วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจับกระแส!! ปูดข่าว“ยุบสภาฯ” ปั่น“บิ๊กตู่”ไม่รอด ตีกัน“ศาลรธน.”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับกระแส!! ปูดข่าว“ยุบสภาฯ” ปั่น“บิ๊กตู่”ไม่รอด ตีกัน“ศาลรธน.”

เดิมทีฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พยายามสร้างกระแสออกมาตลอดช่วงนี้ว่า “บิ๊กตู่” ไม่รอด เตรียมกระเด็นจากเก้าอี้นายกฯแน่ จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินแปดปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน  8 ปีมิได้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่” 

และพบว่า ช่วงนี้ มีการเร่งโหมสร้างกระแส “บิ๊กตู่ไม่รอด” หนักมากขึ้นไปอีก หลังมีการเผยแพร่บันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ “กรธ.” ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน กรธ.

ที่ในบันทึกดังกล่าว มีการบันทึกเนื้อหาการพูดคุยในช่วงกรธ.กำลังประชุมกัน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ดังกล่าวว่า การนับจำนวนปีในการเป็นนายกรัฐมนตรี จะให้นับรวมไปถึงบุคคลที่เป็นนายกฯในช่วงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่กรธ.กำลังยกร่างกันหรือไม่ ซึ่งบทสนทนาของ “มีชัย” และ “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีตรองประธาน กรธ. ให้ความเห็นไปในทำนองว่า “ให้นับรวมด้วย” ที่ก็หมายถึง หากเป็นแบบนี้ จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯเกิน 23 ส.ค.นี้ไม่ได้ เพราะจะเป็นนายกฯครบแปดปีแล้ว เนื่องจากเป็นนายกฯรอบแรกเมื่อ 24 ส.ค.2557 และเป็นต่อเนื่องมาถึงสิงหาคม 2565 จึงเท่ากับแปดปี

ทำให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล เลยยิ่งโหมสร้างกระแสหนักว่า “พล.อ.ประยุทธ์ไม่รอด” จะต้องมีการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ บ้างก็ว่า ไม่แน่…หากพล.อ.ประยุทธ์ เช็คข่าววงในแล้ว โดยเฉพาะกับ อดีตกรธ.ที่ตัวเองเป็นคนเซ็นแต่งตั้งเองกับมือทั้ง 21 คน 

ถ้าประเมินแล้วว่าไม่รอด และไม่อยากให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ลือกันไปถึงขั้นที่ว่า อาจได้เห็นพล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะ “ยุบสภาฯ” ก่อนจะถึงวันศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดี 8 ปี เพราะการยุบสภาฯ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ มีสภาพการเป็นนายกฯรักษาการ ไปจนกว่าจะมีนายกฯคนใหม่ หลังเลือกตั้ง ที่ก็ใช้เวลาอย่างน้อยร่วมๆ สองเดือนเป็นอย่างต่ำ จนอาจสามารถลากยาวไปถึงช่วงประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมเอเปก เดือนพ.ย.ปีนี้ได้

เรียกได้ว่า ลือกันสารพัดในช่วงนี้ สำหรับอนาคตการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ โดยข่าวลือบางสูตร ก็อาจมีความเป็นไปได้ระดับหนึ่ง แต่บางสูตร…ดูแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี กระแสข่าวยุบสภาฯ คนพูดพบว่า มีตัวมีตนเหมือนกัน นั่นคือ “รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” นักวิชาการ จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์-อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ที่โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยระบุว่า มีเอกสารบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่าง และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน สอดคล้องกันว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสามารถนับรวมระยะเวลาก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้ ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ และไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไปหลังวันนั้น

“อย่างไรก็ตาม หากพล.อ.ประยุทธ์ต้องการดำรงตำแหน่งต่ออีกระยะ เขาก็สามารถทำได้ โดยการยุบสภา ก่อนวันที่ 23 ส.ค. เพราะรัฐธรรมนูญไม่นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อีก 3-4 เดือน ก่อนที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ชึ่งทำให้พล.อ.ประยุทธ์สามารถร่วมงานประชุมนานาชาติ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายนได้

ดูวิธีการคิดและตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมาแล้ว ผมคิดว่า หากพล.อ.ประยุทธ์รู้ว่าต้องพ้นจากตำแหน่งแน่นอน เขาคงไม่เลือกที่จากไปอย่างเงียบ ๆ แน่ ดังนั้น ผมคิดว่าพล.อ.ประยุทธ์มีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะยุบสภาก่อนวันที่ 23 ส.ค.นี้ ช่วงวันที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ วันที่ 19-22 ส.ค.” ดร.พิชาย จากนิด้า ระบุ

ที่น่าแปลกใจไม่น้อย ที่มีคนบางส่วน ก็เห็นคล้อยตามไปกับนักวิชาการจากนิด้าผู้นี้ ซึ่งพบว่า ก่อนหน้านี้ เขาก็คือ 1 ใน 99 คน ที่ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากนายกฯก่อนวันที่24 ส.ค. และที่ผ่านมา มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์หลายต่อหลายเรื่องมาตลอด 

กระนั้นก็ตาม พบว่า การจุดประเด็นพล.อ.ประยุทธ์จะชิงยุบสภาฯ แม้จะพูดถึงกันบ้าง แต่สำหรับนักการเมือง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน…กลับนิ่ง ไม่ได้ท่าทีอะไรออกมา

ที่อาจเพราะคงมองว่า น่าจะเป็นไปได้ยาก แม้แต่กับฝ่ายค้านอย่าง “พรรคเพื่อไทย” เอง ก็ไม่ได้ขานรับกับกระแสข่าวนี้แต่อย่างใด เพราะคงมองว่า มีความเป็นไปได้น้อย เพราะบริบทการเมืองหลายอย่าง…ไม่สอดรับ

ทั้งเรื่องรัฐบาลต้องผลักดันให้ร่างพ.ร.บ.งบฯ 2566 ผ่านการพิจารณาของสภาฯและวุฒิสภา ออกมาให้ทันภายในเดือนก.ย.-การต้องผ่านกฎหมายเลือกตั้งส.ส.และกฎหมายพรรคการเมือง ที่ยังเหลือขั้นตอนอีกพอสมควร เพราะพอผ่านในชั้นรัฐสภาแล้ว ยังต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคงมีการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องสูตร 100 หรือ 500 หารจากฝ่ายที่แพ้ อีกทั้งยังต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯลงมาอีก ที่ใช้เวลาพอสมควร

ผนวกกับรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องมีภารกิจอีกหลายอย่างที่ต้องทำ ซึ่งการทำในสภาพเป็นรัฐบาลปกติ ย่อมดีกว่าการเป็น “รัฐบาลรักษาการ”

เช่นการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ที่ยังเหลืออีกหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะบิ๊กข้าราชการ ในสามหน่วยหลักคือ “มหาดไทย-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-กองทัพ” ที่ยังไม่ได้เริ่มนำร่องแต่งตั้งทำบัญชีแต่อย่างใด

ผนวกกับ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ก็มั่นใจมาตลอดว่า จะรอดในคดี 8 ปีนายกฯ จนสามารถอยู่เป็นนายกฯในช่วงประชุมเอเปกได้ จึงทำให้หลายคนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่รอลุ้นฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะออกมา ดีกว่าจะเลือกใช้วิธี “ยุบสภา” ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้สะเด็ดน้ำ

ซึ่งจุดหนึ่งที่ทำให้มีการมองกันว่า พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่า จะรอดจากศาลรธน. ก็เพราะฝ่ายอดีตกรธ.หลายคนโดยเฉพาะ “สุพจน์ ไข่มุกด์” ก็ออกมายืนยืนว่า บันทึกการประชุมที่คนวิจารณ์กันดังกล่าว เป็นแค่การอภิปรายแสดงความเห็น เหมือนกับบันทึกการประชุมทั่วไป ที่มีการแสดงความเห็นกัน “ไม่ใช่มติของคณะกรรมาธิการ” ในการเขียนมาตรา 158 ดังกล่าว 

