เข้ามาสู่ปี 2565 กันแล้ว โดยการเมืองไทยในปีนี้ ที่เป็น “ปีนักษัตรขาล” หรือ “ปีเสือ” นักวิเคราะห์การเมือง-นักโหราศาสตร์ บอกว่าเป็นปีที่อาจมีเหตุการณ์หรือมีจุดพลิกผัน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาได้ จนบางรายเรียกกันว่า “2565-ปีเสือดุ”
ซึ่งการเมืองตลอดปีนี้ หากดูจากปฏิทินการเมืองตามไทม์ไลน์ต่างๆ ก็น่าเชื่อว่าจะเป็นปีเสือดุ-เสือไฟ เพราะแต่ละจังหวะการเมืองที่รออยู่ข้างหน้า แต่ละเรื่องร้อนแรงกันไปตามสภาพ โดยหากโฟกัสฉากทัศน์การเมืองในปีนี้ ก็จะพบว่ามีหลาย scenario ที่น่าสนใจ อย่างน้อยก็ 7 scenario ดังนี้
1.สถานการณ์โควิดโอมิครอนในประเทศไทย
โดยแม้วิกฤตโรคระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก จนต้องออกมาตราการคุมเข้มเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่เรื่องนี้ในทางการเมือง ยังไงก็เป็นเรื่องความรับผิดชอบของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่แล้วในการวางแผนป้องกันและรับมือกับโอมิครอนที่มีการจับตากันว่า ตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงกลางเดือนม.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศอาจพุ่งสูงขึ้น หลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะ หากพบว่าเป็นผลมาจากคลัสเตอร์ปาร์ตี้ปีใหม่ในกรุงเทพมหานคร ถ้าหากออกมาแบบนี้ หรือแม้ต่อให้ไม่ได้เกิดจากปาร์ตี้หรืองานเลี้ยงปีใหม่ แต่หากมีคนติดเชื้อจำนวนมากนับจากนี้ ก็เชื่อได้ว่ายังไง ฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ก็ต้องโยงเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นการเมือง ทำนองว่าเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่เชื้อเป็นเพราะรัฐบาลไม่ยอมสั่งให้ภาคเอกชนยกเลิกการจัดงานปีใหม่ เป็นต้น
กระนั้นก็ตาม ด้วยสายพันธุ์โอมิครอน คนติดเชื้อจะไม่มีอาการรุนแรง ที่สำคัญปัจจุบัน คนไทยฉีดวัคซีนกันเกิน 100 ล้านโดสไปแล้ว และปีนี้ ก็จะมีวัคซีนเข้ามาในไทยอีกจำนวนมาก จึงน่าจะทำให้รอบนี้ รัฐบาลคงมีความมั่นใจมากขึ้นในการรับมือ แต่หากเตรียมการไว้แล้วแต่ถ้าคุมไม่อยู่ รัฐบาลประยุทธ์ก็ต้องรับผิดชอบเต็มๆ และจะทำให้เรื่องโอมิครอน กลายเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนที่ถูกหยิบยกมาดิสเครดิตรัฐบาล
2.สถานการณ์การเลือกตั้งซ่อม 3 เขตเลือกตั้งในเดือนมกราคม
คือ ชุมพร-สงขลาที่จะเลือกตั้งกันวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.นี้ และพื้นที่หลักสี่ กทม. ที่จะเลือกวันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค. จึงทำให้ตั้งแต่ต้นปีนี้ไปจนถึงวันที่ 30 ม.ค.และหลังจากนั้น จะทำให้เดือน ม.ค. มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคัก ในการหาเสียงเลือกตั้งและลุ้นผลการเลือกตั้ง ตลอดจนเอฟเฟกต์การเมืองที่จะตามมาหลังการเลือกตั้ง เมื่อรู้ผลว่าพรรคการเมืองใดชนะในการเลือกตั้งทั้งสามเขต ซึ่งไม่ว่าผล ออกแบบไหน จะเป็นพรรครัฐบาลหรือฝ่ายค้าน มันก็จะส่งผลเป็นโดมิโนการเมืองตามมาแน่นอน
โดยเฉพาะหากสุดท้าย “พลังประชารัฐ” พรรคแกนนำรัฐบาล ไม่ประสบความสำเร็จ คือไม่ชนะเลือกตั้งทั้ง 3 เขตที่ส่งคนลงเลือกตั้ง ก็จะมีผลทางการเมืองตามมาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากแพ้ที่หลักสี่ ที่เป็นการป้องกันพื้นที่ และยังเป็นสนามเลือกตั้งในกทม. ที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง ยิ่งหากแพ้ให้กับฝ่ายค้าน ผลที่จะตามมา จะกระเทือนกับพลังประชารัฐและโยงไปถึงพล.อ.ประยุทธ์อย่างเลี่ยงไม่ได้
เช่นเดียวกับ “ประชาธิปัตย์” ที่หากแพ้ในสนามเลือกตั้งซ่อมที่สงขลาและชุมพร จะทำให้ประชาธิปัตย์มีอาการเครื่องรวนแน่นอน และคนที่ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ คงไม่พ้น “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์” หัวหน้าพรรคและเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้
3.การเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติของฝ่ายค้านและศึกซักฟอกกลางปี
การตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายค้านผ่านช่องทางในสภาฯ นั่นก็คือการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ที่ฝ่ายค้านจะใช้สิทธิ์ดังกล่าวแน่นอน เพื่อโชว์ผลงานและใช้เป็นเวทีถล่มรัฐบาล ก่อนที่จะหมดสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ 28 ก.พ. ซึ่งการอภิปรายจะใช้เวลาแค่วันเดียวและคาดว่าประเด็นหลักๆ ก็คงจะเป็นการอภิปรายเรื่องปัญหาโควิด-ปัญหาเศรษฐกิจ ในลักษณะการซ้อมย่อย เพราะยังไง “ของจริง” ก็จะไปอยู่ที่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในสมัยประชุมหน้าฯ ช่วงวันที่ 22 พ.ค.-18 ก.ย.65
ที่ถึงตอนนั้น การเมืองในสภาฯร้อนแรงแน่นอน เพราะจะมีการชิงไหวชิงพริบ การเจรจาต่อรองทางการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหนัก โดยก่อนเปิดสภาฯ พล.อ.ประยุทธ์คงต้องแก้ปัญหาภายในพลังประชารัฐ กับกลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคให้จบเสียก่อน ไม่เช่นนั้น หากเปิดประชุมสภาฯมา แล้วฝ่ายค้านชิงยื่นญัตติซักฟอกทันที จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาฯไม่ได้ และทำให้ส.ส.รัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มธรรมนัสและอีกบางกลุ่มที่ต้องการตำแหน่งในรัฐบาลและประโยชน์ต่างๆ เช่นการจัดสรรงบประมาณ จะใช้โอกาสนี้ต่อรองกับพล.อ.ประยุทธ์อย่างหนัก เพื่อแลกกับเสียงโหวตไว้วางใจ
และหากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถเคลียร์กับกลุ่มธรรมนัสได้ และไม่อยากให้ตัวเองโดนพวกส.ส.กดดันต่อรอง ก็อาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ยุบสภาฯก่อนฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้ เพื่อแลกกับการต้องไปยอมจำนนกับกลุ่มธรรมนัสและกลุ่มต่างๆในพลังประชารัฐ เช่น การต้องยอมตั้ง “ธรรมนัส” เข้ามาเป็นรัฐมนตรีอีกรอบ ซึ่งหากทำแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็เสียทางการเมือง เป็นต้น
ซึ่งการเมืองช่วงกลางปีนี้ หลังเปิดสภาฯ จึงน่าจะเป็นจุดพีกสุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ครบเทอมหรือไม่ สภาฯชุดนี้จะอยู่ครบสี่ปีในเดือนมี.ค.ปี 2566 หรือไม่ ก็อยู่ที่ศึกซักฟอกกลางปีนี้จะเป็นตัวชี้ขาด โดยหากพล.อ.ประยุทธ์ผ่านศึกนี้ไปได้ ก็เป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม
4.การพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับหรือกฎหมายลูกเพื่อรองรับการเลือกตั้ง
ที่ต้องมีการแก้ไขเพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ คือ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯและพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. ที่คาดว่าที่ประชุมรัฐสภา จะพิจารณาร่างพรบ.ดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ ภายในไม่เกินเดือนม.ค.นี้ หลังพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ยื่นทั้งสองฉบับให้ประธานรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว
และล่าสุดการประชุมครม.เมื่อ 28 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมครม.ก็อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ครม.ส่งต่อให้รัฐสภาพิจารณาเช่นกัน
แน่นอนว่า ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแน่นอน แม้อาจจะยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้างของส.ส.ในสภาฯโดยเฉพาะเรื่องเกณฑ์การคิดคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และเมื่อร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา จนมีการประกาศใช้แล้วโดยคาดว่าคงไม่เกินกลางปีหน้าเป็นอย่างช้า ก็จะทำให้ การเมืองเปิดกว้างมากขึ้น เช่น หากพล.อ.ประยุทธ์ต้องการยุบสภาฯ ก็สามารถทำได้ทันที เพราะมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว
5.การยื่นตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าสามารถอยู่ได้เกินส.ค.ปีนี้หรือไม่
ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนการเมืองกลางปีหน้าที่รออยู่ หลังจากมีประเด็นถกเถียงทางกฎหมายถึงการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 258 วรรคสี่ ที่ระบุ “นายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี” นั้น จะให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งหากนับจากที่เริ่มเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกเมื่อส.ค. 2557 เท่ากับว่า ส.ค.ปี 2565 นี้ ก็จะครบ 8 ปี
