“จาตุรนต์ ฉายแสง-เดอะอ๋อย” คือนักการเมืองชื่อดัง อดีตรัฐมนตรี-อดีตส.ส.หลายสมัย ที่เคยอยู่ใต้เงาของ “ทักษิณ ชินวัตร” คนล่าสุด ที่ประกาศเตรียมเปิดตัวพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ ที่ชื่อ “พรรคเส้นทางใหม่” ตามคิวเบื้องต้นที่วางไว้คือ เดือนกันยายน
หลังก่อนหน้านี้ “เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” อดีตแกนนำเพื่อไทย-ไทยรักไทย ก็เพิ่งเปิดตัวตั้งพรรค “ไทยสร้างไทย” โดยมีอดีตแกนนำเพื่อไทย ตบเท้ามาร่วมด้วย เช่น โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา, วัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พาณิชย์
ไม่นับรวม กับพรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสภาฯ เวลานี้ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในปีกฝ่ายค้าน ก็มีที่ออกมาจากพรรคเพื่อไทย มาตั้งพรรคในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ภายใต้แผน “แตกแบงค์พัน” ของทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น “พรรคเพื่อชาติ” ของ “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” และ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” กับ “จตพร พรหมพันธุ์” แต่สุดท้าย ก็ไม่ประสบความสำเร็จ พร้อมกับเจอสภาพวงแตก “ยงยุทธ” กับ “จตุพร” แตกคอกันอย่างหนัก รวมถึง “พรรคประชาชาติ” ของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ที่ปัจจุบันบทบาทการขับเคลื่อนภายในพรรค ถูก “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เลขาธิการพรรค เทคโอเวอร์การเมืองเรียบร้อยแล้ว
เมื่อดูองค์ประกอบการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์การเมือง ระหว่าง “จาตุรนต์” กับ “ทักษิณ” และแกนนำเพื่อไทยในปัจจุบัน ที่มีมายาวนาน ตั้งแต่ตอนเริ่มตั้งพรรคไทยรักไทย ทำศึกเลือกตั้งปี 2544 ก่อนที่ตอนปี 2562 “จาตุรนต์” จะแยกออกไปอยู่กับ “ไทยรักษาชาติ” ตามแผนแตกแบค์พัน ของทักษิณ รวมถึง แนวทางการเมืองระหว่าง “จาตุรนต์” ยังตรงกันกับฝ่ายเพื่อไทย และทักษิณ คือ การไม่เอารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ผนวกกับ หลายคนมองว่า “จาตุรนต์” และกลุ่มตระกูล “ฉายแสง” ไม่ใช่กลุ่มตระกูลการเมืองที่มีฐานธุรกิจใหญ่โต หรือมีเครือข่ายคอนเน็คชั่นมากมาย โดยเฉพาะ “ทุนขนาดใหญ่” ที่จะมาสนับสนุน “พรรคเส้นทางใหม่” ในการสู้ศึกเลือกตั้งได้ เพราะลำพังแค่ “ฉะเชิงเทรา” ฐานะที่มั่นของ “จาตุรนต์” พบว่า ทุกวันนี้ ตระกูล ฉายแสง คะแนนนิยมก็หายไปเยอะ เห็นได้จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่สองพี่น้องตระกูลฉายแสง สอบตกหมด ตอนใส่เสื้อเพื่อไทยลงเลือกตั้ง ทั้ง “ฐิติมา ฉายแสง” ในเขต 1 และ “วุฒิพงศ์ ฉายแสง” ในเขต 4
ขณะที่ ฐานที่มั่นในเมืองแปดริ้ว ที่ตระกูล “ฉายแสง” เคยยึดครองมาหลายปี โดยเฉพาะการเมืองท้องถิ่น ก็ปรากฏว่าผลเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา “กลยุทธ ฉายแสง” อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา 6 สมัย น้องชายของจาตุรนต์ แม้จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็น “นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา” เป็นสมัยที่ 7 แต่ปรากฏว่าคะแนนหายไปมาก ชนะคู่แข่งจากประชาธิปัตย์แค่ 800 คะแนน จนคนแปดริ้ว บอกกันว่า เป็นสัญญาณที่ไม่ดีของตระกูล “ฉายแสง” แล้ว