ผนวกกับมีการมองกันว่า พล.อ.ประยุทธ์เองก็รู้จักกับ “อดีตกรธ.ส่วนใหญ่” เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ที่เป็นทั้งอดีตที่ปรึกษาบอร์ดคสช. และเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้กับคสช. รวมถึงที่ “มีชัย” เข้าไปเป็นกรธ. ก็เป็นตัวพล.อ.ประยุทธ์ที่ติดต่อทาบทามและเซ็นตั้งให้เป็นประธาน กรธ.

คนจึงมองว่า ไม่แน่ “พล.อ.ประยุทธ์” คงได้มีการสอบถาม “มีชัย” เป็นการส่วนตัวตั้งนานแล้วว่า มาตรา 158 ดังกล่าว จะมีผลในทางบวกหรือทางลบกับพล.อ.ประยุทธ์-จะให้มีผลย้อนหลังไปถึงปี 2557 หรือไม่ รวมถึงคงพอรู้ว่า หากคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลมีหนังสือสอบถามความเห็น “มีชัย” ในฐานะประธานกรธ. ทาง “มีชัย” จะตอบศาลรธน.อย่างไร

จึงทำให้พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะรู้คำตอบเรื่องนี้นานแล้ว ว่าตัวเองจะได้เป็นนายกฯต่อ หรือจะต้องเตรียมเก็บของ…ออกจากตึกไทยคู่ฟ้า

สำคัญก็เพียงแต่ว่า ตุลาการศาลรธน.จะฟังและให้น้ำหนักกับ “มีชัย” มาก-น้อยแค่ไหน ยามเมื่อมีคำชี้แจง มีหนังสือตอบไปที่ศาลรธน. หากศาลรธน.มีหนังสือสอบถามความเห็นไป

เพราะหาก “มีชัย” ตอบศาลรัฐธรรมนูญ ในทางที่เป็นคุณกับพล.อ.ประยุทธ์ แล้วศาลรับฟังและให้น้ำหนักมาก พล.อ.ประยุทธ์ก็มีโอกาสสูงจะรอด แต่หาก “มีชัย” ตอบหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ในทางที่เป็นคุณกับพล.อ.ประยุทธ์ แต่ศาลไม่ให้น้ำหนักกับ “มีชัย” มากเท่าไหร่ แบบนี้พล.อ.ประยุทธ์ ก็เสี่ยงโคม่า เช่นกัน

ทั้งหลายทั้งปวง เรื่องนี้…ก็อดใจรอ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาดีที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือ กลุ่มที่อยู่ตรงข้ามพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล กำลังสร้างกระแสเพื่อกดดันพล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องคดี 8 ปีหนักขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นสร้างกระแสข่าว “ยุบสภาฯ” ซึ่งในอีกทางหนึ่ง มันก็คือการกดดัน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไปในตัว เพราะหากสุดท้าย เกิดศาลวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่พ้นจากการเป็นนายกฯ หลัง 23 ส.ค. ก็จะทำให้มีการไปสร้างกระแสทำนอง “ศาลรัฐธรรมนูญช่วยพล.อ.ประยุทธ์”

เรียกได้ว่า เป็นการเดินเกมทางการเมืองของ “ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์” ที่หวังกินสองต่อ โดยการเอา เรื่องคำร้องคดี 8 ปี มาสร้างกระแสกดดัน-สร้างภาพทางลบ ทั้งกับตัวพล.อ.ประยุทธ์และศาลรัฐธรรมนูญ…นั่นเอง

ปมคำร้องคดี 8 ปีพล.อ.ประยุทธ์ จึงเริ่มเห็นร่องรอย ความเขม็งเกลียวทางการเมือง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะหนักขึ้น จนถึงจุดพีก เมื่อถึงช่วงใกล้วันศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำตัดสินคดีนี้                         

…………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย… “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img