ประเด็นดังกล่าว แม้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะมีข่าวว่าฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะชี้ว่า ต้องนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯหลังเลือกตั้งปี 2562 คือนับจาก 9 มิ.ย. 2562 ดังนั้น 8 ปีหากเป็นติดต่อกัน จะไปถึงปี 2570
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านมองว่าความเห็นดังกล่าวของสภาฯ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และมั่นใจมากว่าต้องนับจากส.ค. 2557 และได้ประกาศไว้แล้วว่า ในปีนี้ก่อนถึงช่วงสิงหาคม จะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน โดยหากศาลชี้ว่าให้นับจากส.ค. ปี 2557 ก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกฯได้อีก จนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมา
6.ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯเมืองหลวง
มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาล-กระทรวงมหาดไทย น่าจะเปิดไฟเขียวให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ภายในช่วงกลางปีนี้หรือหลังสงกรานต์ โดยขณะนี้ หลายพรรคการเมือง และคนที่สนใจจะลงชิงผู้ว่าฯกทม. ที่ลงแบบหวังผลจริงและลงเพื่อหวังให้ตัวเองได้เป็นข่าว มีพื้นที่บนสื่อ ก็เริ่มทยอยเปิดตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ บางพรรคก็ประกาศจะเปิดตัวปลายเดือนนี้ เช่น พรรคก้าวไกล
ส่วนบางพรรคก็เริ่มมีข่าวโยนหินถามทางออกมาว่า มีชื่อบางคนติดโผอยู่ อาทิ “ไทยสร้างไทย” ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่มีข่าวมีชื่อ “บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” อดีตนางสาวไทย-เซเลบคนดัง อยู่ในโผแคนดิเดทของไทยสร้างไทยด้วย ส่วนบางคนก็มีข่าวอาจะลงอิสระหรือไม่ก็พรรคตั้งใหม่ เช่น “สกลธี ภัททิยกุล” รองผู้ว่าฯกทม. ที่อาจลงอิสระ แม้ก่อนหน้านี้จะมีชื่อเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐก็ตาม จึงอาจเป็นไปได้ที่ หากพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ลงสมัคร ก็อาจได้เห็น “อดีตเจ้านาย-ลูกน้อง” ในศาลาว่าการกทม.มาแข่งกันเอง
พลันที่ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ลั่นกลองรบ จะทำให้การเมืองไม่เฉพาะแค่ในกทม.คึกคักตามมาอย่างมากแน่นอน
7.การเคลื่อนไหวของ “ม็อบสามนิ้ว” หลังแกนนำประกาศขอติดคุกยาว
แม้วันนี้ “ม็อบสามนิ้ว” จะเลยจุดพีกมาแล้ว เห็นได้จากระยะหลัง การเคลื่อนไหว ไม่ทรงพลังเหมือนเดิม คนมาร่วมน้อยลง และไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเหมือนก่อนหน้านี้ แต่หากถามว่า ม็อบการเมือง ปัจจุบันม็อบไหนที่ได้รับความสนใจจากสังคมและฝ่ายการเมืองมากสุด คำตอบก็คงไม่พ้น “ม็อบสามนิ้ว”
ทำให้ยังไง การเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วในปีนี้ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป กับข้อเรียกร้องหลักสองข้อที่ทางกลุ่มนำมาเคลื่อนไหวคือการแก้ไขมาตรา 112 และการเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำที่ยังอยู่ในเรือนจำ หลังเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แกนนำสี่คนที่ถูกจองจำคือ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิ้น”, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์ ระยอง” และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ดาวดิน” ประกาศจะไม่ขอยื่นประกันตัวต่อศาลอาญาอีกต่อไปแล้ว หลังที่ผ่านมายื่นแล้วหลายครั้ง แต่ศาลไม่เห็นชอบให้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว แต่เชื่อว่าแนวร่วมและกองเชียร์ ยังไงคงไม่ยอมหยุดเคลื่อนไหวแน่นอน
ฉากทัศน์ทั้ง 7 ประเด็นดังกล่าว จึงเป็นปมร้อนการเมือง ในปีนี้ ซึ่งต้องย้ำตอนท้ายเลยว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ ฝ่าด่านต่างๆ ไปได้ จนเลยเดือนส.ค.ปีนี้ โอกาสสภาฯ อยู่ครบเทอม 4 ปี และนั่งเก้าอี้นายกฯ ครบวาระ 4 ปี ได้เห็นแน่นอน
………………………………………
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”