วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเช็คบิล-เตรียมอัปเปหิ โหวตแตกแถว “งูเห่าเพื่อไทย”หมดหรือยัง?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เช็คบิล-เตรียมอัปเปหิ โหวตแตกแถว “งูเห่าเพื่อไทย”หมดหรือยัง?

ควันหลงหลังจบศึกอภิปรายร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลที่ออกมากลายเป็นการสวิงกลับ…ทางการเมือง เพราะเดิมทีคิดกันว่า ฝ่ายรัฐบาล แม้จะเข็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ให้ผ่านสภาฯวาระแรกไปได้ แต่ก็น่าจะมีเสียเหงื่อในการวิ่งล็อบบี้ขอเสียงสนับสนุนจาก พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะส.ส.สายพรรคเล็ก จนถึงขั้นอาจต้อง “แจกกล้วย” เพื่อ “ขอเสียงหนุน”

แต่กลายเป็นว่า ผลการออกเสียงลงมติร่างพ.ร.บ.งบฯ 2566 ที่ผ่านมา ซึ่ง ที่ประชุมสภาฯลงมติเห็นชอบรับหลักการ 278-ไม่รับหลักการ 194 เท่ากับว่าเสียงเห็นชอบ ที่ก็คือมาอยู่กับฝ่ายรัฐบาล มีมากกว่าฝ่ายค้าน ที่ไม่รับหลักกัน โดยห่างกันถึง 84 เสียง

ที่สำคัญ ปรากฏว่า ระหว่างการประชุมสภาฯกันสามวันสามคืน ก็ไม่ได้มีร่องรอยเรื่องแกนนำรัฐบาลต้องถกเครียด เพราะเกรงเสียงหนุนจะปริ่มน้ำออกมาให้เห็น

อาจจะมีบ้างที่แกนนำกลุ่มพรรคเล็กอย่างกลุ่ม 16 มีการไปติดต่อขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภา เพื่อขอกันตรงๆ กับ “เก้าอี้กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 66” ที่สุดท้าย ก็ได้หนึ่งเก้าอี้เท่าที่เห็น คือ “พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยรักธรรม ที่ได้เป็นกรรมาธิการงบฯโควต้าคณะรัฐมนตรี เรียกว่า “กล้าขอ” ทางฝ่าย “บิ๊กตู่ก็กล้าให้”

ผลการลงมติที่ออกมา แม้โดยบริบทการเมือง การโหวตผ่านร่างพ.ร.บ.งบฯ จะแตกต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็เชื่อว่า คะแนนเสียงที่ออกมา ย่อมทำให้พล.อ.ประยุทธ์ มีความมั่นใจมากขึ้น ว่าจะสามารถฝ่าด่านศึกซักฟอกที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติ 15 มิ.ย.นี้ไปได้

แม้รู้ดีว่า การต่อรองทางการเมืองต่างๆ ในช่วงศึกซักฟอก จะหนักหนากว่า ตอนพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯมากมายนัก เพื่อแลกกับการที่จะต้องได้รับเสียงไว้วางใจ มากกว่าไม่ไว้วางใจ

เพราะหากเสียงโหวตไว้วางใจน้อยกว่า ก็เสี่ยงจะ “หลุดจากตำแหน่ง-เก้าอี้นายกฯกระเด็นกลางสภาฯ”

ยิ่งเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็เรียกได้ว่า อยู่ในสภาพ เหลือไพ่ในมือไม่มากแล้ว เพราะยุบสภาไม่ได้ ดังนั้น จะทำให้ ส.ส.พรรคเล็ก และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล แม้แต่กับ “พลังประชารัฐ” เอง รวมถึง “พรรคเศรษฐกิจไทย” ของ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” จะมีอำนาจมากขึ้นในการเจรจาต่อรองทางการเมืองกับพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอม ก็อาจเสี่ยงกับการถูกโหวตคว่ำกลางสภาฯเอาได้

