หลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ที่เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ 22 พ.ค. เรื่อยไปเป็นเวลาสี่เดือน โดยจะไปปิดสมัยประชุมวันที่ 18 ก.ย.2565
พบว่า เปิดสภาฯมาได้แค่วันเดียว ทางสภาฯและวุฒิสภา ก็มีการนัดประชุมกันในสัปดาห์แรกนี้เลย เรียกได้ว่า แสดงความฟิตให้เห็นกันว่า ทั้งส.ส.และสว. ต่างพร้อมจะทำงานให้คุ้มกับภาษีประชาชน
และแน่นอนว่า เมื่อสภาฯเปิดแล้ว การเมืองในรัฐสภา จะกลับมาร้อนแรงตามฤดูกาลอีกครั้ง โดยเฉพาะในสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ ที่กินเวลาสี่เดือน ช่วงสี่เดือนต่อจากนี้ หลายคนต่างจับตามองมากเป็นพิเศษว่า “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะรอดหรือไม่รอด กับศึกหนักสองปมที่รออยู่คือ…
1.ศึกที่เกิดขึ้นในสภาฯ นั่นก็คือ ศึกซักฟอก การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
2.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีวาระนายกฯแปดปี ที่ฝ่ายค้านจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหลัง 24 ส.ค.2565
ที่พบว่า ตามปฏิทินการเมืองที่เปิดเผยออกมา มีแนวโน้มว่า ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จากเดิมตอนแรกบอกจะยื่นตั้งแต่เปิดสภาฯวันแรก 23 พ.ค.เพื่อป้องกันไม่ให้ “บิ๊กตู่” ยุบสภาฯหนีศึกซักฟอก ต่อมาก็บอกว่า จะยื่นช่วงมิ.ย.
แต่ล่าสุดแนวโน้มจะยื่นหลังกฎหมายลูกสองฉบับที่แก้ไขรองรับการเลือกตั้งคือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.บ.พรรคการเมือง ประกาศใช้ ที่คาดกันว่า น่าจะเป็นช่วงต้นเดือนส.ค. เพื่อให้อภิปรายก่อนวันที่ 24 ส.ค. ซึ่งทุกอย่าง ฝ่ายค้านคงต้องพิจารณาไทม์ไลน์อย่างรอบด้าน เพื่อชิงจังหวะการเมืองให้เข้าทางตัวเองมากที่สุด
เมื่อดูตามนี้ หลังเปิดสภาฯมาแล้ว การเมืองในสภาฯ และนอกรัฐสภา อุณหภูมิการเมืองรับรองได้ว่า ร้อนแรงแน่นอน เพราะเป็นสมัยประชุมที่มีเรื่องสำคัญ-กฎหมายสำคัญหลายฉบับ รอการพิจารณาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคิวแรกเลยก็คือ “การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท” ที่จะเข้าสภาฯ วาระแรก ช่วง 31 พ.ค.ถึง 2 มิ.ย.นี้
และช่วงกลางเดือน มิ.ย. ก็จะถึงคิวการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และพ.ร.บ.พรรคการเมือง วาระสอง ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะต้องพิจารณาเรียงรายมาตรา
จุดที่น่าจับตาก็คือ ในตัวร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ยังมีหลายประเด็นที่กรรมาธิการเองรวมถึงส.ส.-สว. ต่างก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันหลายเรื่อง ไม่ได้ตกผลึกไปในทางเดียวกันหมด แม้ต่อให้ทางกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ จะเคาะออกมาแล้ว
เช่นเรื่อง สูตรคำนวณสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับหลังเลือกตั้ง ที่กรรมาธิการเคาะให้ใช้สูตรเอา 100 หาร เพราะเริ่มพบว่า สว.บางส่วน กำลังเคลื่อนไหวเพื่อเช็คกระแสว่า จะสามารถพลิกเกม ล้มเรื่่องสูตร 100 ในวาระสองได้หรือไม่
