วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSโค้งสุดท้าย...ศึกชิงผู้ว่าฯกทม. “ชัชชาติ” พลิกยาก-วืดเก้าอี้?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โค้งสุดท้าย…ศึกชิงผู้ว่าฯกทม. “ชัชชาติ” พลิกยาก-วืดเก้าอี้?

ยังแรงไม่มีตกจนถึงช่วงโค้งสุดท้าย สำหรับชื่อของ “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อิสระ ที่ยัง “ยืนหนึ่ง” จ่อเข้าป้ายผู้ชนะในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้

อันเท่ากับเหลือเวลาอีกแค่หนึ่งสัปดาห์เท่านั้น สำหรับการหาเสียง โดยหากไม่มีอะไรพลิกล็อคแบบถล่มทลาย ชนิดหักปากกาเซียนและเจ้าสำนักโพลทุกแห่ง มันก็มีโอกาสสูงแล้วที่ “ชัชชาติ” อาจได้เป็นพ่อเมืองกรุงเทพฯคนใหม่

ทว่าเริ่มมีบางกลุ่ม พยายามเตะสกัด “ชัชชาติ” อย่างหนัก ด้วยการตั้งคำถามถึงเรื่องการทำงานในอดีต และการลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ โดยเคลื่อนไหวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ในประเด็นต่างๆ เช่น ความไม่อิสระของ “ชัชชาติ” ด้วยการดิสเครดิตว่า “ชัชชาติ” ก็คือคนของ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “เพื่อไทย”

แต่เป็นการแยกกันเดิน คือ “ชัชชาติ” ลงอิสระ ส่วน “เพื่อไทย” ก็ไม่ส่งคนลงผู้ว่า แต่ส่งคนลงชิงส.ก.ครบทุกเขต 50 คน เพื่อหวังให้ได้เสียงส.ก.มากที่สุด เพื่อให้ “ส.ก.เพื่อไทย” ไปเป็น “กองหนุนชัชชาติ” ในสภากทม. หรือการขุดเรื่องประวัติการทำงานในอดีตของ “ชัชชาติ” และภาพหลายภาพของ “ชัชชาติ” ขึ้นมาโจมตี เช่นภาพที่เคยถ่ายร่วมกับอดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านมาตรา 112 ที่ปัจจุบันต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ

และยังมีกรณี ขุดเรื่องสมัยเป็นรมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อนุมัติให้เปิดสายการบินเอกชนประมาณ 40 สายการบินในระยะเวลาเพียงปีเดียว เป็นผลให้ ICAO ปักธงแดง ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน 

ขณะเดียวกัน บางกลุ่มก็เปิดหน้า ไม่ได้แค่เล่นงาน “ชัชชาติ” ในโซเชียลมีเดีย แต่ใช้วิธี “เดินสายยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ” กันเลยทีเดียว เช่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา “อรรถสิทธิ์ กาญจนโอภาษ” ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบ “ชัชชาติ” สมัยเป็น “วิศวกรที่ปรึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เกี่ยวกับการประเมินมูลค่า “โครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และการประเมินมูลค่าความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิ”

โดยผู้ยื่นเรื่องอ้างว่า “ชัชชาติ” มีเจตนาคำนวณมูลค่าโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ให้ร้านค้า “ต่ำกว่าความเป็นจริง” เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนหรือดำเนินการในกิจกรรมของรัฐ พ.ศ. 2535 และการประมูลค่าความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ ในสนามบินสุวรรณภูมิ สูงกว่ามติคณะรัฐมนตรีหลายเท่าตัว เพื่อให้ประโยชน์ตกแก่ผู้ประกอบการ จึงขอให้กมธ.ฯพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย

เรียกได้ว่า เข้าถึงโค้งสุดท้าย การหาเสียงก็เข้มข้นขึ้น การทำให้ “ชัชชาติ” ถูกตั้งคำถามเรื่องประวัติการทำงานในอดีต “กลุ่มที่ไม่เอาชัชชาติ” หรือ “คู่แข่งการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เปิดหน้าออกมา” คงมองว่า เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะทำให้ “ชัชชาติ” อาจร่วงได้ในช่วงโค้งสุดท้าย หากคนกทม.เริ่มตั้งคำถามกับชัชชาติว่า “ของจริง” หรือ “ของปลอม”