ดังนั้น ศึกอภิปรายงบฯที่ผ่านไป จึงไม่ใช่ศึกหนัก-ศึกใหญ่ของพล.อ.ประยุทธ์ เพราะยังไง ร่างพ.ร.บ.งบฯ ทางการเมืองก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า ผ่านชัวร์-คว่ำยาก แต่สำหรับศึกซักฟอก แม้เสียงส.ส.รัฐบาลจะมากกว่าฝ่ายค้านเยอะ แต่การจะได้เสียงโหวตไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลงมาเคลื่อนด้วยตัวเอง เพื่อขอเสียงโหวตไว้วางใจ ที่ต้องขยับมากกว่าตอนโหวตพ.ร.บ.งบฯหลายเท่า

ไม่เช่นนั้น หากพลาดมา ก็เตรียมโบกมือลา เก้าอี้นายกฯได้เลย

เอาเป็นว่า ศึกอภิปรายงบฯ รัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ กำชัยชนะแบบลอยลำ ขณะที่เมื่อไปดูฝ่ายค้าน ที่ก่อนหน้านี้ ออกมาขู่ว่า นายกฯอาจต้องยุบสภาฯ เพราะร่างพ.ร.บ.งบฯจะโดนคว่ำกลางสภาฯ แต่เมื่อผลออกมาอย่างที่เห็น จึงเท่ากับฝ่ายค้านเหลือความหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์หลุดจากเก้าอี้หรือยุบสภาฯ ก็เหลืออีกแค่สองรอบเท่านั้น

เรื่องแรก ก็คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่หาก “พรรคเศรษฐกิจไทย” ของ “ธรรมนัส” และ “ส.ส.พรรคเล็ก” ไม่แตกแถว มันก็ยากที่จะล้มพล.อ.ประยุทธ์กลางสภาฯได้

เรื่องที่สอง ก็คือ การยื่นตีความให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมข้อกฎหมายเรื่อง วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯแปดปีของพล.อ.ประยุทธ์ ในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งช่วงหลังดูเหมือนว่าฝ่ายค้าน เสียงชักอ่อยลงในประเด็นนี้ เหมือนกับ มองว่าข้อกฎหมายยังเปิดช่องให้พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสจะได้ไปต่อหลังส.ค. เลยทำให้การโหมกระพือเรื่องนี้ไม่หนักแน่นเหมือนที่ผ่านมา

โดยเมื่อดูจากทั้งสองเรื่องแล้ว ฝ่ายค้านเอง หากถามความในใจกันแบบตรงๆ หลายคนในซีกฝ่ายค้าน ก็ยอมรับว่า มีโอกาสมากพอสมควร ที่พล.อ.ประยุทธ์จะฝ่าด่านทั้งสองด่านนี้ไปได้ จนไปถึงการจัดประชุมเอเปคเดือนพ.ย.และอาจอยู่ครบเทอมสี่ปีในเดือนมี.ค. ปีหน้าเลยก็ยังได้

จึงต้องดูว่า กลยุทธ์การเมืองต่างๆ ของฝ่ายค้านที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ หลังจากนี้ จะมีลำหักลำโค่นอะไรมาทำให้รัฐนาวาพลเอกประยุทธ์สั่นคลอนได้หรือไม่

แต่ระหว่างนี้ ทาง ฝ่ายค้าน-เพื่อไทย ต้องมาเคลียร์ปัญหาภายในพรรคกันก่อน หลังเกิดกรณี “7 ส.ส.งูเห่า เพื่อไทย” โหวตสวนมติพรรค ด้วยการไปลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 ที่ประกอบด้วย

นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี

นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ

นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ

นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก

นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ

นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก

นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา

จนทำให้ พรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีขึงขังจะลงโทษ 7 ส.ส.งูเห่าดังกล่าว ถึงขั้นอาจขับออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย เหมือนที่เคยทำก่อนหน้านี้ เมื่อช่วง ต.ค.2564 ที่เคยขับ “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” ส.ส.อุตรดิตถ์ เพราะไปพูดกล่าวร้ายให้พรรคเพื่อไทยในทางเสื่อมเสียกลางสภาฯ โดยปัจจุบัน “ศรัณย์วุฒิ” ไปเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และ “พรพิมล ธรรมสาร” ส.ส.ปทุมธานี เพราะโหวตสวนมติดพรรคเพื่อไทยอยู่เป็นประจำ จนปัจจุบัน “พรพิมล” ไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย

