ตลอดสัปดาห์หน้า ตั้งแต่ 31 ส.ค.-3 ก.ย.ไฮไลท์การเมือง จะไปอยู่ที่รัฐสภาหมด เพราะเป็นสัปดาห์แห่ง “ศึกซักฟอก” ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นซักฟอก 6 รัฐมนตรี
อันประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี-รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมและเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย, เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจและเพื่อสังคม (ดีอีเอส)
เบื้องต้น วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้านตกลงกันว่า จะอภิปรายกันสามวันสามคืน 31 ส.ค. ถึง 3 ก.ย. และลงมติในวันที่ 4 ก.ย.
ก่อนเริ่มเปิดสนามดวลฝีปากระหว่าง ฝ่ายค้านกับนายกฯและ 5 รัฐมนตรี พบว่า ทั้งสองฝ่ายมีการวางแผนเตรียมทำศึกการเมืองนัดสำคัญกันอย่างคึกคัก
รัฐมนตรีเกือบทุกคน มีการเปิดห้องวอร์รูม ขึ้นมาโดยเฉพาะในกระทรวง-ทำเนียบรัฐบาล เพื่อใช้ในการประชุมทีมงานและเป็นห้องคัดแยก เตรียมเอกสารไว้สำหรับชี้แจงและตอบโต้ฝ่ายค้าน โดยรัฐมนตรีเกือบทุกคน มีการเรียกทีมงานฝ่ายการเมืองของตัวเองทั้งพวกกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี-ที่ปรึกษรัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรี ตลอดจนพวกส.ส.หรือพวกอดีตส.ส.ที่คุ้นเคยในพรรคที่คุ้นเคย ที่ไม่ได้มีตำแหน่งในกระทรวง
แต่มีประสบการณ์การเมืองโชกโชนโดยเฉพาะกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาคอยช่วยให้คำแนะนำและให้บอกแท็คติกต่างๆ เพื่อคอยรับมือฝ่ายค้าน ซึ่งวอร์รูมดังกล่าว เวลามีการประชุมกัน ก็จะมีบิ๊กๆ ข้าราชการในกระทรวงมาร่วมประชุมเตรียมข้อมูลให้ด้วย โดยเฉพาะการ “เก็งข้อสอบ” ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง และควรต้องชี้แจงอย่างไร
อีกทั้ง รัฐมนตรีบางรายพบว่า มีการสั่งการไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยกำชับให้บิ๊กข้าราชการของกระทรวงตัวเองให้เตรียมข้อมูลให้พร้อม อย่าให้พลาด หากฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องไหน ทางกระทรวงต้องป้อนข้อมูล-เอกสารให้รัฐมนตรีชี้แจงได้ทันท่วงที
นอกจากนี้รัฐมนตรีบางคน ก็สั่งให้ทีมงานทำกราฟ-ตาราง-อินโฟกราฟฟิกต่างๆ ออกมาให้เข้าใจง่าย เพื่อจะได้อธิบายกลางที่ประชุมสภาฯ ได้แบบรวบรัด สื่อสารถึงประชาชนได้โดยเร็ว โดยมีการกำชับกันว่า หลังรัฐมนตรีชี้แจงแล้ว หากประเด็นสำคัญเรื่องไหน เห็นว่า การชี้แจงในห้องประชุมสภาฯ ยังทำได้ไม่ดีพอ หรือมีเวลาน้อยในการชี้แจง เกรงว่า ยังแจงไม่เคลียร์ ประชาชนยังคาใจ ก็จะให้ทีมงานการเมืองของรัฐมนตรี คอยนำข้อมูล-ภาพต่างๆ นำไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภาและเผยแพร่ทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของรัฐมนตรีและของพรรคทันที แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ถูกฝ่ายค้านตีกิน
ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ “พลังประชารัฐ” ที่มีพล.อ.ประยุทธ์-ชัยวุฒิ รมว.ดีอีเอส -สุชาติ รมว.แรงงาน ที่เป็นคนของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกอภิปราย พบว่า ฝ่ายรัฐบาลพลังประชารัฐ มีการตั้งทีมพิเศษคอยมอนิเตอร์การอภิปรายของฝ่ายค้านเพื่อจะได้มาช่วยตอบโต้และชี้แจงแทนในประเด็นเชิงการเมืองให้ โดยทีมพิเศษดังกล่าว มีการปักหลักตั้งทีมอยู่ที่รัฐสภาตลอดทั้งสี่วัน นำทีมโดย สองตัวหลักในการชนกับฝ่ายค้านอยู่แล้วนั่นก็คือ “เสกสกล อัตถาวงศ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
แต่หลักๆ ในการชนกับฝ่ายค้านและคอยปกป้องนายกฯ นอกห้องประชุมสภาฯ จะเป็นหน้าที่ของ “แรมโบ้-เสกสกล” ในการรับบท “เซ็นเตอร์แบ็ค” ทำหน้าที่กัน-ชน ฝ่ายค้านโดยตรง ซึ่งวอร์รูมนอกสภา ดังกล่าว จะมีกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีทุกกระทรวงฯและจากทุกพรรคการเมืองในซีกรัฐบาลมาทำงานร่วมกันในนามทีมงานวอร์รูมนอกสภาฯ โดยประเด็นไหน ที่เห็นว่าต้องชี้แจง ตอบโต้ทันที ก็จะให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีของแต่ละพรรค แถลงข่าวที่รัฐสภาแบบทันทีทันใด
ขณะที่ในห้องประชุมสภาฯ จะมีทีม “องครักษ์” คอยทำหน้าที่ตัดเกมฝ่ายค้านไว้เป็นปกติอยู่แล้ว แต่จะทำในลักษณะ รัฐมนตรีของพรรคไหน พรรคนั้น ก็ต้องมีส.ส.คอยช่วยตัดเกมฝ่ายค้าน ปกป้องรัฐมนตรี เพื่อดึงจังหวะไม่ให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ
เช่น อย่างของ “พลังประชารัฐ” แม้รอบนี้ “เอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์” จะไม่อยู่แล้ว เพราะโดนศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ทีมปกป้อง “บิ๊กตู่” ในสภาฯ ก็ยังมีอยู่เพียบเช่น “ไพบูลย์ นิติตะวัน-สิระ เจนจาคะ-นิโรธ สุนทรเลขา-สายันต์ ยุติธรรม” เป็นต้น รับรองได้ว่า หากฝายค้านแหยมมาเมื่อไหร่หรือหากเห็นว่า “บิ๊กตู่” กำลังจะเสียทีฝ่ายค้าน กลุ่มทีมตอบโต้ในสภาฯ จะลุกขึ้นตัดเกมทันที เพื่อเบรกจังหวะไม่ให้ “บิ๊กตู่” เพลี่ยงพล้ำ
ขณะที่ฝ่ายค้านเอง พบว่า แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีการนัดคุยกันนอกรอบผ่านระบบประชุมออนไลน์อย่างถี่ยิบในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมรอบสุดท้าย วงหารือพบว่า แกนนำฝายค้าน ทั้ง “เพื่อไทย-ก้าวไกล-เสรีรวมไทย-ประชาชาติ” มีการลำดับประเด็น-กำหนดประเด็นการอภิปราย-กำหนดตัวส.ส.ที่จะลุกขึ้นอภิปราย