ผนวกกับที่ผ่านมา บุคลิกการเมืองของ “เดอะอ๋อย-จาตุรนต์” ถูกมองว่าไม่ใช่พวก “มือจ่าย-ควักเงิน-ลงขัน” ทำการเมืองแบบพูดง่ายๆ ว่า แทบไม่เคยควัก
เพราะที่ผ่านมา นับแต่ “จาตุรนต์” เล่นการเมืองมาหลายสิบปี ตั้งแต่ช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กับพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะแยกออกมาอยู่กับพรรคประชาชน ของ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” พ่อทยา ทีปสุวรรณ ในฐานะสมาชิกกลุ่ม 10 มกราฯ จากนั้น ก็มาอยู่กับ “พ่อใหญ่จิ๋ว-พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ” ร่วมตั้งพรรคความหวังใหม่ด้วยกัน แล้วพอ “ความหวังใหม่” เริ่มเสื่อมความนิยม “จาตุรนต์” ก็ชิ่งออกจากความหวังใหม่ มาอยู่กับ “ทักษิณ” ตอนช่วงตั้ง “ไทยรักไทย” ตั้งแต่ปี 2544 แล้วก็อยู่กับทักษิณเรื่อยมา จนเคยเป็น “รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย” ตอนหลัง คมช.ทำรัฐประหาร ปี 2549 ก่อนจะถูกตัดสิทธิการเมืองสิบปีในคดียุบพรรค แต่ “จาตุรนต์” ก็ยังอยู่เบื้องหลังการเมืองใน “พรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย” มาตลอด ก่อนที่จะย้ายไป “ไทยรักษาชาติ” ตอนเลือกตั้งปี 2562 ตามแผนที่ทักษิณ ผ่องถ่ายแกนนำเพื่อไทย สายซีเนียร์ ไปช่วยตั้งพรรคไทยรักษาชาติ
ช่วงนั้น ข่าวหลายกระแสบอกว่า “จาตุรนต์” หวังลึกๆว่า “ทักษิณ” จะสนับสนุนใส่ชื่อให้ “จาตุรนต์” เป็นแคนดิเดทนายกฯ ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ในนามไทยรักษาชาติ แต่สุดท้าย “ทักษิณ” ก็สั่งแกนนำไทยรักษาชาติ ยื่นพระนาม “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” เป็นแคนดิเดทนายกฯ จนทำให้ ไทยรักษาชาติโดนยุบพรรค
สถานการณ์เวลานั้น เป็นที่รู้กันดีในกลุ่มคนเพื่อไทยและพวกไทยรักษาชาติเดิมว่า ตอนนั้น “จาตุรนต์” ผิดหวัง ในตัว “ทักษิณ” มาก ที่ไม่ยอมเสนอชื่อตัวเอง เป็นแคนดิเดทนายกฯ อีกทั้งตอนใกล้จะเสนอชื่อต่อ กกต. ตัวของ “จาตุรนต์” ก็ไม่เคยได้ยินข่าวระแคะระคาย ทั้งที่เป็นถึงระดับซีเนียร์ รุ่นใหญ่ในพรรคไทยรักษาชาติ แต่ “ทักษิณ” ไม่เคยปรึกษาหารือ ไม่เคยบอกให้รู้ กว่าจะรู้อีกที ก็ตอนข่าวเริ่มรั่ว จะประกาศชื่อต่อ กกต. แค่ 1-2 วัน แต่พวกนักการเมืองเด็กๆ คนในไทยรักษาชาติ รู้ล่วงหน้ามาหลายสัปดาห์แล้วเพราะทักษิณโทรมาคุยตลอด แต่กลับไม่บอกจาตุรนต์
เลยมีข่าวว่า “จาตุรนต์” เสียหน้ามาก ไม่พอใจมาก เพราะใครต่อใคร ก็มองว่า “จาตุรนต์” ออกจาก “เพื่อไทย” มา “ไทยรักษาชาติ” เพราะหวังว่าจะเป็นแคนดิเดทนายกฯของไทยรักษาชาติ จนมีข่าวลือว่า เจ้าตัวพูดทำนอง “ไม่สามารถอยู่กับทักษิณได้อีกแล้ว ครั้งนี้ขอเป็นครั้งสุดท้าย จะแยกทางเดินกับทักษิณ”
สถานการณ์ผ่านเลยไปร่วมสองปีกว่าหลังเลือกตั้งปี 2562 สุดท้ายก็มีความชัดเจน ที่ “จาตุรนต์” ในวัย 65 ปี เตรียมเปิดตัวพรรคเส้นทางใหม่ พรรคการเมืองของตัวเองที่ปั้นมากับมือในช่วงบั้นปลายชีวิตการเมือง เพราะไม่อยากไปอยู่ใต้เงาหรือหวังพึ่งพิงใครอีกแล้ว โดยเฉพาะ “ทักษิณ”