ซึ่งเรื่องดังกล่าว “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการจริยธรรม พรรคเพื่อไทย“บอกว่า จะมีมาตรการอะไรบางอย่างออกมาดำเนินการกับทั้ง 7คน จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบจริยธรรมทั้ง 7คน เพื่อลงมติขับออกจากพรรค

แต่ก่อนจะมีลงมติขับ ก็มีข่าวว่า คนในพรรคเพื่อไทยมีการสั่งการให้ส.ส.ในพรรคร่วมกัน “แอนตี้งูเห่าทั้ง 7 ชื่อ” เช่น กดดันให้ทั้งหมด ออกจากกลุ่มไลน์ทุกกลุ่มของเพื่อไทย หากไม่ออกก็ให้ดีดออกไป เพื่อไม่ให้รับรู้ความเคลื่อนไหวใดๆ ในพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ “นิยม ช่างพินิจ” ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย หนึ่งในเจ็ดงูเห่าเพื่อไทย ยอมรับตรงๆ ว่า จะย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งรอบหน้า และที่โหวตรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบฯ ก็เพราะไม่เห็นด้วยกับมติพรรคให้โหวตไม่รับหลักการ เพราะเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชน

สิ่งที่น่าติดตามต่อไปก็คือ แล้ว “งูเห่าในพรรคเพื่อไทย” หมดหรือยัง? ยังมี “ชื่ออื่น” นอกเหนือจากนี้หรือไม่?

เพราะที่ผ่านมา บางรายชื่อใน “7 งูเห่า” ว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ทางการเมืองมากนัก เพราะรู้มานานนับปีแล้วว่าบางคนจะย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยแน่นอน

อย่างเช่นรายของ “จักรพรรดิ ไชยสาส์น” ส.ส.อุดรธานี ที่เป็นน้องชาย “ต่อพงษ์ ไชยสาส์น” อดีตส.ส.อุดรธานี อดีตรมช.สาธารณสุข ที่ออกจากเพื่อไทยไปร่วมก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย กับ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” มาร่วมปีกว่าแล้ว และที่ผ่านมา ทั้ง “ต่อพงษ์” และ “จักรพรรดิ” ก็ทำพื้นที่ในเขตเลือกตั้งที่อุดรธานี ในนาม “ไทยสร้างไทย” มานานแล้ว

เพียงแต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ในความเป็นจริง “จักรพรรดิ” ยังไม่จำเป็นต้องโหวตสวนมติพรรคก็ได้ เพราะพรรคไทยสร้างไทย ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ยังไม่มีส.ส.ในสภาฯ หากจะประคองตัว โหวตตามมติพรรค แล้วพอมีการเลือกตั้งก็ค่อยออกจากพรรคเพื่อไทยไป ก็สามารถทำได้

ก็เหมือนกับอีกบางคนในเพื่อไทย ที่ก็รู้กันดีว่า ยังไงก็ย้ายพรรคแน่นอน เช่น “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” และ “การุณ โหสกุล” สองส.ส.กทม.เพื่อไทย ที่จะไปอยู่กับ “พรรคไทยสร้างไทย” ของ “เจ๊หน่อย” แน่นอน ก็พบว่า ก็ไม่ได้โหวตลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบฯแต่อย่างใด หรืออาจจะเพราะ “จักรพรรดิ” ต้องการให้ “เพื่อไทย” ขับตนเองออกจากพรรคไปเลย เพื่อจะได้ย้ายเข้าไ “ทยสร้างไทย” อย่างเป็นทางการและเร็วขึ้น จะได้ทำพื้นที่แบบเปิดตัวชัดเจนไปแล้ว อีกทั้งทำให้ “พรรคไทยสร้างไทย” จะได้มีส.ส.ในสภาฯ บ้างสักคน

เช่นเดียวกับอีกบางคนเช่น “จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์-ธีระ ไตรสรณกุล-ผ่องศรี แซ่จึง” ที่เป็น 3 ส.ส.ศรีสะเกษ ก็เปิดตัวมานานแล้วว่าจะย้ายไป “ภูมิใจไทย” โดยมีการขึ้นเวทีพรรคภูมิใจไทยมาแล้วเมื่อช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และในรายชื่อกมธ.งบฯ ของพรรคภูมิใจไทย ก็มีชื่อ “ปวีณ แซ่จึง” อดีตส.ส.ศรีษะเกษ สามีของผ่องศรี ร่วมเป็นกมธ.งบฯด้วย รวมถึง “สุชาติ ภิญโญ” ส.ส.นครราชสีมา ก็มีกระแสข่าวมานานแล้วว่า จะย้ายไปภูมิใจไทยในการเลือกตั้งรอบหน้า

