เป็นอันว่า มกราคม ปีหน้า ประชาชนในพื้นที่เขต 1 ชุมพร-เขต 4 สงขลาและคนกรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ จะได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งซ่อมส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างลง หลัง 3 อดีตส.ส.หลุดจากเก้าอี้และลงสมัครต่อไม่ได้คือ “ลูกหมี : ชุมพล จุลใส-ถาวร เสนเนียม-สิระ เจนจาคะ” ตามลำดับ
ในส่วนของชุมพรกับสงขลา มีการเปิดรับสมัครคนที่จะลงเลือกตั้งซ่อมไปแล้ว และจะสิ้นสุดวันจันทร์ที่ 27 ธ.ค.นี้ โดยจะมีการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค. ส่วนสนามเลือกตั้งหลักสี่คาดว่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค.65
พบว่าสนามเลือกตั้ง “ชุมพร” มีคนไปยื่นสมัครลงรับเลือกตั้ง เช่น “อิสรพงษ์ มากอำไพ” พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลานภรรยาของลูกหมีชุมพล, “วรพล อนันตศักดิ์” พรรคก้าวไกล, “ชวลิต อาจหาญ” หรือ “ทนายแดง” จากพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่กว่าพปชร.จะส่งลงเลือกตั้งได้ ต้องลุ้นหลังหลายตลบ กับการกลับไปกลับมาของ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคและแกนนำพรรค และผู้สมัครจากพรรคกล้า ที่จะมายื่นสมัคร 26 ธ.ค.คือ “พ.ต.อ.ทศพร โชติคุตร์” หรือ “ผู้กำกับหนุ่ย”
ส่วนที่ “สงขลา” ก็มี “น้ำหอม-สุภาพร กำเนิดผล” อดีตรองนายกฯอบจ. จากพรรคประชาธิปัตย์ ภรรยาของ “นายกฯชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลพื้นที่ภาคใต้, “ธิวัชร์ ดำแก้ว” พรรคก้าวไกล, “อนุกูล พฤกษานุศักดิ์” พรรคพลังประชารัฐ และ “พงศธร สุวรรณรักษา” พรรคกล้า เป็นต้น
สำหรับสนามเขตหลักสี่ ที่ชัดๆ แล้ว เจ้าของพื้นที่เดิมพปชร. แน่นอนว่า “สิระ ลูกศิษย์หลวงพ่อป้อมแห่งอาณาจักรบ้านทรงไทย แจ้งวัฒนะ” กำลังดันสุดตัวเพื่อให้พรรคส่งภรรยา “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” ลงรักษาพื้นที่ เป็นทายาทการเมืองต่อไป เหตุตัวเองลงเลือกตั้งไม่ได้อีกแล้ว เพราะขาดคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน ที่ต้องดูว่า แกนนำพปชร.จะโอเคหรือไม่ แต่เชื่อว่ามีโอกาสมากกว่าห้าสิบเปอร์เซนต์จะส่ง “เมียสิระ” เพราะที่ผ่านมา พปชร.ไม่ได้เตรียมใครสำรองไว้ อีกทั้งหากไม่ส่งเมียสิระลง ก็คาดว่า “สิระ” จะไม่ยอมลงมาช่วยหาเสียงให้ ทำให้ พปชร.อาจเหนื่อยหนัก ถึงตอนนี้เลยทำให้เมียสิระ ยังได้ลุ้นลงอยู่แต่จะชนะหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง
นอกจากนี้ก็ยังมี พรรคก้าวไกล ส่ง “เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ” นักแสดง ลงสมัครแทน “กฤษณุชา สรรเสริญ” อดีตผู้สมัครเดิม สมัยยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่ตอนนั้นได้คะแนนมา 25,735 คะแนน
ขณะที่พรรคปชป. ยังไม่ชัดว่าจะเอาอย่างไร แต่เบื้องต้นทีมโฆษกพรรคบอกว่า อาจจะส่งลงและอาจเป็นคนเดิมคือ “ผู้การแต้ม-พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ” อดีตรองผบช.น. แต่หากดูจากกระแสในพื้นที่ หากปชป.ลงสู้ด้วย ก็เหนื่อยไม่ใช่เล่น เพราะเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คะแนนมาอันดับสี่ ได้แค่ 16,255 คะแนนเท่านั้น ตามหลัง “อนาคตใหม่” ด้วยซ้ำ
