วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSขับไล่“แอมเนสตี้ฯ” หลังถูกเพ่งเล็ง“ท่อน้ำเลี้ยง”ม็อบ 3 นิ้ว  
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ขับไล่“แอมเนสตี้ฯ” หลังถูกเพ่งเล็ง“ท่อน้ำเลี้ยง”ม็อบ 3 นิ้ว  

แม้ที่ผ่านมา องค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย) จะเผชิญแรงต่อต้านจากคนในสังคมบางกลุ่ม จากการออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เช่นกรณีที่แอมเนสตี้ฯ ประะเทศไทย เคยออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น

ท่ามกลางเสียงโต้แย้งว่า หลายกรณีผู้กระทำผิดรุนแรงในคดีอาญา มักกระทำผิดซ้ำ เพราะแม้ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ในความเป็นจริงนักโทษทุกคนก็จะได้รับการลดโทษ จนติดคุกจริงสิบกว่าปี แล้วก็ถูกปล่อยตัวออกมาและหลายคนก็มากระทำผิดซ้ำอีก

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ถือว่า แอมเนสตี้ฯ เจอแรงกดดันทางสังคมและการเมืองที่ถือว่าหนักหน่วงที่สุด กับกระแสกดดันของคนในสังคมที่ไม่พอใจท่าทีของแอมเนสตี้ฯ ที่เลือกปกป้อง ยืนเคียงข้าง แกนนำม็อบสามนิ้วที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงก้าวร้าว ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ

อย่าง “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ถึงขั้นรณรงค์ทำแคมเปญ “Write for Rights”-“เขียน เปลี่ยน โลก” เพื่อกดดันให้ทางการไทยหยุดดำเนินคดี “รุ้ง” ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการถูกถอนประกันตัว จนเข้าไปอยู่ในเรือนจำมาหลายวันแล้ว หรือการที่แอมเนสตี้ฯไทย ร่วมมือกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่แถลงการณ์ของ “เอ็มเมอร์ลีน จิล” รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่คัดค้านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครอง ถึงขั้นระบุว่าเป็น คำวินิจฉัยที่ฉายเงามืดหม่นทาบทับประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ การเคลื่อนไหวทั้งหมดของแอมเนสตี้ฯ จึงถูกมองว่า ไม่ต่างอะไรกับการ “ชักศึกเข้าบ้าน-เผาบ้านตัวเอง”

จนเกิดกระแสต่อต้านขึ้นมากมายโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่มีการสร้างแคมเปญเรียกร้องให้แอมเนสตี้ฯ ออกไปจากประเทศไทย หรือ Amnesty GETOUT ที่มีกระแสตอบรับมากพอสมควร

ว่าไปแล้ว ก่อนหน้านี้ ท่าทีของแอมเนสตี้ฯ ที่เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน ระดับนานาชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ จะพบว่าช่วงที่ผ่านมา ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า แอมเนสตี้ฯประเทศไทย เลือกที่จะยืนข้างการเคลื่อนไหวชุมนุมของม็อบสามนิ้วที่ชูธง ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และให้ยกเลิกมาตรา 112 มาตลอดร่วมสองปี จนถูกตั้งป้อม-ไม่ยอมรับจากประชาชนหลายกลุ่มที่มองว่า เอ็นจีโอต่างชาติ องค์กรนี้ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ เข้ามาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนในไทยแต่บทบาทที่ผ่านมา คนมองว่า ไม่เป็นกลาง-เลือกข้าง-เล่นตามกระะแส โดยขาดความเข้าใจบริบทสังคมการเมืองไทยอย่างถ่องแท้

อีกทั้งคนในเครือข่ายแอมเนสตี้ฯ ก็ถูกมองว่าเป็นคนใกล้ชิด-คนที่อยู่ฝ่ายม็อบสามนิ้ว-กลุ่มการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น กรรมการแอมเนสตี้ฯชุดปัจจุบันหลายคน ก็ถูกเปิดเผยว่าเป็นเครือข่ายคนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน เคยร่วมทำกิจกรรมกับแกนนำม็อบสามนิ้วมาก่อน จึงไม่แปลกที่ท่าทีของแอมเนสตี้ฯ จะถูกมองว่า เลือกข้างและเล่นการเมือง จนความน่าเชื่อถือแทบไม่มี 

