เก้าเดือนนับตั้งแต่คลอด คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกรรมการอีก 25 ท่าน ซึ่งกวาดสายตาไล่ดูรายชื่อพบว่า มีทุกหน่วยงานหลักทั้งภาครัฐและเอกชนมาพร้อมสรรพ ล้อมวงขับเคลื่อนประเทศ
เป้าหมายหลัก ต้องการให้บริการจัดการขับเคลื่อน 5G ทั้งระบบเกิดประสิทธิภาพ ทุกองคาพยพเป็นเอกภาพ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานเป็นทีมเวิร์ค แข่งขันให้ทัดเทียมกับนานาชาติ เดินตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 20 ปี
นโยบายและแผนระดับชาติฯดังกล่าว ต้องการปฏิรูปประเทศไทยสู่ “ดิจิทัลไทยแลนด์” ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เต็มศักยภาพ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุน มนุษย์
และหนึ่งในเป้าหมายแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือ “ปฏิรูปกระบวนทัศน์การทำงาน การให้บริการของภาครัฐ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล”
ระบบ 5G นับเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายติดต่อสื่อสารเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่งเข้าหากัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต คาดหวังลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ตามแผนโครงข่าย 5G รุกคืบเข้าถึงร้อยละ 98 ของประชากร ทุกพื้นที่ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อีอีซี และประชากรทั้งหมดในจังหวัดที่ได้รับการประกาศให้เป็นสมาร์ทซิตี้

อย่างน้อยทำให้เกิด สมาร์ทซิตี้ หรือ เมืองอัจฉริยะ
ในขั้นต้นระยะสั้น มีโมเดลนำร่องต่อยอดการใช้ประโยชน์ 5G อาทิ โครงการเกษตรดิจิทัล ที่ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี อ.ดอยตุง จ.เชียงราย โครงการเกษตรดิจิทัลร้อยใจรักษ์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
โครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะแห่งแรกในประเทศไทย เกิดที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อพัฒนาบริการสาธารณสุขรูปแบบใหม่ ทั้งกระบวนการพยากรณ์ความเสี่ยง การป้องกัน การรักษา การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
ในภาคอุตสาหกรรมก็คลอดมาตรการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ในการวางระบบโครงข่ายไฟเบอร์เพื่อบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เหมือนสาธารณูปโภคระบบน้ำประปา-ไฟฟ้า
ขณะเดียวกันนับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เมื่อที่ประชุมรัฐสภาโหวตรับหลักการ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม

เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ “ราษฎรเต็มขั้น” ขอขายไอเดียให้ทำวิจัย “นวัตกรรมการให้บริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” ภายใต้ “โครงการพื้นฐานสาธารณูปโภคดิจิทัล”
และนำมาใช้ภายใน ปี 2564 ทันที อย่างน้อยขอแค่ “ข้อมูลทุกหน่วยงานรัฐเชื่อมโยงใยถึงกันทั้งหมด ประชาชนติดต่อหน่วยราชการใดพกบัตรประชาชนใบเดียว…จบเห่”
หรือเริ่มโมเดลพัฒนาประชาธิปไตยดิจิทัล กำหนดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ กกต.ขนเครื่องลงคะแนนอิเลคทรอนิกส์เปิด ปิดหีบเลือกตั้งตูม ผลคะแนนปรากฏต่อสาธารณะในพริบตา
ขั้นต่อไปถึงปฏิรูปกระบวนทัศน์การทำงาน การให้บริการของภาครัฐ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
การใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
ทำได้แค่นี้ก็ปฏิรูประบบราชการสำเร็จในเบื้องต้น
เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยสู่ “ดิจิทัลไทยแลนด์”
………………………..
คอลัมน์ : ไขกุญแจ-ไขแหลก
โดย “ราษฎรเต็มขั้น”