น่าติดตามว่านับจากนี้ การนัดเคลื่อนไหวทำกิจกรรมการเมืองแบบนัดรวมตัวในโอกาสต่างๆ ที่เรียกกันในทางการเมืองว่า “ม็อบการเมือง” จะเกิดขึ้นแบบถี่ยิบหรือไม่ ?
เพราะดูเหมือนสถานการณ์ต่างๆ จะเอื้ออำนวยให้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องสถานการณ์โควิดในประเทศที่คลี่คลายลงอย่างมาก จนรัฐบาลให้เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเรื่องความสมัครใจ และปัจจุบันคนก็แทบจะไม่สนใจเรื่องสถานการณ์โควิดแล้ว ทำให้การจัดตั้งม็อบเลยไม่ต้องมากังวลเรื่องโควิดเหมือนเดิม
ยิ่งล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯกทม. ก็ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง “สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ” ที่มีด้วยกัน 7 จุดทั้งในกรุงเทพมหานคร อาทิเช่น ลานคนเมือง เขตพระนคร-ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง-ใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร-ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง-ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี-ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เป็นต้น
ที่หมายถึงว่า หากจะมีการนัดชุมนุมการเมือง ทำกิจกรรมต่างๆ ก็สามารถยื่นเรื่องต่อสำนักงานเขต เพื่อขอใช้พื้นที่ได้ โดยกทม.ก็พร้อมจะอำนวยความสะดวก เช่น รถสุขากทม. เป็นต้น
ซึ่งแม้ “ชัชชาติ” จะไม่ตอบสนองสิ่งที่ม็อบบางกลุ่มโดยเฉพาะ “ม็อบสามนิ้ว” ที่ต้องการอยากให้ “สนามหลวง” กลับมาเป็นที่ชุมนุมการเมืองได้ แต่เบื้องต้น ก็คาดว่าเครือข่ายม็อบต่างๆ โดยเฉพาะม็อบฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ก็น่าจะพอใจในสิ่งที่ “ชัชชาติ…จัดให้”
ขณะเดียวกัน ท่าทีของ “เพื่อไทย” ก็ดูจะรวดเร็วไม่น้อย หลัง “ชัชชาติ” จัดให้มีพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ ที่หมายถึงว่า จะทำให้การนัดเคลื่อนไหวการเมืองหลังจากนี้ มีแนวโน้มจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเรื่องของกฎหมายใหญ่คือ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่ออกมาช่วงโควิดระบาดหนักปี 2563 ที่ยังไม่ได้ยกเลิกเรื่อง “การชุมนุมทางการเมือง” ที่หมายถึง…หากมีการนัดเคลื่อนไหวชุมนุมการเมือง โดยเฉพาะในบางพื้นที่ ซึ่งกลุ่มม็อบออกไปจัดนอกสถานที่ซึ่งกทม.จัดไว้ให้ เช่น สามเหลี่ยมดินแดง ก็อาจถูกเอาผิดตามพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯได้
ทาง “เพื่อไทย” เลยไม่รอช้า ใช้จังหวะนี้ “เกาะกระแส” เรื่องที่ประชาชนจะออกมาเคลื่อนไหวการเมือง โดยมีพื้นที่รองรับ ด้วยการออกแถลงการณ์ในนามพรรคเพื่อไทย
อันเป็นแถลงการณ์ที่ออกมาคล้อยหลัง ประกาศชอง “ชัชชาติ” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทันที โดยมีข้อเรียกร้องโดยสรุปว่า…
“ประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 ต่อมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายและได้มีการผ่อนคลาย แต่สำหรับข้อห้ามในการชุมนุมทางการเมืองนั้น ยังคงไว้อยู่เช่นเดิม จึงทำให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดจำนวนมาก พรรคพท.เห็นว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทุเลาเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด นายกฯจึงต้องประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันทีตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย”
งานนี้เรียกได้ว่า ทั้ง “ชัชชาติ” และ “เพื่อไทย” ได้ใจ เครือข่ายจัดม็อบไปเต็มๆ ที่ก็ต้องดูว่า ฝ่ายรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะมีท่าทีในเรื่องนี้อย่างไร???