จากเส้นทางการเมืองข้างต้นของ “จาตุรนต์” ที่เป็นนักการเมืองซึ่ง ไม่ได้มีทุนหนา ไม่ได้มีธุรกิจใหญ่โต และที่ผ่านมา “จาตุรนต์” ไม่ได้มีภาพของนักการเมืองที่เวลาทำการเมือง จะเป็นพวกแกนนำพรรคที่ร่วมลงขันตอนเลือกตั้ง อีกทั้ง หากดูจากคอนเน็คชั่นต่างๆ คนก็มองว่า “จาตุรนต์” ก็ไม่ได้มีคอนเน็กชั่นทางธุรกิจกับกลุ่มทุนใหญ่อะไรมาก
ผนวกับ ต้องยอมรับความจริงกันว่า ด้วยความที่ “จาตุรนต์” ห่างจากการมีอำนาจทางการเมืองในรัฐบาลและในสภาฯ มาหลายปีมาก ทำให้บารมีการเมืองหายไปเยอะ อีกทั้งด้วยวัยที่เริ่มอายุมากแล้ว โดยทุกวันนี้ มีนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะที่พยายามสร้างแบนด์ ประชาธิปไตยแบบเดียวกับ “จาตุรนต์” ที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในพรรคก้าวไกล
ทำให้โอกาสที่ “จาตุรนต์” จะตั้งพรรคเส้นทางใหม่ แล้วหวังจะได้คะแนนนิยม จากฐานเสียงพวกคนรุ่นใหม่ มาจากพวกพรรคก้าวไกล จึงยากไม่ใช่น้อย เพราะขนาดพรรคเพื่อไทย ยังทำไม่ได้ ต้องให้ “โทนี่-ทักษิณ” มาช่วย โดยที่ตัว “จาตุรนต์” เอง คนรุ่นใหม่ๆ ทุกวันนี้ ก็แทบไม่มีใครรู้จัก บทบาทการเมืองของจาตุรนต์เลยด้วยซ้ำ นอกจากที่ “จาตุรนต์” พยายามสร้างข่าวให้ตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย ในการแสดงความเห็นทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยความที่ “จาตุรนต์” ไม่ได้มีสถานะทางการเมืองอะไร เป็นพวกขาลอย เลยทำให้ ความเห็นทางการเมือง ของ “จาตุรนต์” ส่วนใหญ่ จะไม่มีอิมแพคการเมืองใดๆ มากนัก
ที่สำคัญ คนก็ยังตั้งข้อกังขาว่า “พรรคเส้นทางใหม่” ของ “จาตุรนต์” จะเอาเงินมาจากไหน มาทำพรรคการเมือง และด้วยหน้าตักที่มีอยู่ พรรคของจาตุรนต์ จะไปได้สักกี่น้้ำ และหากถึงเวลาเลือกตั้งจริงๆ พรรคเส้นทางใหม่ จะไปขอพึ่งพิงอยู่ใต้เงาของทักษิณ และเพื่อไทย หรือไม่ หากถึงตอนเลือกตั้ง ทุน-ท่อน้ำเลี้ยงของพรรคจาตุรนต์ ไม่ได้มีมากพอจนไปทำศึกเลือกตั้งได้และไม่ได้มีขุนพลการเมืองมาช่วยงาน “จาตุรนต์” มากมาย
จึงไม่แปลกที่แวดวงการเมือง จะมองไปในทางว่า พรรคเส้นทางใหม่ น่าจะเป็นแค่พรรคเล็กๆ มีส.ส.ต่ำสิบ แบบพรรคเพื่อชาติ-พรรคประชาชาติ ในปัจจุบัน
อันเป็นการคาดการณ์ของแวดวงการเมือง ที่ “จาตุรนต์” ก็คงอยาก “ลบล้างคำปรามาส”
ด้วยเหตุนี้ พรรคเส้นทางใหม่จึงมีเดิมพันสูงไม่น้อย สำหรับ “จาตุรนต์” ในการพิสูจน์ตัวเองให้หลายคนเห็นว่า เขาก็สามารถตั้งพรรคการเมืองของตัวเองได้ สามารถยืนบนลำแข้งตัวเองได้ โดยไม่ต้องอยู่ใต้เงาการเมืองของใคร โดยเฉพาะทักษิณ ชินวัตร และเพื่อไทย
ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ในการตั้งพรรคใหม่ ของ “จาตุรนต์” และทีมงาน ที่ร่วมก่อตั้งพรรคเส้นทางใหม่ ที่บางส่วน ก็มาจากอดีตไทยรักษาชาติเดิมด้วยกันกับจาตุรนต์ เช่น “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำคาร์ม็อบไล่นายกฯ ที่แม้จะโดนตัดสิทธิการเมืองสิบปีจากปัญหาคดีความ แต่ก็มาช่วยตั้งพรรคกับจาตุรนต์ เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัว ส่วนคนอื่น ที่มีข่าวจะมาอยู่กับพรรคเส้นทางใหม่ด้วย ก็มีเช่น “ประภัสร์ จงสงวน” อดีตผู้ว่าฯ รฟม. ที่แม้ตอนนี้ จะอยู่กับเพื่อไทย แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจไปอยู่กับพรรคเส้นทางใหม่ ในอนาคตหลังจากนี้
