“สุนัขตกใจวิ่งขึ้นมาบนทางด่วนฟรีเป็นประจำทุกปี” พนักงานสาวการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก โลกโซเชียลพาเหรดพฤติกรรมดังกล่าวอย่างดุเดือด จน “ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ต้องออกมาขอโทษประชาชนฉลองวันแรกของปีใหม่ 2567
ข้อเท็จจริงกับเจตนาที่โพสต์เป็นอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยเปรียบเปรยให้เห็นการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟลากยาวตั้งแต่หัวค่ำยันดึก สุนัขเตลิดเปิดเปิงวิ่งขึ้นทางด่วน เป็นชนวนเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนได้ ทั้งสุนัข และผู้ขับรถยนต์ แต่พนักงานสาวคนดังกล่าวถูกลงโทษภาคทัณฑ์เรียบร้อย
ประเดิมศักราชใหม่ จึงขอหยิบยกเทศกาลปีใหม่ เทศกาลลอยกระทง ที่หมุนเวียนมาบรรจบ
ครบรอบทีไร คนส่วนใหญ่สนุกสนาน รื่นเริงบรรเทิงใจถ้วนหน้า แต่ระยะหลังเริ่มนำพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เพิ่มแสง สี เสียงให้งานแต่ละท้องที่ เป็นสีสันของวัฒนธรรมแห่งการเฉลิมฉลองไปแล้ว
ระดับสถานประกอบการ สถานบันเทิง ผู้จัดงานส่วนใหญ่ จุดอยู่ในห่วงเวลาที่กำหนด โดยขออนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำและปรับ และยังมีโทษจำคุก ปรับ สถานเบาที่ต้องการปรามไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดได้สะดวกจนเกินไป
ประเด็นคือ “ร้านค้า” ที่นำมาขายได้รับอนุญาตหรือไม่ เหมือนปล่อยเสรีเปิดช่องให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ปัญหานี้เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โดยบุคคลทั่วไป รวมถึงเด็กเข้าถึงวัตถุอันตรายได้สะดวกโยธิน นำมาเล่นสร้างความสนุกสนานในช่วงเทศกาล
เล่นไม่เป็นเวลา จุดไม่เลือกสถานที่ นึกสนุกตอนไหนก็เล่น ตั้งแต่เย็นจนดึก ไม่สนใจชาวบ้านชาวช่อง โดยเฉพาะบ้านที่เลี้ยงนก สุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ปั่นป่วน วุ่นวาย เพราะบรรดาสัตว์เลี้ยงหัวใจแทบหยุดเต้น เสี่ยงตาย หรือตกใจเสียงพลุหนีหัวซุกหัวซุนเตลิดหายออกจากบ้าน และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ความจริง ป.อาญา มาตรา 370 บัญญัติปรามผู้ที่ส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร จนทำให้ชาวบ้านตกใจหรือเดือดร้อน เจอโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท และยังมีความผิดในลักษณะใกล้เคียงกัน โทษหนักจำคุก โทษปรับดีกรีเพิ่มขึ้นตามลำดับของความรุนแรง แต่ยังไม่มีคดีตัวอย่างเป็นอุทาหรณ์เตือนมือเล่นดอกไม้เพลิงให้เข็ดหลาบ
และคนเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟจำนวนมากสนุก คะนอง ค่อนข้างประมาท ผู้คุมกฎก็ไม่ค่อยทำงานหรือทำงานไม่ถูกทิศทาง
แม้กฎหมายไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหาสำเร็จรูป ทางออกที่ดีควรรณรงค์ให้ผู้เล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟจุดเป็นเวลา อาทิ เทศกาลปีใหม่ เต็มที่ไม่ควรเกิน 30 นาที และเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรมีวิธีรับมือด้วยความละมุนละม่อม เช่น นำเข้าไปไว้ในบ้าน ตรวจสอบรั้วบ้านให้มิดชิด ไม่มองคนเล่นพลุเป็นคู่อริ เป็นต้น
สถานการณ์เริ่มสุกงอม องค์กรที่เกี่ยวข้องควรร่วมรณรงค์ให้ผู้เล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ คนเลี้ยงสัตว์ กลไกรัฐ ร่วมมือกันแก้ปัญหา เพราะในอนาคตอาจเกิดเหตุทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคน 2 กลุ่มนี้ได้
อย่าลืมว่า นับตั้งแต่ช่วงเกิดโควิดแพร่ระบาด ผู้คนเริ่มหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะแมว สุนัข คนเลี้ยงเหมือนลูก เหมือนคนในครอบครัว ต้องเลี้ยงให้ดีที่สุด สัมผัสได้จากตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโตขึ้นทุกปี โดยในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท
เมื่อ “คนเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก” เหมือนคนในครอบครัว สัตว์ที่เลี้ยงเกิดช็อกเสียชีวิต หรือวิ่งเตลิดไปประสบอุบัติเหตุ โดยมีต้นเหตุจากเสียงพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ
จากงานเฉลิมฉลอง อาจกลายเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเจอโทษอาญาแผ่นดิน กลายเป็นคดีหมูหมากาไก่ กับเสียง อันไม่พึงประสงค์ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เสียเวลาทำมาหากิน และเสียฤกษ์งามยามดีๆ แบบนี้ชีวิตอับเฉาเซ่นเทศกาลเฉลิมฉลอง
………
คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก
โดย… #ราษฎรเต็มขั้น