วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSแอปพลิเคชัน-ดิจิทัลบาท สายพันธุ์ไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แอปพลิเคชัน-ดิจิทัลบาท สายพันธุ์ไทย

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส การทำงานที่บ้าน หรือ Work from home ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุม 

ในภาคเอกชนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาสำหรับใช้มาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะการประชุมออนไลน์ หรือ e-Meeting ของผู้บริหาร หรือของพนักงาน  

แต่ภาครัฐมีปัญหาแน่ ล่าสุดถึงขั้น คุณอรรชกา สีบุญเรือง ประธานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ออกมาแนะนำให้การประชุมออนไลน์มีความปลอดภัย และลดความเสี่ยงของภัยคุกคามทุกชนิด ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 

โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกประกาศ เรื่องมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออกตามพ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กำหนดมาตรฐานสำหรับการประชุมออนไลน์ อย่างน้อยต้องมี 7 กระบวนการ 

ทั้งก่อนร่วมประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมต้องแสดงตัวตน ตามวิธีที่ผู้จัดประชุมกำหนด เช่น แสดงตนด้วย Username, Password หรือ อาจให้ผู้ร่วมประชุมรายอื่น รับรองการแสดงตัวตนแทนได้ 

การประชุมต้องสื่อสารกันได้ด้วยเสียง หรือทั้งเสียงและภาพ โดยมีช่องสัญญาณเพียงพอ มีช่องทางสำรองหากเกิดเหตุขัดข้อง และรองรับการจัดการสิทธิผู้ร่วมประชุมได้ 

ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเข้าถึงเอกสารประกอบการประชุมได้ ทั้งแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้จัดประชุมแจ้งวิธีการเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบ 

รองรับการออกเสียงลงคะแนน โดยหากเป็นการลงคะแนนทั่วไป เปิดเผยได้ ต้องสามารถระบุตัวตนและเจตนาของผู้ออกเสียงลงคะแนนได้ แต่หากเป็นการออกเสียงลงคะแนนลับ ให้ทราบเฉพาะจำนวนของผู้ลงคะแนนและผลรวมของคะแนน โดยไม่ระบุตัวตนของผู้ลงคะแนน 

มีการจัดเก็บข้อมูลหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เช่น วิธีการแสดงตน จำนวนหรือรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม วิธีการลงคะแนนและผลรวมคะแนน เหตุขัดข้องที่เกิดขึ้น ไฟล์บันทึกเสียง หรือทั้งเสียงและภาพการประชุม เว้นแต่ประชุมลับ ต้องไม่บันทึกเสียง หรือเสียงและภาพระหว่างการประชุมลับ 

มีการจัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์หรือประวัติการใช้ระบบe-Meeting อย่างน้อยต้องระบุตัวตนผู้ใช้งาน วัน เวลาของการประชุม โดยอิงเวลามาตรฐาน 

มีช่องทางรองรับการแจ้งเหตุขัดข้องระหว่างการประชุม เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาระหว่างการประชุมให้กับผู้เข้าร่วมประชุม 

แถมมีข้อเสนอแนะให้เลือกใช้ระบบควบคุมการประชุมที่เหมาะสม โดยทาง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ประกาศมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศและระบบควบคุมการประชุม สามารถเลือกใช้ระบบควบคุมได้ตามใจปรารถนาตามที่ ETDA รับรองเอาไว้แล้ว 

“ราษฎรเต็มขั้น” ขอเสนอทางออกเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ควรเป็นองค์กรที่ทำเป็นตัวอย่าง ในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกสอง โดยเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรผ่านออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้สังคมหรือองค์กรของรัฐเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน 

ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรสั่งงดการประชุม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างน้อย คุณณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล ก็จุดพลุไอเดียเสนอให้ประชุมสภาผู้แทนราษฎรผ่านออนไลน์ เพื่อรองรับวิกฤติในโอกาสต่อไป ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไรก็ยังดำเนินการประชุมได้ แต่ถูกตีตกไป 

ถึงเวลาที่องค์กรเหล่านี้ ต้องทดลองการประชุมผ่านออนไลน์ เพราะในอนาคตมีโอกาสเกิดโควิด-19 ระลอกสาม ระลอกสี่ตามมา กลไกนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร จะได้ไม่สะดุด  

และหมดเวลาที่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลของรัฐทุกหน่วย ควรสร้างแอปพลิเคชันสำหรับการสื่อสารภายในหน่วยงานของรัฐ รวมถึงคณะรัฐมนตรี รัฐสภา เลิกใช้แอปพลิเคชันสายพันธุ์ต่างชาติอยู่ร่ำไป เพราะข้อมูลชั้นความลับรั่วไหลไปสู่มือต่างชาติโดยไม่รู้ตัว 

ถึงเวลาประเทศที่เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีแอปพลิเคชันสายพันธุ์ไทยและดิจิทัลบาท

……………………………

คอลัมน์ : ไขกุญแจ ไขแหลก

โดย “ราษฎรเต็มขั้น”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img