ขณะที่คนอื่นๆ ที่เคยอยู่กับจาตุรนต์ ที่ไทยรักษาชาติ เช่น “สุธรรม แสงประทุม” อดีตคนเดือนตุลาฯ ด้วยกัน ดูทรงแล้ว หลัง “สุธรรม” กลับมาเพื่อไทย คงไม่คิดจะย้ายออกไปอีก แม้ก่อนหน้านี้จะเคยไปร่วมวางแผนการตั้งพรรคด้วยกับจาตุรนต์ มาหลายเดือน เว้นแต่หากดูแล้ว อยู่เพื่อไทยไม่มีที่ยืน “สุธรรม” ก็คงออกมาขอเกาะขบวนพรรคใหม่กับจาตุรนต์ด้วย
เช่นเดียวกับ “เสี่ยแดง-พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีตรมว.พลังงาน ที่เคยมีข่าวว่าจะร่วมตั้งพรรคการเมืองกับ จาตุรนต์-ณัฐวุฒิ แต่หลัง “เสี่ยแดง” กลับเข้าพรรคเพื่อไทยอีกรอบ แล้วมีบทบาทสูง เป็นรองหัวหน้าพรรค-เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทำให้ “พิชัย” ปักหลักอยู่เพื่อไทยแน่นอน เพราะชัวร์ว่า หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเมื่อใด ก็ได้เป็นรัฐมนตรีแน่ๆ “พิชัย” จึงไม่คิดเสี่ยงไปลงทุน ควักเงินทำพรรคกับจาตุรนต์แน่นอน หลังเคยกระเป๋าฉีกมาแล้วตอนพรรคไทยรักษาชาติ
ส่วนเครือข่าย นปช.ที่เคยอยู่ไทยรักษาชาติ เช่น “วีระกานต์ มุสิกพงศ์” อดีตประธานนปช. ที่อยู่กับจาตุรนต์มาด้วยกันตลอด ตั้งแต่ “ประชาธิปัตย์-ประชาชน-ความหวังใหม่-ไทยรักไทย-เพื่อไทย” มีกระแสข่าวว่า ได้คุยกับ “ณัฐวุฒิ” ไปแล้วว่า ขอเป็นกำลังใจให้ในการตั้งพรรค แต่สุขภาพไม่เอื้ออำนวยอีกแล้ว เลยฝากฝังให้ “จาตุรนต์และณัฐวุฒิ” ดูแลพวกแกนนำ นปช.เสื้อแดง ที่ว่างงานอยู่ ไม่ได้เป็นส.ส.เช่น “ก่อแก้ว พิกุลทอง-นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์” ให้ไปอยู่กับพรรคเส้นทางใหม่ด้วยทั้งหมด
ส่วนนักการเมือง นักเคลื่อนไหวการเมืองอีกบางส่วนก็มีข่าวว่า พร้อมจะเปิดตัว ตั้งพรรคเส้นทางใหม่กับจาตุรนต์แน่นอน โดยมีทั้งที่ตอนนี้ตอบรับว่าเอาด้วย แต่ขอเปิดตัวตอนเลือกตั้ง แต่บางคนพร้อมเปิดตัวเลย ซึ่งในกลุ่มนี้ ก็จะมีเช่น “เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์” อดีตส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย-“เกรียงกมล เลาหไพโรจน์” เพื่อนรักจาตุรนต์ คนเดือนตุลาฯ-“พนัส ทัศนียานนท์” อดีตสว. เป็นต้น
ขณะที่ข่าววงในบอกว่า ในกลุ่มจาตุรนต์ มีการลิสต์ชื่อนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เตรียมชักชวนให้มาร่วมตั้งพรรคเส้นทางใหม่ด้วยหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มพี่น้องตระกูล ไกรวัฒน์นุสสรณ์ ของ “อุดม ไกรวัฒน์นุสสรณ์” นายกฯอบจ.สมุทรสาคร ที่คุ้นเคยสนิทกับจาตุรนต์ ดีอยู่แล้วในฐานะเด็กเก่า พรรคความหวังใหม่ด้วยกัน เป็นต้น
“พรรคเส้นทางใหม่” ของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ที่พอเริ่มเป็นข่าว ก็ถูกคนการเมืองมองว่า น่าจะไปได้ไม่ไกล จะเป็นแค่พรรคเล็ก อย่างไรก็ตาม ทุกคำปรามาส สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับ “จาตุรนต์” เองว่า เขาจะลบล้างคำปรามาสเหล่านี้ ได้หรือไม่
เพราะหากล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่ต้องห่วง บรรดากองแช่งทั้งหลาย โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง พร้อมรอกระทืบซ้ำ !!!!
…………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”