อย่างไรก็ตาม หากดูจากผลการเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ลานคนเมือง ที่มีการจัดกิจกรรมในโอกาสครบรอบ 90 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ที่ชื่อกิจกรรม “ฉลองวันชาติคณะราษฎรยังไม่ตาย” ซึ่งจัดโดยกลุ่มเครือข่ายที่ก็ต้องเรียกว่า “อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล” ซึ่งแม้การจัดงาน จะไม่ประสบความสำเร็จมากนักในเรื่อง “ปริมาณผู้มาร่วมชุมนุม” ผนวกกับ เจอปัญหาฝนตกอย่างหนัก จนทำให้ต้องยุติการจัดกิจกรรมก่อนเวลา ขณะเดียวกัน ประเด็นข้อเรียกร้อง ก็จะพบว่า ไม่ได้มุ่งหมายในเชิงกดดันการเมือง “รัฐบาลบิ๊กตู่” แต่อย่างใด เห็นได้จากข้อเรียกร้อง 6 ข้อที่ ประกอบด้วย 1.ฟื้นฟู เชิดชู วีรชน และประวัติศาสตร์ 2475 2.สถาปนา 24 มิถุนา เป็นวันชาติไทย 3.คืนหมุดคณะราษฎร และอนุเสาวรีย์ปราบกบฏ 4.ยกเลิกมาตรา 112 ปล่อยเพื่อนเรา เป็นต้น
การเคลื่อนไหวลักษณะเช่นนี้ พอผ่านวันศุกร์ที่ผ่านมาแล้ว ก็จบเลย ในทางการเมือง ไม่สามารถไปเคลื่อนไหวอะไรต่อเนื่องได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล และเป็นการจัดกิจกรรมที่มีข้อเรียกร้องเชิงนามธรรม
กระนั้นก็แลเห็นชัดว่า หลังจากนี้ เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย-กทม.เปิดพื้นที่ชุมนุมการเมือง โดยเฉพาะการให้ใช้พื้นที่ลานคนเมืองที่อยู่กลางใจเมืองและใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน จึงทำให้เป็นจุดที่นัดหมายทำกิจกรรมการเมืองได้ง่าย จึงมีการมองกันว่า หลังจากนี้การนัดหมายทำกิจกรรมการเมืองต่างๆ น่าจะกลับมาคึกคักมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประมวลดูแล้ว สถานการณ์ม็อบหลังจากนี้ โดยเฉพาะ “ม็อบสามนิ้ว-ม็อบไล่บิ๊กตู่” ไม่น่าจะกลับมาถึงจุดพีคแบบเดิม เหมือนเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น อายุของรัฐบาลและอายุของสภาฯชุดปัจจุบัน นับจากนี้หากไม่ยุบสภา ก็เหลือเวลาอีกแค่เต็มที่ 9 เดือนเท่านั้น ก็มีการเลือกตั้งใหญ่
อีกทั้งปัจจุบัน “ฝ่ายค้าน” ก็ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ไปแล้วโดยจะอภิปรายกันช่วงกลางเดือนก.ค. จึงทำให้หากจะจุดกระแสไล่รัฐบาล มันก็ไม่สามารถสร้างอารมณ์จากกองเชียร์ได้มากเหมือนอดีต เพราะอีกแค่ 9 เดือนก็มีการเลือกตั้งแล้ว มองดูแล้วอาจไม่คุ้มค่าเหนื่อย ที่มาไล่รัฐบาล สู้เอาเวลา-แรงกาย ไปรณรงค์ประเด็นอื่นดีกว่า ที่จะมาสร้างกระแสไล่ประยุทธ์
เอาง่ายๆ ว่า หากไปถามใจ คนในเพื่อไทย-ก้าวไกล ที่หนุนหลังและเชียร์ม็อบสามนิ้ว ถึงเรื่องการตั้งม็อบไล่ประยุทธ์ ก็เชื่อได้ว่า ส่วนใหญ่แกนนำทั้งสองพรรค ก็คงไม่อยากสนับสนุนเอาใจช่วยแบบเต็มที่…เหมือนก่อนหน้านี้
