วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS''ดิจิทัล''เปลี่ยนประเทศไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

”ดิจิทัล”เปลี่ยนประเทศไทย

”รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน” เป็นวิสัยทัศน์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน การให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล สอดคล้อง เชื่อมโยงกับนโยบาย แผนระดับชาติ โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 

โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไฟเขียวแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยปี2563-2565 ตามการเสนอของคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ที่มีสพร.หรือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(องค์การมหาชน) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการสพร. 

เน้นให้ความสำคัญด้านการศึกษา สุขภาพ การแพทย์ การเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการให้ประชาชน โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมเอสเอ็มอี

เน้นยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประชาชนเข้าถึงได้ และพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐในการให้บริการแก่ประชาชน

อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ จัดให้มีระบบดิจิทัลอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ รื้อ ทบทวน ปรับปรุง พัฒนา กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการให้เอื้อต่อผู้ประกอบการทำธุรกิจ

ผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในทุกกระบวนการทำงานของภาครัฐ อาทิ จัดให้มีระบบดิจิทัลสนับสนุนการเปิดเผย แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐอย่างบูรณาการ พัฒนากลไกการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้โปร่งใส ป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน

พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล อาทิ จัดให้มีระบบดิจิทัล เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาประเทศ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐในรูปแบบดิจิทัล

ยังดีที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอให้สพร.เริ่มกระบวนการยกร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯฉบับต่อไป ให้สอดคล้องกับปีงบประมาณและกรอบเวลาไม่เกิน5ปี เพื่อให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติราบรื่น

ขณะเดียวกันครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ จ่อเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา ให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

เครื่องมือนี้เป็นตัวส่งเสริมให้การทำงาน การให้บริการของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลเต็มตัวบังคับใช้ทุกหน่วยงานของรัฐ

แม้หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ-ตุลาการ-องค์กรอิสระ-อัยการ ต้องรอให้ออกพระราชกฤษฎีการองรับอีกกระทอกหนึ่ง เพื่อความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

กฎหมายมีผลบังคับเมื่อไหร่ ประเทศไทยก็เริ่ม”การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์”

”ราษฎรเต็มขั้น”อย่างเราๆท่านสามารถยื่นคำขอ จ่ายเงิน ติดต่อราชการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐหมดสิทธิ์ปฏิเสธไม่รับคำขอนั้น

ต่อไปคงได้เห็นการติดต่อ ”ระหว่างหน่วยงานของรัฐ” ”ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ” ”เจ้าหน้าที่ของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ปฏิบัติการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงใช้เป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินแผ่นดินด้วย

แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย และกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่นำพาบ้านเมืองไปสู่ยุค”ดิจิทัลไทยแลนด์”

นับว่าเป็นการลงทุนในดิจิทัลแทนกำลำลังคน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดโกง โปร่งใสทุกโครงการ

ความเหลื่อมล้ำลด บนมาตรฐานประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐดุจญาติมิตร

วันนี้”รัฐบาลลุงตู่”จำเป็นอย่างยิ่งยวด ต้องเร่งคลอดแพลตฟอร์มโครงสร้างสาธารณูปโภคดิจิทัลขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นหัวใจของการเชื่อมต่อกับประชาชนในทุกมิติทางดิจิทัล

หากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสร้างแพลตฟอร์มนี้ยังไม่เสถียร หรือยังไม่ครอบคลุมเชื่อมต่อได้ทุกระบบดิจิทัล ถึงเวลาที่”รัฐบาลลุงตู่”ต้องกล้าตัดสินใจเปิดกว้างให้ภาคเอกชน ภาคประชาชน ส่งประกวดแพลตฟอร์มนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยแบบก้าวกระโดด

อาจเปิดประตูให้คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธาน รับไปดำเนินการเพื่อความรวดเร็ว เชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ได้เร็วทันใจ

ถึงห้วงเวลานั้นสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือก.พ.ต้องเตรียมแผนลดกำลังคนภาครัฐลง 50 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด 2.3 ล้าน

เท่ากับลดงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐลงโดยปริยาย ภายใต้ประสิทธิภาพการทำงานตอบโจทย์อนาคตประเทศไทย

คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก

โดย : ”ราษฎรเต็มขั้น”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img