ที่ “ชัชชาติ” และทีมงานหาเสียง ก็รู้อยู่แล้วว่า ต้องโดนขุดเรื่องในอดีตขึ้นมาดิสเครดิต จึงมีการไล่ชี้แจงแต่ละเรื่องโดยเร็ว เช่น “ชัชชาติ” ออกมายืนยันว่า อนุมัติเปิดสายการบินตามมาตรฐาน มีกรรมการพิจารณาคุณสมบัติผู้ขออนุญาต ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ อธิบดีกรมการบินพลเรือน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คน แล้วก็นำเสนอให้รัฐมนตรีอนุมัติ

ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ขั้นตอนต่างๆ ทำครบ จนมีการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ หรือ (Air Operating License : AOL) ที่ระบุคุณสมบัติต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ เช่น แจ้งเรื่องทุนจดทะเบียน-ผู้ถือหุ้นเป็นใคร มีเส้นทางหลักและรองอย่างไร-การรับผิดชอบต่อผู้โดยสาร โดยหากเป็นไปตามคุณสมบัติและระเบียบทั้งหมด รัฐมนตรีก็ต้องอนุมัติ ถ้าเป็นอย่างอื่นก็จะมีความผิดได้ ซึ่งในส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน ICAO เพราะกรณีของ ICAO มาเกิดเหตุขึ้นหลังจากพ้นตำแหน่ง “รมว.คมนาคม” ไปแล้ว

“เป็นเรื่องธรรมดา ประชาชนต้องสร้างภูมิคุ้มกัน จากการปล่อยข่าวลือที่มีจำนวนมาก ถ้าไม่สามารถไปกำจัดที่ต้นตอได้ ก็หวังว่าประชาชนจะมีภูมิคุ้มกัน และที่ผ่านมา ประชาชนก็มีภูมิคุ้มกันเยอะขึ้นจากไอโอต่างๆ ที่ออกมาก็ไม่มีผลอะไรมาก จึงขอย้ำฝากประชาชนว่าอะไรที่ไม่แน่ใจก็อย่าส่งต่อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหล่านี้” ชัชชาติระบุเมื่อกลางสัปดาห์ หลังมีการขุดเรื่องการทำงานในอดีต ตั้งแต่สมัยเป็นอาจารย์และผู้บริหารอยู่ที่จุฬาฯ เรื่อยมาจนถึงตอนเป็นรมว.คมนาคม ตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จะพบว่า “ชัชชาติ” ที่เคยอยู่ “เพื่อไทย” มาก่อน ก็รู้ดีว่า กระแสคนกทม.ในเรื่องการเลือกตั้ง เป็นที่รู้กันดีว่า คนกทม.จำนวนมาก ที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนไหนแบบแฟนพันธุ์แท้ คนกลุ่มนี้ เวลามีการเลือกตั้ง จะตัดสินใจกันตอนช่วงเจ็ดวันสุดท้าย บางคนก็เรียกได้ว่า ตัดสินใจกันเอาตอนวันออกไปใช้สิทธิ์กันเลย ก็มีจำนวนไม่น้อย และจำนวนมาก ก็จะเลือก “ตามกระแส” ที่มาแรงในช่วงโค้งสุดท้าย หรือคำชักชวน การให้ข้อมูลจากเพื่อนร่วมงาน-เครือญาติ-คนใกล้ที่พัก

ดังนั้น “สัปดาห์สุดท้าย” ของการหาเสียง จึงสำคัญมาก

คนจึงมองกันว่า ดูแล้ว “ชัชชาติ” กระแสยังแรงอยู่ เป็นเต็งหนึ่งแบบไม่ต้องสงสัย ขอเพียงให้ “ชัชชาติ” ประคองตัวไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ให้มีเรื่องที่ผิดพลาดเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้าย และต้องเคลียร์ทุกปมที่ถูกโจมตีให้ได้ ตลอดจนก็ต้องไม่ประมาท ต้องเร่งหาเสียงอย่างหนัก มันก็มีโอกาสไม่น้อยที่ “ชัชชาติ” จะคว้าชัยได้  

   