ข่าวบอกว่า แกนนำวิปฝ่ายค้าน มีการกำชับกันว่า ตัวส.ส.ฝ่ายค้าน ที่จะลุกขึ้นอภิปรายต้องให้มีการสอดรับ-ประสาน มีการรับส่งประเด็นกันแบบให้ออกมาเป็นลูกระนาด ให้ประเด็นการอภิปรายออกมาเป็นเอกภาพ เช่น เมื่ออภิปรายเรื่องวัคซีน ก็ต้องย้ำเรื่องความผิดพลาดของรัฐบาลเรื่องวัคซีน ไปตลอดหลายชั่วโมงจนครบหมดประเด็น ไม่ใช่อภิปรายเรื่องวัคซีนแล้วกระโดดไปเรื่องผลกระทบเศรษฐกิจ แล้วจะมาเรื่องอภิปรายวัคซีนอีก แบบนี้ต้องหลีกเลี่ยงเพราะจะทำให้ ประเด็นไม่ต่อเนื่อง จนประชาชนต่อไม่ติด
รวมถึงมีข่าวว่า แกนนำในแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านมีการกำชับเรื่อง ต้องระวังไม่ให้ “ข้อสอบรั่ว” คือให้ประเด็นและข้อมูลการอภิปราย โดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ เช่นข้อมูลที่ฝ่ายค้านเชื่อว่าเป็นเรื่องทุจริตหรือข้อมูลการประมูลโครงการหรือ-การทำสัญญาต่างๆ ของรัฐบาล ต้องให้รู้แค่เฉพาะคนที่อภิปรายและแกนนำพรรคเท่านั้น ไม่ต้องให้ทุกคนในพรรครู้ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาข้อสอบรั่วแบบที่เคยปรากฏมา
แม้จะมีสถานการณ์แทรกซ้อนเกิดขึ้น เพราะพบว่าในฝ่ายรัฐบาล เริ่มเกิดคลื่นใต้น้ำในรัฐบาลขึ้นแล้ว จากผลพวงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะให้เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง เป็นระบบ “บัตรสองใบ” และลดจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลง จาก 150 คน เหลือ 100 คน
สำหรับเรื่องการลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ แน่นอนว่า ด้วยจำนวนเสียงส.ส.รัฐบาลที่มีมากกว่าฝ่ายค้านค่อนข้างมาก ทำให้เรื่องจำนวนเสียงโหวตไว้วางใจ จึงไม่น่าจะมีปัญหา
ซึ่งระบบดังกล่าว พวกพรรคการเมืองขนาดเล็กโดยเฉพาะพวกพรรคที่มีส.ส. 1-5 คน มีสิทธิ์สูญพันธุ์ได้ จึงทำให้พรรคเล็กในฝ่ายรัฐบาล อาทิ “รวมพลังประชาชาติไทย-ชาติพัฒนา-พลังท้องถิ่นไท-พลังธรรม-เศรษฐกิจใหม่-รักษ์ผืนป่าประเทศไทย” เป็นต้น ดูจะมีอาการไม่พอใจ พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ ที่ไปจับมือกับเพื่อไทยในการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะทำให้พรรคเล็กเสียประโยชน์ เสี่ยงสูญพันธุ์
ดังนั้น ตอนโหวตลงมติ ต้องจับตา จะมีการ “ก่อหวอด” ด้วยการงดออกเสียง รัฐมนตรีบางคน ขึ้นมาหรือไม่ เพราะหากมี ก็อาจทำให้ เสียงไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ ใน 6 รัฐมนตรี อาจแตกต่างกันพอสมควร จนกลายเป็นประเด็นการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลได้
จึงต้องเป็นหน้าที่ของ มือประสานของพลังประชารัฐ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ คงต้องเคลียร์เรื่องนี้ก่อนการโหวตลงมติในตอนเช้า ศุกร์ที่ 3 ก.ย.