ทว่าคู่แข่งสำคัญของพปชร. จริงๆ ก็คือ “สุรชาติ เทียนทอง” อดีตส.ส.กทม. เขตหลักสี่ ปี 2554 ลูกชาย “เสนาะ เทียนทอง” ที่ครั้งที่แล้ว ได้คะแนนมาร่วมสามหมื่นกว่าคะแนน ทำให้พรรคเพื่อไทย (พท.) มั่นใจจะชนะเลือกตั้งซ่อมรอบนี้
แต่ที่น่าสนใจก็คือ “ตัวสอดแทรก” ที่จะลงมาชิงชัยด้วยในสนามกทม. โดยเฉพาะพวกพรรคตั้งใหม่ที่จะใช้โอกาสนี้แนะนำตัวเอง สร้างกระแสพรรค แน่นอนแล้วว่า หนึ่งในพรรคใหม่ที่ส่งคนลงแน่นอนคือ “พรรคไทยภักดี” ของ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” มือปราบโกงจำนำข้าว ที่ตั้งแต่ตั้งพรรคปีกว่าเกือบสองปี ยังไม่เคยส่งลงเลือกตั้ง รอบนี้ก็จะประเดิมส่ง “พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์” นักธุรกิจ-CEO บริษัทเอกชนหลายแห่ง ที่่ร่วมงานการเมืองกับหมอวรงค์มาตั้งแต่เริ่มตั้งพรรค ลงสมัครที่เขตหลักสี่
ความน่าสนใจของ “ไทยภักดี” ก็คือจะได้กองหนุน หัวคะแนน อย่าง “พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งเขตหลักสี่พอดี และที่ผ่านมา “หมอเหรียญทอง” ก็มีผลงานบางเรื่องเป็นที่ถูกใจประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงโควิด โดยแม้ “หมอเหรียญทอง” จะเป็นกองเชียร์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเต็มตัว แต่ก็ไม่ถูกกับ “สิระ” ช่วงโควิดระบาดหนัก กรณีหมอเหรียญทองตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ใกล้รพ.ของตัวเอง จนมีเรื่องมีราวบานปลาย
ดังนั้น หากกลุ่มหมอเหรียญทองที่ก็เปิดตัวสนับสนุนพรรคไทยภักดีมาตลอด แล้วเกิดมีส.ส.ในพื้นที่ที่เป็นคนกันเอง-คุยกันได้ ก็จะเป็นผลดีต่อหมอเหรียญทองแน่นอน ทำให้ “ผู้สมัครไทยภักดี” จะเป็นอีกหนึ่งคนที่เข้ามาสร้างสีสันในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้
ส่วนอีกสองพรรคตั้งใหม่คือ “พรรคกล้า” ของ “กรณ์ จาติกวณิช” กับ “ไทยสร้างไทย” ของ “เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่เป็นสองพรรคที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่กทม.เป็นพิเศษ โดยเฉพาะพรรคเจ๊หน่อย ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะส่งคนลงเลือกตั้งหรือไม่
จุดที่น่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 สนาม ก็คือ การเลือกตั้งซ่อมทั้งสามพื้นที่คือมันเป็นการ “เช็คความพร้อม-วัดกระแส-ดูเรตติ้งพรรค” ของทั้ง “พรรครัฐบาล-พรรคฝ่ายค้าน-พรรคตั้งใหม่” ที่ดีที่สุด ดีเสียยิ่งกว่าการทำโพล์ใดๆ
เพราะนี้คือสนามเลือกตั้งจริง-คะแนนจริง รู้ผลกันเลยว่า พรรคไหนกระแสในพื้นที่ เช่น ภาคใต้-กรุงเทพมหานคร เป็นยังไง มันจึงเป็นสนามซ้อม ที่หลายพรรคการเมืองต้องการส่งคนของตัวเองลงไปสู้ศึก แม้จะรู้ว่า ส่งไปโอกาสลุ้นแทบไม่มี
เช่นกรณี “พรรคก้าวไกล” ที่ส่งทั้งชุมพร-สงขลา โดยที่พรรคก็รู้ดีว่า “กระแสคนใต้ ไม่ค่อยชอบพรรคก้าวไกล ที่ถูกมองว่าให้การสนับสนุนม็อบสามนิ้วที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์” และที่ผ่านมา ฐานเสียงของพรรคก้าวไกลในภาคใต้ก็ไม่ค่อยดีนัก เห็นได้จากผลการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งอบจ.-เทศบาล-อบต. ที่คนของคณะก้าวหน้า ภายใต้การนำของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เครือข่ายพรรคก้าวไกล ประสบความล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่
