ้นในช่วงก่อนการลงมติ  เพราะไม่ต้องห่วงว่า ส.ส.พลังประชารัฐ -ภูมิใจไทย จะมาลงมติให้ รัฐมนตรีของประชาธิปัตย์หรือไม่

ทำให้ ฝ่ายประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ กลุ่มที่ไม่ชอบ พลังประชารัฐ-พลเอกประยุทธ์อยู่แล้ว ที่แม้จะมีอยู่ไม่มาก แต่รวมๆ ดูแล้ว ก็แตะที่ระดับเกือบสิบคน และบางคน ก็ลุ้นเป็นรัฐมนตรีมาร่วมสองปีกว่า แต่ไม่ได้ ดังนั้น ก็อาจใช้โอกาสนี้ต่อรองทางการเมืองได้ เพื่อแลกกับเสียงโหวตไว้วางใจ

แนววิเคราะห์การเมืองข้างต้นทั้งหมด ที่มองไปถึงการเมืองในช่วงศึกซักฟอก ไม่ว่าจะเป็นฉากไหนก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่า หากท้ายสุด ถ้าการเมือง การต่อรองในพรรคร่วมรัฐบาลไปถึงจุดนั้น โดยพลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐ กับฝ่ายภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ถึงตอนนั้น อาจถึงขั้นการเมืองแตกหัก เพราะ ด้วยลักษณะนิสัยของ พลเอกประยุทธ์ กับอำนาจการ”ยุบสภาฯ“ที่อยู่ในมือ นายกฯ ทำให้ บิ๊กตู่ อาจยุบสภาฯ หลังจบศึกซักฟอก ก็เป็นไปได้

แต่หากถามว่า สิ่งที่แวดวงการเมืองวิเคราะห์กันข้างต้น ที่มองกันไว้หลายฉาก แต่ละฉาก มีโอกาสความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องตอบว่า ก็เป็นไปได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นจริง มันก็ยาก ถ้าเงื่อนไข-ผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ยังเป็นอยู่แบบนี้

เอาง่ายๆ อย่างที่คนมองกันว่า หวังให้”ประชาธิปัตย์”เป็นตัวแปรทางการเมือง คือให้พรรคถอนสมอ ถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล เพื่อทำให้ เสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จนนายกฯยุบสภาฯ อย่างที่ฝ่ายค้าน ก็พยายาม”เสี้ยม“มาตลอด แต่ประชาธิปัตย์ ไม่เล่นด้วย จุดนี้ มองได้ว่า หากไปถึงช่วงซักฟอกเดือนกันยายน ถ้าประชาธิปัตย์ คิดต่อรองการเมืองกับพลเอกประยุทธ์และภูมิใจไทยขึ้นมาจริง 

มันก็ต้องเกิดบนเงื่อนไข ที่ว่า การอภิปรายของฝ่ายค้าน มีหลักฐานข้อมูลชัดเจนเพียงพอว่า พลเอกประยุทธ์-อนุทิน พลาดอย่างแรงในเรื่อง วัคซีน จนประชาธิปัตย์ ยากจะให้ส.ส.ของพรรคลงมติไว้วางใจได้ แต่หากฝ่ายค้านไม่มีหลักฐานชัดเจนหรือกระแสช่วงซักฟอก ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ถึงกับเพลี่ยงพล้ำหนัก มันก็ยากที่ จุรินทร์ จะยอมให้ประชาธิปัตย์ ถอนสมอจากรัฐบาลประยุทธ์ หรือไปต่อรองอะไรหนักกับ บิ๊กตู่-อนุทิน ในเรื่องการปรับครม. เพราะอาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อม จนนายกฯยุบสภาฯ ได้

เพราะแม้ที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ จะเตรียมการ เตรียมพร้อมเรื่องการเลือกตั้งมาตลอด แต่ก็ยังไม่ใช่ตอนนี้แน่นอน สู้อยู่เป็นรัฐบาลต่อไป แกนนำของพรรคได้เป็นรัฐมนตรีกันตั้งหลายคน ดีกว่า  ที่จะไปเดินเกมกดดันบิ๊กตู่มาก แล้วนายกฯ เกิดยุบสภาฯ ขึ้นมา โดยที่ ประชาธิปัตย์ ตอนนี้ ก็ยังไม่ได้มีผลงานอะไรโดดเด่นที่จะไปหาเสียงเพื่อกอบกู้ เอาเก้าอี้ส.ส.ในภาคใต้-กรุงเทพฯ ที่หายไปหลายสิบเก้าอี้คืนมาได้  ไทม์มิ่งการเมืองตอนนี้ จึงยังไม่ใช่โอกาส ที่ประชาธิปัตย์ จะพร้อมสำหรับการเลือกตั้งมากเท่าใดนัก

อีกทั้ง ประชาธิปัตย์ ก็ไม่สามารถจะไปจับมือกับเพื่อไทย ตั้งรัฐบาลด้วยกันได้อยู่แล้ว ก็สู้อยู่กับ พลเอกประยุทธ์ กอดคอกันไปแบบนี้จะดีกว่า เพราะหากรัฐบาลไปไม่ได้จริงๆ แล้ว บิ๊กตู่ ยุบสภาฯ ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย แต่ครั้นจะให้ ประชาธิปัตย์ ลงมาเล่นในเกมของ เพื่อไทย-ฝ่ายค้าน ที่จะให้ ประชาธิปัตย์ เป็นตัวแปรเพื่อทำให้พลเอกประยุทธ์ ลาออกหรือยุบสภาฯ ทาง”จุรินทร์-ประชาธิปัตย์”คงไม่ยอมลงมาเบี้ยให้ เพื่อไทย จับเดินตามใจชอบ 