กระนั้น หากจะถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่จะเกิดปรากฏการณ์ ล็อคถล่ม-ชัชชาติแพ้ ก็ต้องยอมรับว่า ก็มีโอกาสเช่นกัน มันก็เกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีเงื่่อนไขหลายอย่างมาเกื้อหนุน เช่น กลุ่มประชาชนที่ไม่เอาชัชชาติ-เพื่อไทย จะต้องรวมเสียง สร้างกระแส ในการออกเสียงที่เรียกกันว่า “โหวตเพื่อยุทธศาสตร์” คือ โหวตเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. คนใดคนหนึ่ง ระหว่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์สกลธี ภัททิยกุลรสนา โตสิตระกูล

ที่จะพบว่าตอนนี้ เริ่มมีการสร้างกระแส “ให้เลือก คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวไปเลย เสียงจะได้ไม่แตก”

เพื่อที่ทำให้มีโอกาสที่จะเบียดสู้ “ชัชชาติ” ได้ เพราะฝ่ายชัชชาติเอง ดูแล้วก็มีโอกาสสูงที่จะถูก “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จากพรรคก้าวไกลและ “น.ต.ศิธา ทิวารี” จากพรรคไทยสร้างไทย มาตัดคะแนนของตัวเอง…หลายแสนคะแนน

อย่างไรก็ตาม ก็พบว่า การสร้างกระแส “โหวตเพื่อยุทธศาสตร์-สกัดชัชชาติ-ต้านเพื่อไทยยึดกทม.” พบว่า ไม่ค่อยมีกระแสตอบรับมากนัก เพราะขนาดประชาชนที่เชียร์รัฐบาล ไม่เอาเพื่อไทยและทักษิณ พบว่าก็มีจำนวนไม่น้อยมองว่า ชัชชาติน่าจะมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง และเป็นนักบริหารมาก่อน น่าจะเข้าไปทำงานในกทม.ได้ดี ควรให้โอกาสเข้าไปทำงาน เลยบอกกันว่า แม้ต่อให้เชียร์รัฐบาล ไม่ชอบเพื่อไทย แต่ยังไงก็ขอเลือกชัชชาติ ไปแก้ปัญหากทม.ไว้ก่อน

อีกทั้งฝ่ายผู้สมัครทั้งสี่คน “พล.ต.อ.อัศวิน-สุชัชวีร์-สกลธี-รสนา” ก็ไม่เล่นด้วยกับกระแสโหวตเพื่อยุทธศาสตร์ เพราะในเมื่อลงสมัครแล้ว ก็ต้องมั่นใจในเสียงของตัวเอง เรื่องอะไร จะมายอมในช่วงโค้งสุดท้าย

จึงทำให้ กระแสโหวตเลือกคนๆ เดียว-สกัดชัชชาติ ดูแล้ว…ปลุกไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ 

จึงยิ่งเข้าทาง “ชัชชาติ” ที่ล่าสุด ผลโพลบางสำนักในช่วงโค้งสุดท้าย ที่เปิดเผยออกมา คะแนนของชัชชาติ ก็ยังนำโด่ง

เช่น เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “สนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. 65 รอบที่ 3” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,354 หน่วยตัวอย่าง พบว่า…

อันดับ 1 ร้อยละ 45.13 คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อันดับ 2 ร้อยละ 11.37 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

อันดับ 3 ร้อยละ 9.75 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล

อันดับ 4 ร้อยละ 9.23 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ เพราะขอดูการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครก่อน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังหาคนที่จะทำตามนโยบายให้ชัดเจนไม่ได้

อันดับ 5 ร้อยละ 8.94 ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

เช่นเดียวกับเมื่อ วันที่ 11 พ.ค. 2565 สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชนต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. จากกลุ่มตัวอย่าง 1,038 คน เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 702 คน และเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 336 คน ผลออกมาดังนี้…

อันดับหนึ่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 42.4%-ยังไม่ได้ตัดสินใจ 18.2%-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 12.0%-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 6.7%-วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 5.7%-สกลธี ภัททิยกุล 5.7%-รสนา โตสิตระกูล 2.7%

เรียกได้ว่า ช่วงก่อนเข้าโค้งสุดท้าย “ชัชชาติ” ยังเต็งหนึ่งอยู่ เสียงดี แรงไม่มีตก แต่สุดท้าย จะล็อกถล่ม หรือไม่ รอลุ้นกันคืนวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.นี้

………………………………………

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img