แต่ชื่อที่โผล่มาแบบหลายคนในเพื่อไทย ก็ยังงงกันหมด เพราะไม่เคยมีข่าวมาก่อนว่า จะย้ายออกจากเพื่อไทยไปภูมิใจไทย ก็คือ “นิยม ช่างพินิจ” ส.ส.พิษณุโลก เพราะที่ผ่านมา ก็เห็นออกมาให้สัมภาษณ์ตำหนิรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง และไม่เคยมีข่าวว่าถูกแกนนำพรรคภูมิใจไทยตามจีบให้ย้ายพรรค ดังนั้น พอ “7 งูเห่า” มีชื่อ “นิยม” รวมอยู่ด้วย จึงเป็นเซอร์ไพร์สทางการเมืองกับคนในเพื่อไทยเกือบทั้งพรรค

ส่วนที่หลายคนตั้งคำถามกันว่า จะมีงูเห่าในพรรคเพื่อไทย นอกเหนือจากนี้หรือไม่?

พบว่า แกนนำเพื่อไทย ดูจะมั่นใจว่าไม่น่าจะมีอีกแล้ว แม้จะมีข่าวว่ายังจะมีส.ส.เพื่อไทยอีกหลายคน จะย้ายออกจากพรรคไป เช่น “สรัสนันท์ อรรณนพพร” และ “บัลลังก์ อรรณนพพร” ที่จะย้ายไปอยู่ไทยสร้างไทย ตาม “พงษกร อรรณนพพร” เพราะ “สรัสนันท์” เป็นลูกสาว ส่วน “บัลลังก์” เป็นน้องชาย

หรืออีกบางชื่อเช่น “ชัยยันต์ ผลสุวรรณ์” ส.ส.ปทุมธานี ที่มีข่าวว่าจะย้ายไปภูมิใจไทย และยังมีเช่น “พรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์” ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีข่าวจะย้ายไปพรรคเศรษฐกิจไทย แล้วก็ยังมี “อนุดิษฐ์-เก่ง การุณ” เป็นต้น

แต่แกนนำเพื่อไทยก็มองว่า ชื่อคนที่จะย้ายออกจากเพื่อไทยเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็พร้อมจะลงมติในเรื่องสำคัญๆ ตามแนวทางพรรค คงไม่คิดจะโหวตสวน โดยเฉพาะในช่วงศึกซักฟอกอภิปรายพล.อ.ประยุทธ์ เลยทำให้ เพื่อไทยดูจะเชื่อว่า นอกจาก 7 งูเห่าที่โหวตสวนไปรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบฯ คงจะไม่มีงูเห่า หน้าแปลกๆ ชื่อใหม่ๆ โผล่มาอีก

อย่างไรก็ตาม ของแบบนี้ มันก็ไม่แน่ เพราะบางคนที่คิดจะย้ายออกจากพรรคเพื่อไทย หากเห็นว่าสภาฯ ก็ใกล้จะครบวาระแล้ว และถึงโหวตสวนมติพรรค แล้วโดนขับออก ก็สามารถไปอยู่พรรคใหม่ที่คุยกันไว้แล้วได้ ไม่ต้องมีเลือกตั้งซ่อม ผนวกกับหากพรรคใหม่ที่จะไปอยู่ด้วยเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล แล้วมีข้อเสนอดีๆ ให้ ในการโหวตนัดสำคัญเช่นศึกซักฟอก ด้วยการให้โหวตไว้วางใจฝ่ายรัฐบาล ก็ไม่แน่ ส.ส.เพื่อไทย ที่จะย้ายพรรคแต่ยัง หลบซ่อนตัวอยู่ ยังไม่เคยมีชื่อปรากฏว่าจะย้ายพรรค อาจโผล่ออกมาเป็นงูเห่า ชื่อใหม่ ให้เห็น ในช่วงศึกซักฟอก ก็ได้ 

…………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย….“พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img