เช่นเดียวกับ “อนุทิน-ภูมิใจไทย“ที่ผลจากโควิดรอบนี้ ทำให้ เสียเครดิตทางการเมืองไปเยอะในฐานะรมว.สาธารณสุข จนรัศมี-บารมี การเมืองของ อนุทิน ที่เคยถูกจับตาว่าอาจได้ขึ้นเป็นนายกฯ หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ถึงตอนนี้ เสียหายมาก

        

ทำให้สถานการณ์ยามนี้ อนุทิน-ภูมิใจไทย ก็หนักพอสมควร เอาแค่ว่า จากเดิมที่เคยมองกันตอนจบโควิดรอบแรก ที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิดได้ดี ตอนนั้น ชื่อของ อนุทิน รมว.สาธารณสุข -ภูมิใจไทย หอมหวลมากทางการเมือง ยิ่งเมื่อพรรคไปดูดอดีตส.ส.อนาคตใหม่มาอยู่กับภูมิใจไทยได้ร่วมสิบเอ็ดคน และยังจะมีส.ส.พรรคอื่นๆ ติดต่อจะมาภูมิใจไทยอีกหลายสิบคนทำให้ มีการมองกันว่า หากมีการเลือกตั้งเมื่อใด “พรรคภูมิใจไทย” จะได้ส.ส.มากขึ้น อนุทิน ก็มีโอกาสจะได้ลุ้นเป็นนายกฯ แต่มาถึงตอนนี้ สถานการณ์อาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะกระแส อนุทิน-ภูมิใจไทย ตกลงไปมาก

ถึงขั้นมีข่าวว่า มีส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลหรืออนาคตใหมเดิมบางคน ที่ยังไม่ได้เปิดตัว จะมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย แต่มีการพูดคุยทาบทามกันไว้แล้วผ่านเพื่อน อดีตส.ส.กทม.  อนาคตใหม่ ที่ย้ายมาภูมิใจไทยก่อนแล้วร่วมปีกว่า แต่มาถึงตอนนี้ ข่าวว่า ส.ส.กทม.ที่มีการคุยกัน จะย้ายมาภูมิใจไทย  เริ่มเปลี่ยนใจแล้ว เพราะมองว่า คนกทม. ไม่พอใจเรื่องวัคซีน มาก หากไปลงสมัครส.ส.ภูมิใจไทยในกทม. มีโอกาสสอบตกสูง เลยมีข่าวว่าช่วงหลัง เลยจะไปอยู่กับพรรคไทยสร้างไทยของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์แทน

กรณีแบบนี้ แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า หากมีการยุบสภา เลือกตั้งตอนนี้ ภูมิใจไทยเองก็เหนื่อยหนักแน่นอน กับการต้องถูกโจมตีเรื่อง โควิด-วัคซีน จนพรรคมีโอกาสจะได้ส.ส.ต่ำกว่าที่คิด

ทำให้ อนุทิน-ภูมิใจไทย ย่อมไม่ต้องการเข้าไปสร้างแรงกดดัน หรือไปต่อรองอะไรทางการเมืองกับ พลเอกประยุทธ์-พลังประชารัฐแน่นอน เพราะหากต่อรองมาก บิ๊กตู่  เกิด ยุบสภาฯ ขึ้นมา ภูมิใจไทย ก็จะเหนื่อย    เว้นแต่ หากมีการกดดันจากพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ เช่น ต้องการให้มีการปรับครม. โดยให้อนุทิน พ้นจากรมว.สาธารณสุขไปอยู่กระทรวงอื่น  แล้วตัว อนุทิน ไม่ยอม เพราะเกรงจะเสียหน้า จนสังให้ลูกพรรคพยศทางการเมือง ตอนช่วงศึกซักฟอก เช่น งดออกเสียงตอนโหวต ไว้วางใจให้พลเอกประยุทธ์ จนทำให้การเมืองแตกหัก แต่หลายฝ่ายประเมินกันแล้ว

ยังไง พลเอกประยุทธ์ ก็คงไม่เดินเกมพลาด ไปคุยเรื่องปรับครม.ก่อนศึกซักฟอก เพราะหากคิดจะปรับครม. ก็ต้องทำหลังจบศึกซักฟอก จะได้ไม่เกิดแรงกระเพื่อม

จากเหตุผลการเมืองข้างต้นทั้งหมด จึงแลเห็นชัด พลเอกประยุทธ์-อนุทิน-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ต่างฝ่ายต่างก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้ถือแต้มต่อทางการเมืองเหนือกว่ากันมาก จนสามารถขี่คอพวกเดียวกันเองในรัฐบาลได้

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสภาพบังคับ ที่ทำให้ พลเอกประยุทธ์-อนุทิน-พลังประชารัฐ -ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ต้องอยู่บนเรือลำเดียวกันไปก่อนสักระยะ เพราะสถานการณ์ไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบระลอกใหญ่ 

………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย….“พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img