จนตอนนี้ลุกลามมาเป็นกระแสขับไล่แอมเนสตี้ฯ ออกไปจากประเทศไทย ภายใต้รูปแบบคือ ให้สำนักงานแอมเนสตี้ฯที่ตั้งอยู่แถวลาดพร้าว ต้องถูกยกเลิกเพิกถอนการจดทะเบียนกับกรมการปกครอง จนเคลื่อนไหวใดๆ ในประเทศไทยต่อไปอีกไม่ได้ มีการปิดสำนักงานในไทย ส่วนเจ้าหน้าที่-ฝ่ายบริหารของแอมเนสตี้ฯ ก็แยกย้ายกันไปตามสภาพ 

การเคลื่อนไหวนับจากนี้ต้องดูว่า ฝ่ายรัฐบาลจะเอาจริงเอาจังแค่ไหน หรือแค่เล่นตามกระแสของสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวต่อต้านแอมเนสตี้ฯ เข้าทางรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ในยุคคสช. องค์กรแอมเนสตี้ฯก็ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารคสช.มาร่วมห้าปีกว่า จึงไม่แปลกที่คนในรัฐบาล จะมีท่าทีตอบรับกับกระแสขับไล่แอมเนสตี้ฯ ออกไป

ดูได้จากแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและรมว.กลาโหม ก็ให้สัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในลักษณะไฟเขียวให้จัดการเรื่องนี้ได้

“กำลังให้มีการดำเนินการและให้ตรวจสอบทางกฏหมายดูอยู่ว่า มีความผิดอะไรหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ที่มีการจดทะเบียนไว้หรือไม่อย่างไร ซึ่งถ้าผิด ก็ต้องยกเลิก ผมไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ในการที่จะมาให้ร้ายกับประเทศของเรา

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนกรานจะเดินหน้าให้มีการออกกฎหมาย เพื่อตรวจสอบ-ควบคุมการเคลื่อนไหวขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร หรือ “เอ็นจีโอ” โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนควบคุม การแจ้งที่มาของแหล่งเงินต่างๆ

ซึ่งร่างกฎหมายที่นายกฯระบุถึง ก็คือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันและให้รับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ….” ซึ่งที่ประชุมครม.มีมติรับหลักการร่างดังกล่าวเมื่อ 29 มิ.ย.64 และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาฯเพื่อพิจารณาส่งให้สภาฯต่อไป

อันเป็นร่างพ.ร.บ.ฯที่พบว่า กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอทั้งของไทยและต่างประเทศหลายองค์กร มีท่าทีไม่เห็นด้วย ขณะที่่ท่าทีของแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย พบว่า เคยเผยแพร่บทความ-รายงานพิเศษเรื่อง “ส่องพ.ร.บ.ควบคุมเอ็นจีโอและภาคประชาชสังคมในต่างประเทศ” โดยมีเนื้อหาในตอนท้าย ที่เน้นเรื่องผลกระทบของการมีกฎหมายดังกล่าว ที่มีเนื้อหาในเชิงไม่เห็นด้วยกับร่างพรบ.ฉบับนี้อย่างชัดเจน

เช่นการอ้างว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมการดำเนินกิจกรรมได้ โดยกลุ่มใดก็ตามที่รับทุนจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเต็มที่ที่จะพิจารณาว่า กิจกรรมใดบ้างที่จะสามารถกระทำโดยใช้เงินทุนนั้น และมีบทบัญญัติให้อำนาจแก่ทางการไทย ในการตรวจสอบองค์กรต่างๆ อย่างใกล้ชิด หรือการอ้างว่าจะกระทบความเป็นส่วนตัวและปิดกั้นการแสดงออก เพราะเจ้าหน้าที่ไทยสามารถเข้าไปในสำนักงานขององค์กรภาคประชาสังคม ทำสำเนาข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าและไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งเป็นการคุกคามสิทธิและความเป็นส่วนตัว!