ส่วนการเมืองในภาพใหญ่ หากรัฐบาลผ่านพ้นศึกซักฟอกไปได้ด้วยดี แม้บางรายอาจผ่านศึกนี้มาแบบสะบักสะบอมบ้าง โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่-เสี่ยหนู” ที่ฝ่ายค้าน รอจัดหนัก จ้องถลุงครั้งใหญ่ ก็ต้องดูว่า หากบิ๊กตู่ แม้อาจโดนฝ่ายค้านถล่มหนัก แต่ถ้าผ่านศึกนี้ไปได้ แล้วหลังจากนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไรตามมาหรือไม่
เพราะเท่าที่คนในพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล ประเมิน ดูจะเห็นตรงกันว่า จากที่ก่อนหน้านี้ “พล.อ.ประยุทธ์” เคยให้สัมภาษณ์ตอนโควิดรอบนี้ระบาดหนักว่า “ไม่ท้อ-ไม่ถอดใจ” และจะขออยู่ทำหน้าที่เป็นนายกฯสู้กับโควิดต่อไป ผนวกกับบุคลิกส่วนตัวของพลเอกประยุทธ์ ที่ยิ่งถูกกดดัน ก็ยิ่งสู้ จึงทำให้ ทุกฝ่ายเชื่อว่า ยังไงหลังจบศึกซักฟอก ถึงบิ๊กตู่ โดนหนักแค่ไหน ก็คงไม่ถอดใจ “ลาออก” อย่างที่ฝ่ายค้านต้องการแน่นอน
ส่วนเรื่อง “ยุบสภา” หลังจบซักฟอก ถ้าดูจากสถานการณ์ตอนนี้ ที่กระแสนิยมของ “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย” ไม่ค่อยดีนักจากผลพวงเรื่องโควิด หากยุบสภาฯ ไป จะหาเสียงลำบาก เสียเปรียบฝ่ายตรงข้าม
จึงย่อมทำให้ แกนนำสองพรรคดังกล่าว ย่อมไม่ต้องการให้ “บิ๊กตู่” ยุบสภาฯ ตอนนี้แน่นอน ดูแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” และพรรคร่วมรัฐบาล ต้องพยายามประคับประคองรัฐบาลและรัฐสภา ให้อยู่ให้ได้นานที่สุด เพราะคงมองว่า พอเข้าช่วงกลางเดือนก.ย. สถานการณ์โควิดน่าจะดีขึ้น อีกทั้งม็อบไล่ประยุทธ์ ก็ไม่น่าจะแรง จนสร้างแรงกดดันให้บิ๊กตู่ยุบสภาฯได้ หลังม็อบดินแดงที่มีภาพรุนแรงติดลบหนัก ทำให้ม็อบไล่รัฐบาลเสียความชอบธรรมไปเยอะ เลยเข้าทาง รัฐบาลไปเต็ม ๆ
จบศึกซักฟอก ถ้าข้อมูลของฝ่ายค้าน ไม่ถึงกับทำให้คนทั้งประเทศตะลึงได้ โดยเฉพาะหากไม่มีข้อมูลชัดๆ เรื่องคนในรัฐบาลทุจริตจากการแก้ปัญหาโควิด จนทำให้ประชาชนยอมรับรัฐบาลและตัวพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ ถ้าฝ่ายค้านไม่มีหมัดเด็ดทำนองนี้ ก็คาดว่า จบศึกซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาล คงพอประคองสถานการณ์ไปได้ระดับหนึ่งแล้วก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป แต่หากมีรัฐมนตรีคนไหน ถ้าฝ่ายค้านแฉชัดว่า มีพฤติการณ์ทุจริต ก็อาจนำไปสู่การปรับครม. แก้ปัญหาเป็นจุดๆ ไป แต่ถ้าไม่มีการปรับครม. เป็นไปได้ว่า อาจเกิดขึ้นอีกครั้งช่วงปลายปี หรือต้นปีหน้า
บนเป้าหมายคือ ทำทุกอย่างเพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้นานที่สุด หวังให้อยู่จนครบสี่ปี และพลเอกประยุทธ์ ลงจากตำแหน่งนายกฯ ได้แบบ สวยงามที่สุด
…………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย……“พระจันทร์เสี้ยว”