แต่เบื้องต้น สว.บางส่วน เช็คเสียงดูแล้ว พบว่า มีปัญหา เพราะเสียงสนับสนุนจากฝ่ายสว.แม้จะสามารถรวมเสียงกันได้ระดับไม่ต่ำกว่า 200 เสียง แต่ฝ่ายส.ส.พบว่าพรรคใหญ่-กลาง เช่น พลังประชารัฐ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา จับมือกันแน่นให้เอาสูตร 100 หาร เลยทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อล้มสูตร 100 หาร ในวาระสอง น่าจะทำได้ยาก หากพรรคการเมืองไม่เอาด้วย อย่างไรก็ตาม ของแบบนี้ ต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีอะไรพลิกผันเกิดขึ้นก็ได้ แม้จะยากก็ตามที
นอกจากนี้ก็ยังมีกฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับที่รอผลักดันให้ออกมาประกาศใช้ให้ทันในสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ เช่น “ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ” ที่เป็นกฎหมายแม่ที่สำคัญที่สุดของวงการตำรวจ ที่ข่าวว่า กรรมาธิการของรัฐสภา เสียงแตกในหลายประเด็น เช่นเรื่อง “โครงสร้างของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” (ก.ตร.) ที่เป็นบอร์ดอรหันต์ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กตำรวจระดับนายพลทั่วประเทศ
ท่ามกลางข่าวว่า มีการงัดข้อ-ประลองกำลังกันหลายยก ของกรรมาธิการจากฝ่ายต่างๆ ในการแก้ไขกฎหมายตำรวจ ฉบับนี้ จนมีการคาดการกันว่า ยามเมื่อที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ คงใช้เวลาอภิปรายถกเถียงกันอย่างน้อยสองวันหรือสามวัน
แต่ว่าระยะใกล้สุด หลังเปิดสภาฯมา วาระที่ต้องจับตาก็คือ “การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ฯ 2566” ในวาระแรก เพราะขนาดครม.ยังไม่ส่งร่างฉบับเต็มของร่างพ.ร.บ.งบฯ ไปให้สภาฯ เพื่อให้ส.ส.ได้ศึกษาก่อนถึงวันประชุมฯสัปดาห์หน้าที่จะประชุมกันสามวัน 31 พ.ค.-2 มิ.ย. แต่พบว่า ฝ่ายค้านมีการออกมาโหมโรงแล้วว่า จะใช้เวทีสภาฯ “ชำแหละ-จัดหนัก” รัฐบาลในเรื่องการจัดสรรงบฯรอบนี้อย่างหนักแน่นอน
โดยเฉพาะพวกงบในกระทรวงที่จะอภิปรายไปถึงแกนนำรัฐบาลแต่ละกระทรวงได้ ซึ่งหลักๆ ก็มีอาทิเช่น “งบกระทรวงกลาโหม” ที่พล.อ.ประยุทธ์ นั่งควบนายกฯ-รมว.กลาโหม ยังไง…โดนอภิปรายหนักแน่นอน
เพราะตอนนี้ ฝ่ายค้านนำร่องมาแล้วว่าจะอภิปรายงบบางรายการของแต่ละกองทัพ เช่นที่ฉายหนังตัวอย่างออกมาแล้วก็คือ “งบของกองทัพอากาศ” ที่ตั้งงบอนุมัติ “งบซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่จำนวน 4 ลำ วงเงินกว่า 13,800 ล้านบาท” ซึ่งเป็นงบผูกพันงบประมาณปี 2566-2569
ที่แน่นอนว่า การอภิปรายงบกลาโหมอย่างหนัก ก็เพราะฝ่ายค้านหวังใช้เวทีนี้ ลากโยงไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะรมว.กลาโหมนั่นเอง
ลำพังแค่นี้ก็เห็นชัด เปิดสภาฯมาได้สัปดาห์เดียว “รัฐบาล-พล.อ.ประยุทธ์” ก็มีศึกหนัก…รออยู่แล้ว กับศึกอภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ที่เป็น “เวทีซ้อมย่อย” ของฝ่ายค้าน ก่อนถึงศึกซักฟอกกลางปีนี้ นั่นเอง
………………….
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย.. พระจันทร์เสี้ยว