วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“รัฐบาลถังแตก” รับมืออย่างไร
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“รัฐบาลถังแตก” รับมืออย่างไร

ยามวิกฤติโควิด-19 ระบาดเป็นระลอกคลื่น ยังไม่เห็นฝั่งฝันจุดจบสงบจะเดินทางมาถึงเมื่อไหร่ 

“อย่างน้อยใช้เวลา 5-7 ปี ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน โควิดถึงหายพร้อมเพียงกันได้” “ดร.ชุป” ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการอังค์ถัด และอดีตผู้อํานวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ระบุเอาไว้เมื่อต้นเดือนมี.ค.64 

รัฐบาลทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต่างงัดไม้เด็ดกู้เงินแจกประชาชน เพื่อสะกิดเศรษฐกิจให้อยู่รอด 

ขนาด “บิ๊กบอสแสนสิริ” เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยังเชียร์ให้ “รัฐบาลลุงตู่”กู้เงินอีก 2-3 ล้านล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เพื่อรับมือโควิด-19 ที่จะระบาดอีกหลายระลอก เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น 

ในยามดอกเบี้ยเงินกู้รวมต้นทุนการเงินไม่เกิน 3% นําไปใช้ให้ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา เพื่อปั่นเศรษฐกิจ รับรองรัฐบาลจัดเก็บภาษีกลับมาได้ 7% สามารถใช้หนี้คืนได้แน่นอน 

วันนี้การเมืองต้องมาทีหลัง ความอยู่รอดของประเทศต้องมาก่อน “บิ๊กบอสแสนสิริ” ถูกมองว่าอยู่ในก๊วน “นายกฯปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยเรืองอํานาจในตึกไทยคู่ฟ้าขายไอเดียเด็ด โดยขอให้ทุกฝ่ายยึดบ้านเมืองเป็นหลัก 

ปัญหาคือรัฐบาลเก็บรายได้เข้าคลังได้ต่ำกว่าเป้า ถึงขั้นหาช่องทางหาเงินเข้าคลัง อาทิ พิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นจัดเก็บเต็มพิกัด 10% แม้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดาหน้าออกมาปฏิเสธ 

cr /Fb สถานีข่าวกระทรวงการคลัง

โดยเฉพาะ “ขุนคลัง” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ย้ำหัวหมุดยังไม่ปรับเพิ่มภาษีใด ๆ รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งครบจัดเก็บภาษีสิ้นเดือนก.ย.นี้ ยังคงจัดเก็บอัตราเดิมออกไปอีก 1 ปี ถึงเดือนก.ย.65 

นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีขยับมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ก่อนเริ่มปีงบประมาณ65คงได้เห็นโฉมหน้าโครงสร้างภาษีทั้งระบบ 

“ราษฎรเต็มขั้น” ขอเชียร์ “ขุนคลัง” และ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากล้าๆ ออกแบบ “โครงสร้างภาษีใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศ” โดยมีหัวใจ“ลดความเหลื่อมล้ำ” เพื่อให้ชาวบ้านกินอิ่มนอนหลับ 

เท่าที่ “ราษฎรเต็มขั้น” ได้ติดตามนักปฏิรูปโครงสร้างภาษีออกแบบไว้ ต้องเริ่มตั้งแต่ “ภาษีบุคคลธรรมดา-ภาษีนิติบุคคล-ภาษีมูลค่าเพิ่ม-ภาษีมรดก-ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง-การลดหย่อนภาษี-การป้องกันหลบเลี่ยงภาษี” และนํา “ธุรกิจสีเทา” ขึ้นมาอยู่บนดิน นำเงินนอกระบบให้อยู่ในระบบขนเงินเข้าคลัง 

เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่อั้นอยู่ 7% มากว่า 20 ปี ไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าปรับเพิ่ม เพราะกลัวถูกมองว่าผลักภาระให้ประชาชน และนำไปปลุกกระแสเล่นเป็นประเด็นการเมือง  

รัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ควรหยิบประเด็นนี้มาเล่นการเมืองแบบเดิม ๆ แม้ฝ่ายไหนจะรับบทแสดงเป็นฝ่ายค้านก็ตาม ควรเลิกวิพากษ์วิจารณ์โจมตี “รัฐบาลถังแตก” เพื่อตีกินทางการเมือง 

นับจากนี้ต่อมจิตสํานึกของนักการเมืองทุกคน ผู้เสียสละเข้ามาทํางานอาสารับใช้ประชาชน ต้องเล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์ หยุดสาดโคลนไปมาได้แล้ว 

โดยในยามภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติทั่วโลกเยี่ยงนี้ ถึงเวลาที่ “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน” ต้องจับมือกันอธิบายให้ “ราษฎรเต็มขั้น” ได้เข้าใจถึงความจําเป็นอย่างยิ่งยวดถึงการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำรายได้ไปช่วยชาวบ้าน 

การขยับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 1% นําเงินเข้าคลังประมาณ 6 หมื่นล้านบาท 

ยังไม่นับรวมภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับที่ถูกตีตราว่าถูกกลุ่มนายทุนใหญ่ล็อบบี้ เลี้ยงดูปูเสื่อผู้ทําหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในยุคนั้นหลายคน จนกติกาออกมาบิดเบี้ยว เลี้ยวลดคดเข้าทางกลุ่มนายทุนใหญ่ 

ไม่ตอบโจทย์เป็นเครื่องมือทางการคลังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ที่ยืนหยัดอยู่ควบคู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน นับวันยิ่งถี่ห่างมากขึ้นเรื่อยๆ 

หากกล้ารื้อโครงสร้างภาษี “ราษฎรเต็มขั้น” มั่นใจหน่วยจัดเก็บภาษีจะสามารถสร้างรายได้เข้าคลังอย่างเป็นกอบเป็นกํา 

ภายใต้กติกาใครเป็นรัฐบาลห้ามเกิด “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” หากินกับงบประมาณแผ่นดินอีกต่อไป 

……………………………………

คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก

โดย..ราษฎรเต็มขั้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img