เพราะ “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ก็รู้ดีว่า อายุของสภา เหลืออีกไม่กี่เดือน แล้วไล่ยังไง “ประยุทธ์” ก็ไม่ไปอยู่แล้ว สู้เอาเวลา ไปเตรียมการเลือกตั้ง ลงพื้นที่หาเสียง ทำนโยบายพรรคสู้เลือกตั้งดีกว่า ที่จะมาช่วยเชียร์ม็อบไล่รัฐบาล ที่โอกาสสำเร็จมองแทบไม่เห็น
ตอนนี้ ลำพังแค่ “เพื่อไทย” รอลุ้นร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งฯกับร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้คลอดออกมาเร็วๆ และเนื้อหาออกมาตามที่ต้องการ ยังเหงื่อตก เพราะกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ล่าช้ากว่าที่ “เพื่อไทย” ประเมินไว้ร่วมเดือน ดังนั้นตอนนี้ “เพื่อไทย” จึงอยากให้มีการเลือกตั้งใหญ่โดยเร็วเป็นหลัก มากกว่าจะไปสนใจเรื่องอื่น
นอกจากนี้ การที่ “ม็อบสามนิ้ว” ดูแล้ว กลับมาพีคยาก อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะ “แกนนำระดับหัวแถว” ก็ยังติดเงื่อนไขประกันตัวของศาล ที่ส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัว โดยมีเงื่อนไขห้ามร่วมชุมนุมที่ทำให้เกิดเหตุวุ่นวาย อย่างเช่น “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์” แกนนำม็อบสามนิ้วตัวจริง ที่ถูกศาลสั่งห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือด้อยค่าต่อสถาบันและสถาบันศาลในทุกด้าน รวมถึงศาลยังสั่งห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ด้วยเหตุนี้เมื่อ “ม็อบไร้แกนนำ” ระดับที่จะเรียกมวลชนออกมาร่วมกิจกรรมได้จำนวนมาก การเคลื่อนไหวก็จะไม่มีพลังเหมือนเดิม การชุมนุมก็จะเป็นลักษณะแบบ จัดกิจกรรมไม่กี่ชั่วโมง แล้วก็แยกย้าย ไม่ได้สร้างอิมแพคทางการเมืองใด
รวมถึงอารมณ์ของประชาชนตอนนี้ ที่เจอกับเรื่อง “ปัญหาเศรษฐกิจ-ของแพง-ค่าครองชีพสูง” เลยทำให้ต้องดิ้นรนเรื่องปากท้องของตัวเอง คนเลยไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมการเมือง ที่จะไปร่วมเคลื่อนไหวอะไร สู้เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า
ทั้งหมด เลยทำให้คาดการณ์ดูแล้ว ถึงหลังจากนี้ จะเริ่มกลับมามีม็อบหรือมีการเคลื่อนไหวการเมืองอะไรต่างๆ แต่ก็น่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงประเด็นมากกว่าเช่น เรียกร้องแก้ไขมาตรา 112 หรือเรื่องเชิงสังคม เศรษฐกิจ
ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออกหรือยุบสภาฯ คงไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือถึงต่อให้เกิดขึ้น ก็จะไม่พีคแบบเดิม เพราะเงื่อนไข-อายุของรัฐบาลและอายุของสภาฯ ไม่เกื้อหนุนกัน จนทำให้ ถึงออกมาเคลื่อนไหว ก็จุดไม่ติด !!!!
………………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”