แต่การที่พรรคก้าวไกลส่งคนลง แม้จะรู้ดีว่า โอกาสชนะแทบไม่มี ก็เพื่อหวังผลระยะยาวในภายหน้ามากกว่า เช่นการสร้างฐานเสียง-การทำให้คนใต้รู้จักจดจำชื่อพรรคก้าวไกล-การสร้างพื้นที่สื่อ เพราะเมื่อคนของพรรคลงเลือกตั้ง สื่อก็ต้องนำเสนอความเคลื่อนไหวต่างๆ หลายสัปดาห์ แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มแล้ว เพราะแพ้เลือกตั้งมา “พรรคก้าวไกล-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก็ไม่เสียหน้ามาก
แน่นอนว่า ทั้ง 3 สนาม “ชุมพร-สงขลา-หลักสี่ กทม.” การที่พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่มีการหลบให้กัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือจะมีการ “ตัดคะแนนกันเอง” ระหว่าง “พรรครัฐบาล” และ “พรรคฝ่ายค้าน” ผลที่ตามมาก็คือ จะทำให้เป็นการเลือกตั้งที่สนุกสูสี ทั้ง 3 สนาม
โดย “ชุมพร-สงขลา” ที่ชัดเจนว่า “คู่มวยหลัก” จะเป็นการแข่งขันกันเองระหว่าง “พปชร.-ปชป.” โดยจะมีบางพรรค เช่น “พรรคกล้า” ที่อาจจะมาตัดคะแนน “ปชป.” จนไปเข้าทาง “พปชร.”เหมือนกับตอนเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช แต่หากกระแสคนที่ชุมพร สงสาร “ลูกหมี” ที่ต้องหลุดจากส.ส.และโดนพักการเมืองยาว แรงสุดๆ โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้าย หากแกนนำปชป.พร้อมใจกันลงไปช่วยหาเสียงให้พร้อมกันหมด หลังมั่นใจว่า “กลุ่มลูกหมี” ไม่ย้ายพรรคแน่นอน ก็อาจทำให้ คนของปชป.ชนะแบบม้วนเดียวจบก็ได้
แต่ที่จะมีการตัดคะแนนกันเอง แข่งกันเดือดมากกว่า ก็คือสนามเลือกตั้งเขตหลักสี่ เพราะยังไง คนที่จะไปเลือกตั้ง ก็จะมีฐานคิดการเมืองแบบ “แยกขั้ว-แยกฝ่าย” อยู่แล้ว คือ หากไม่พอใจรัฐบาล ไม่ชอบพรรคร่วมรัฐบาล หนุนฝ่ายค้าน ก็จะเลือกคนของพรรคฝ่ายค้าน เช่น “เพื่อไทย” หรือ “ก้าวไกล” แต่หากสนับสนุนพรรครัฐบาล ชอบนายกฯบิ๊กตู่ ชิงชังฝ่ายค้านชุดนี้ ก็เลือกคนของ “พปชร.” หรือ “ปชป.” หรือไม่ก็เลือกตัวเลือกใหม่ เช่นพวกผู้สมัครพรรคใหม่อย่าง “ไทยภักดี” เป็นต้น
ผลก็คือ จะทำให้เกิดการตัดคะแนนกันเองตามมาแน่ ทั้งในกลุ่มพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นทางการเมือง
3 สนามเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้นเดือนมกราคมปีหน้า จึงเป็นศึกเลือกตั้งซ่อมที่จะใช้เช็คความพร้อมของพรรคการเมืองทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-พรรคตั้งใหม่ ก่อนทำศึกเลือกตั้งใหญ่ อีกทั้งยังสามารถเช็คกระแสนิยม วัดเรตติ้ง การเมือง ที่คนมีต่อแต่ละพรรคการเมืองได้เป็นอย่างดี
และแน่นอนว่า ไม่ว่าผลออกมาแบบไหน ยังไง เลี่ยงไม่พ้นที่จะโยงไปถึงการบอกว่า เป็นการวัดกระแสนิยมคนที่มีต่อ “นายกฯบิ๊กตู่” ไปด้วย เช่น หาก “พปชร.” ประสบความสำเร็จ มันก็จะดีต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ด้วย “พปชร.”เคลมได้ว่า กระแส “บิ๊กตู่” ยังแรง แต่ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะหาก “พปชร.”แพ้ ไม่ชนะเลยสักที่จาก 3 สนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่ “หลักสี่-กทม.” รับรองได้ว่า ผลเลือกตั้งจะถูกแปรค่าออกมาทางการเมืองว่า….
พล.อ.ประยุทธ์ “กระแสตก” แล้ว !!!
………………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”