ควันหลัง ปรับครม.เศรษฐา เวอร์ชันเด็ก “นายใหญ่-นายหญิง-นายเล็ก-นายเจ๊ๆๆ-นายนิด” ข้ามหัวคนในพรรคมายกแผง เป็นธรรมดาหลักการบริหารต้องเอาคนที่วางใจจับยัดใส่ตำแหน่งที่ใช้ แม้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา เดี๋ยวก็เข้าสู่โหมดปกติ
และเป็นจังหวะดีที่ “นายกฯนิด” เศรษฐา ทวีสิน เลิกถ่างขาควบรมว.คลัง เข็น “พิชัย ชุณหวชิร” เป็นขุนคลังแทน ควบรองนายกฯ นำทัพฟื้นเศรษฐกิจ เสริมคนรุ่นใหม่ “อ๊อฟ” เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง มาช่วยอีกแรง
แต่สภาพเศรษฐกิจที่ระดับ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ย้ำเสมอหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง แล้วดูโฉมหน้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลเอาอยู่หรือไม่ คงมีคำตอบในใจไปในทิศทางเดียวกัน
เอาแค่ นโยบายเรือธง “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่ก่อนหน้านั้น “รมต.เค็ม” พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.คลัง ใน “รัฐบาลชวน 2” เพิ่งออกโรงยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ตรวจสอบและเบรก เพราะสุ่มเสี่ยงสร้างความ เสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ กระทบภาระการคลังประเทศ
ซึ่ง “อดีตลูกหม้อแบงก์ชาติรายนี้” คือหนึ่งในทีมเศรษฐกิจที่เข้ามากอบกู้ประเทศ หลัง “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ทำให้ทีมเศรษฐกิจ นำโดย “โทนี่” รองนายกฯดูแลด้านเศรษฐกิจ พ้นจากตำแหน่งไปด้วย ทิ้งมรดกทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิเหลือเพียง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
แต่ “รัฐบาลชวน 2” พ้นวาระ มีทุนสำรองระหว่างประเทศสะสมเกินกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นจำนวนเกือบเท่า ช่วงที่รัฐบาลบิ๊กจิ๋วเข้ามามีทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ 33,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฉะนั้น น้ำหนักที่นักเศรษฐศาสตร์ที่โลดแล่นอยู่ถนนสายการคลังกว่า 50 ปีออกมาติติง ย่อมมีน้ำหนัก โดยชี้ให้เห็นเป็นจุด ไล่ตั้งแต่ตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 จำนวน 172,300 ล้านบาท จะมีผลกระทบต่อการทำงานของระบบงบประมาณที่ล่าช้ามากว่าครึ่งค่อนปี ทำให้เงินหมุมนเวียนของรายจ่ายลดลง
เปรียบเปรยเหมือน “คนไข้ต้องการเลือด แทนที่หมอไปนำเลือดจากภายในมาฉีดให้ กลับสูบเลือดจากคนไข้ฉีดกลับเข้าไปใหม่” ไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจใด
แล้วยังเปิดให้เห็นถึง “เบื้องหลังขยายวงเงินขาดดุล” 152,700 ล้านบาท จำใจต้องตั้งวงเงินขาดดุลเพิ่มเป็น 865,700 ล้านบาท ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 68 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท นับเป็นการขาดดุลงบประมาณที่สูงสุดในประวัติการณ์ โดยว่า “4 หน่วยงาน” ที่เกี่ยวข้องนำเสนองบประมาณ ใช้เวลารวบรัดเพียง 20 นาที นำเสนอครม.ให้ก่อหนี้เพิ่มเต็มจำนวนที่เพิ่ม
แน่นอนเมื่อดึง “เงินในระบบ” ออกไปจำนวนมหาศาล เพิ่มเข้ามานับแสนล้านบาท โป๊ะเข้างบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐบาลต้องออกพันธบัตร เพื่อระดมเงินจากระบบธนาคาร ทำให้วงเงินที่ธนาคารจะปล่อยกู้ให้ประชาชน และภาคธุรกิจลดลง ฟันธงสินเชื่อครัวเรือน-ธุรกิจฝืดเคืองมากขึ้นในอนาคต
และปม ยืมเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 175,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัญหาข้อกฎหมายทำได้หรือไม่ แต่ส่งผลให้ธ.ก.ส.ปิดประตูปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกรตามภาระหน้าที่ของธ.ก.ส.ได้ สร้างความย่อยยับแก่ระบบเศรษฐกิจของประทเศ
ยิ่งในกำมือมีเงินสดเพียง 20,000 ล้านบาท ขืนปล่อยให้รัฐบาลยืม 175,000 ล้านบาท ธ.ก.ส.ต้องระดมเงินสด โดยเรียกคืนเงินสินเชื่อเกษตรกร การลงทุนอื่นของธ.ก.ส.กลับมาเร่งด่วน สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรทุกหย่อมหญ้าที่ถูกเรียกเงินคืน
ทั้งหมดทั้งมวลเศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบเชิงลบมากกว่าประโยชน์ที่รัฐบาลอ้างทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว
เป็นอีกหนึ่งเสียงเตือนที่ “นายใหญ่” ควรเงี้ยหูฟัง ก่อนประเทศพังบนมือ “ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง”
……………………………..
คอลัมน์ : ไขกุญแจ-ไขแหลก
โดย #ราษฎรเต็มขั้น