เป็นไปได้ที่เมื่อใกล้ๆที่จะมีการพิจารณาออกกฎหมายดังกล่าวในสภาฯ กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ โดยเฉพาะแอมเนสตี้ฯ คงออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนักแน่นอน เพื่อเป็นการ “รักษาหม้อข้าว” ตัวเองไว้

แต่เฉพาะตอนนี้ แอมเนสตี้ฯประเทศไทย ต้องเตรียมรับมือกับฝ่ายต่างๆ ที่กำลังเคลื่อนไหวและหาช่องทาง ทำให้แอมเนสตี้ฯ ออกไปจากประเทศไทย

เพราะอย่าง กรมการปกครองเอง พบว่า “ธนาคม จงจิระ” อธิบดีกรมการปกครอง ที่เป็นหน่วยงานรัฐในการรับจดทะเบียนการจัดตั้ง สมาคม-มูลนิธิต่างๆ ก็ออกมาระบุว่า “หากพบแอมเนสตี้ได้กระทำความผิด หรือเข้าข่ายดำเนินกิจการผิดวัตถุประสงค์ในการขอจัดตั้งสมาคม ทางกรมการปกครองก็จะดำเนินการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือวิปกครอง โดยมีขั้นตอนคือต้องแจ้งไปทางแอมเนสตี้ เพื่อสามารถที่จะให้ทางสมาคมแก้ต่างและอุทธรณ์ได้ โดยกรมการปกครองจะมีคำสั่งถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียน และยกเลิกการดำเนินกิจการของสมาคมแอมเนสตี้ทันที หากทางแอมเนสตี้ไม่พอใจสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองได้”

ขณะเดียวกัน มีข่าวว่า จริงๆ แล้ว ท่าทีการเคลื่อนไหวของ แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ถูกจับตามองมาได้สักระยะแล้ว โดยเฉพาะในช่วงม็อบสามนิ้วเคลื่อนไหวหนักๆ ก็มีข่าวว่า หน่วยงานด้านการข่าว และความมั่นคง ก็พยายามหาข้อมูลถึงองค์กรเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนทางการเงินและการเคลื่อนไหวกับแกนนำม็อบ โดยเฉพาะพวกเอ็นจีโอต่างประเทศ ที่ก็พบว่ามีการเชื่อมโยงไปถึงคนในเครือข่ายแอมเนสตี้ฯด้วย จนมีข่าวว่า ในการพิจารณาคดีล้มล้างการปกครองฯ ที่มีเรื่องของผัง-เครือข่ายม็อบสามนิ้ว ก็มีการระบุถึงคนในเครือข่ายองค์กรแอมเนสตี้ฯ ว่าเป็นกลุ่มเอ็นจีโอฯ ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วด้วย 

หากไปดูคำวินิจฉัยของศาลรธน.ในคดีล้มล้างการปกครอง เมื่อ 10 พ.ย. จะพบว่ามีการระบุในตอนท้าย “ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง”

คำว่า “รวมถึงองค์กรเครือข่าย ดังกล่าวในคำวินิจฉัยของศาลรธน. แม้ศาลรธน.จะไม่อธิบายลงรายละเอียดว่า คือองค์กรเครือข่ายใด แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตุการณ์ว่า การที่ศาลถึงกับระบุในคำวินิจฉัยกลางบางตอนว่า มีองค์กรเครือข่ายฯ คอยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแกนนำม็อบสามนิ้ว ที่มีลักษณะรุนแรง ทำให้เกิดความแตกแยก แสดงว่าก็ต้องมีข้อมูลอะไรบางอย่างที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับมา

สถานการณ์ของแอมเนสตี้ ประเทศไทยตอนนี้ จึงไม่ค่อยดีนัก เพราะเจอศึกหนักทั้งแรงต้านจากคนในสังคมและในโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐอย่าง “กรมการปกครอง” ก็ตั้งแท่นหาช่องเล่นงานทำให้สิ้นสภาพ จนสำนักงานในไทยอาจต้องถูกปิดตัวลง ขณะที่ในอนาคต ก็กำลังจะมีการออกกฎหมายเพื่อเข้มงวดมากขึ้นในการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ ของพวกเอ็นจีโอ โดยเฉพาะการควบคุมตรวจสอบเรื่องเงินทุนหรือท่อน้ำเลี้ยง

เรียกได้ว่า แม้ต่อให้หลังจากนี้ กระแสขับไล่แอมเนสตี้ฯ อาจซาลงไป จนทำให้แอมเนสตี้ฯ ประคองตัวอยู่ต่อไปได้ แต่ระยะยาว คงทำให้เอ็นจีโอต่างชาติ องค์กรนี้ ขยับได้ลำบาก ไม่คล่องตัวเหมือนเดิมอีกแล้ว หลังเลือกที่จะเคลื่อนไหวแบบเลือกข้างทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

……………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย…..“พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img